ไลฟ์สไตล์

ไอทีรีวิว : Fuji X-t1 คม ขลัง เข้ม

ไอทีรีวิว : Fuji X-t1 คม ขลัง เข้ม

17 ส.ค. 2557

ไอทีรีวิว : Fuji X-t1 คม ขลัง เข้ม

 
                           กระแสการต่อสู้ในกลุ่มกล้องมิเรอร์เลสในตลาดโลกกำลังมาแรง ผู้ผลิตแต่ละค่ายก็พยายามพัฒนากล้องรุ่นใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น และรูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนเอง กระแสนี้รุนแรงเชี่ยวกรากจนทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ๆมากมาย แทบจะจำชื่อกล้องรุ่นใหม่ที่ออกมาในแต่ละเดือนไม่ทัน 
 
                           ท่ามกลางความเชี่ยวกรากของกล้องมิเรอร์เลสในตลาด ก็มีกล้องมิเรอร์เลสตัวหนึ่งที่มีความโดดเด่นในดีไซน์ เหนือกว่ากล้องมิเรอร์เลสตัวอื่นในตลาด อย่างกล้อง Fujifilm X-T1 ที่มาในรูปทรงคลาสสิก บอดี้เป็นโลหะแข็งแรง แถมพกประสิทธิภาพในระดับกล้องดีเอสแอลอาร์ รุ่นใหญ่กันเลยทีเดียว
 
                           Fujifilm X-T1 ถือเป็นกล้องเรือธงของกลุ่มกล้องมิเรอร์เลส จากฟูจิ บอดี้ทำมาจากโลหะแมกนีเซียมอัลลอยด์ ทำให้แข็งแรง สัมผัสที่ได้จากตัวกล้องรู้สึกแน่นหนา หนักแน่น มั่นคง ตัวกล้องสามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ ในชุดที่จำหน่ายและส่งมาให้ทดสอบเป็นเลนส์ Fujinon 18-55 mm. f2.8-4 ตัวกล้องทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีเวลา Lag Time เพียง 0.005 วินาที ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 8.0 เฟรมต่อวินาที เซ็นเซอร์คุณภาพสูง X-Trans CMOS II ขนาด 16 ล้านพิกเซล พร้อมชิพประมวลผลภาพ EXRProcessor II ที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว
 
                           บอดี้กล้องสไตล์ย้อนยุค มีกะโหลกขนาดใหญ่ตรงกลาง ซึ่งทำให้กล้องตัวนี้มีอารมณ์ของกล้องฟิล์มแบบดีเอสแอลอาร์ มากกว่ากล้องมิเรอร์เลส ในกะโหลกกล้องติดตั้งระบบช่องมองภาพ EVF ความละเอียดสูง 2.36 ล้านพิกเซล ที่มีอัตราขยายมากถึง 077 เท่า พร้อมแสดงฟังก์ชันต่างๆ เช่นเดียวกับจอภาพด้านหลัง ขนาด 3.0” อัตราส่วน 3 ต่อ 2 ความละเอียด 1.04 ล้านจุด ที่ปรับองศาได้เล็กน้อย 
 
                           ด้านข้างของกะโหลกกล้องเป็นปุ่มควบคุมการทำงาน ทั้งการตั้งค่า ISO 200-6400 (ขยายได้ถึง 100-51200) ความเร็วชัตเตอร์ ปุ่มกดชัตเตอร์และเปิด-ปิดการทำงาน และปุ่มชดเชย-ลดแสง ที่ปรับ เพิ่ม/ลดได้ +- 2 ระดับ ทั้งยังมีปุ่มเล็กๆ สีส้มไว้เพื่อใช้ในการถ่ายวิดีโอ ทั้งยังมีปุ่มปรับแบบคันโยกใต้ปุ่มขนาดใหญ่ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ไปเป็นโหมด Standard Advance อัตราส่วนภาพ แบบ 3 ต่อ 2 การถ่ายภาพแบบ Bracket และถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วต่ำและความเร็วสูง
 
                           ด้านหลังตัวกล้องยังมีปุ่มควบคุมการทำงาน 5 ทิศทาง ปุ่ม Q ที่รวมศูนย์การปรับค่าของตัวกล้อง ปุ่ม Focus Assist พร้อมปุ่ม AE-L และ AF-L ที่ใช้ล็อกค่าแสง และจุดโฟกัสได้อีกด้วย แค่พูดถึงตัวกล้องอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว เพราะมีปุ่มควบคุมการทำงานอยู่มากมาย ส่วนหนึ่งทำให้ Fujifilm X-T1 ใช้งานได้ยากพอสมควร นี่ยังไม่นับรวมฟังก์ชันการปรับตั้งค่าสี ไวท์บาลานซ์ และฟังก์ชันจำลองภาพแบบฟิล์ม ที่เป็นจุดเด่นของกล้องตัวนี้ ระบบจำลองภาพแบบฟิล์ม สามารถจำลองภาพถ่ายดิจิทัลให้เหมือนกับภาพที่ถ่ายจากฟิล์มรุ่นต่างๆ ของฟูจิ ทั้ง Vivitar ที่ให้สีจัดจ้าน และฟิล์มสไล์ดที่ให้ภาพมีมิติกว่าภาพจากกล้องดิจิทัลทั่วไป
 
                           เมื่อใช้งานจริงต้องขอบคุณการออกแบบกล้องที่ทำได้อย่างสมดุล ทำให้ถือกล้องได้อย่างมั่นคง การหมุนซูมเลนส์ทำได้มั่นคงและหนักแน่น แต่การปรับตั้งค่าระหว่างการถ่ายภาพ เช่น การปรับจุดโฟกัส หรือจะเปลี่ยนโหมดการถ่ายภาพโดยจำลองฟิล์มนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากปุ่มควบคุมจะอยู่ในตำแหน่งใกล้ตา (เมื่อมองภาพจากหน้าจอ EVF) และแม้จะใช้วิธีการถ่ายภาพจากหน้าจอด้านหลัง ปุ่มที่อยู่ลึกและต้องใช้แรงกดเน้นๆ ทำให้เสี่ยงต่อการได้ภาพหลุดโฟกัสได้อยู่บ่อยครั้ง
 
                           ไฟล์ภาพที่ได้มาค่อนข้างสดใสชัดเจน ถือว่าดีเทียบเท่ากับกล้องดีเอสแอลอาร์ระดับกลาง-สูงกันเลยทีเดียว การถ่ายโอนภาพสามารถทำได้ผ่านทางการ์ด แบบ SD และจะโอนผ่านแอพพลิเคชั่นของฟูจิที่ติดต่อกับกล้องผ่านระบบไว-ไฟ ได้ด้วยเช่นกัน ส่วนระบบกำจัดน็อยส์ หรือสัญญาณรบกวนในการใช้ ISO ระดับสูงทำได้ดีมากเช่นกัน
 
                           ในภาพรวมแล้วถือเป็นกล้องที่น่าสะสม และน่าใช้งานไม่น้อย เพียงเวลาสั้นๆ ที่ได้ใช้งานถ่ายภาพนั้นคงยังไม่พอที่จะรีดประสิทธิภาพของกล้อง Fujifilm X-T1 ได้หมด หากผู้ที่รักในแบรนด์นี้และต้องการกล้องมิเรอร์เลสคุณภาพสูงสักตัว Fujifilm X-T1 น่าจะเป็นทางเลือกที่โดดเด่นที่สุดตัวหนึ่งเช่นกัน