
ศิลป์แห่งแผ่นดิน : นครสวรรค์ 'แง๊ะ'
27 ก.ค. 2557
ศิลป์แห่งแผ่นดิน : นครสวรรค์ 'แง๊ะ' : โดย...ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
ผมเกิดชัยนาท แต่โตนครสวรรค์ ครอบครัวย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ อ.ไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ตั้งแต่ผมอายุ 1 ขวบ
สมัยนั้นอำเภอของผมยังเป็น ตำบลโคกเดื่อ ขึ้นกับอำเภอท่าตะโก ผมเติบโตในท้องถิ่นที่ทุรกันดารที่สุดของจังหวัด
บางปีแล้งจัดถึงกับต้องซื้อน้ำใช้
ไม่รู้ตัวหรอกครับว่าซึมซับอะไรไว้บ้าง ความเป็นเด็กชนบท บ้านดอน ชุมชนที่ผมอยู่อาศัยมีรากเหง้าวัฒนธรรมอย่างไร จนเป็นหนุ่มได้เข้าไปเรียนศิลปะที่กรุงเทพฯ ถูกเพื่อนล้อว่าเสียงเหน่อ และหัวเราะเยาะศัพท์แสงบางคำที่เป็นคำที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นบ้านผม เช่น คำว่า "แหงะ" หมายถึง "หัน" หรือ "เหลียวดู" "แจ่ม" หมายถึง "ชัด" เช่น โทรทัศน์ที่กรุงเทพฯ นี่แจ่มจัง อีกคำคือคำว่า "แงะ" ซึ่งกร่อนจากคำว่า "หรือไง" "หรือ "เป็น "หือ" "หือ" เป็น "ฮึ" "ฮึไง" กลายเป็น "แงะ"
คำนี้แหละ กำลังได้รับการปลุกฟื้นขึ้นมาใช้ โดยมีการรณรงค์กันทั่วจังหวัดระดับนโยบายเลยทีเดียว ใครมาเยือนนครสวรรค์บ้านผมจะเห็นป้าย "นครสวรรค์ แง๊ะ" ติดตั้งอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในตัวจังหวัดและอำเภอต่างๆ ผมละชอบจัง จะว่าไปก็เป็นคำที่คนนครสวรรค์ใช้พูดกันตามปกติ ถ้าไม่ยกขึ้นมาเป็นข้อสังเกตก็ไม่รู้ตัวหรอกว่าตัวเอง "แง๊ะ" ที่อำเภอไพศาลีบ้านวัยเยาว์ของผมนั้น "เหน่อ" ไม่น้อยหน้าใครเขา เหน่อสุพรรณฯ นั้นเป็นที่สุดของความเหน่อเพราะภาพยนตร์ยุคก่อนนำสำเนียงสุพรรณฯ มาลงเสียงพากย์ เช่นเสียง "เสี่ยล้อต๊อก" เป็นต้น
สำเนียงคนโคกเดื่อบ้านผมเหน่อแบบไหนผมคงไม่สามารถอธิบายเป็นหลักวิชาการได้เพราะไม่มีความรู้เลย รู้แต่คนบ้านผมนั้นมีคนเชื้อสายลาวอพยพย้ายถิ่นมาจากหลายพื้นที่ ใช้คำลาวปนคำไทย คำว่า "โบ้" คำว่า "ไฮ้" ซึ่งคนบ้านผมมักจะกล่าวก่อนเอื้อนเอ่ยประโยค เป็นคำที่ไม่มีความหมายอะไร ลงท้ายด้วยคำว่า "ดอก"
ที่ออกเสียง "ด๊อก" ไม่มีด๊อก ไม้ได้ด๊อก ก็คือไม่มีหรอก ไม้ได้หรอก นั่นเอง
ย้อนมาคำว่า "แงะ" ที่กำลังสะพรั่งทั่วเมืองนครสวรรค์ ตอนนี้ไปทางไกนก็เจอแต่ป้าย "แง๊ะ" นครสวรรค์แง๊ะ
โรงเรียนก็แงะ มหาวิทยาลัยก็แง๊ะ ห้างสรรพสินค้าก็แง๊ะ เทศบาลก็แง๊ะ ร้านอาหารก็แง๊ะ โรงแรมก็แงะ ใครๆ ก็แง๊ะ
ผมเห็นแต่ "แง๊ะ" ก็ไม่รู้ว่าใครจะเอาวรรณยุคตรีออกไปจากแงะได้
ผมไม่ได้อยากทำตัวเป็นตำรวจตรวจภาษาด๊อก เพียงแต่ "แหงะ" ไปทางไหนก็เห็นแต่ "แง๊ะ" ที่ใช้วรรณยุกตรี ซึ่งมันผิดหลักครับ เพราะ ง.งู เป็นอักษรต่ำผันได้สองรูป สามเสียง งา ง่า ง้า งู งู่ งู้ โง โง่ โง้ นี่ความรู้ระดับชั้นอนุบาลนะครับ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่นะครับ เพราะประเทศชาติของเรามีปัญหาใหญ่กว่า เรื่องใช้วรรณยุคผิดนี่เรื่องขี้ปะติ๋วครับ ระดับนักเขียนอย่างผมยังเขียนผิดบ่อยๆ ได้ ถึงต้องมีฝ่ายพิสูจน์อักษรไงครับ
คำว่า "แง๊ะ" นี่น่าเห็นใจนะครับ เพราะถ้าเขียนให้ถูกว่า "แงะ" ก็จะมีความหมายไปทาง งัดแงะ ห่างไกล "รึไง" ไปจนจินตนาการไม่ถึงเลย จะเขียนว่า รึไง ก็ไม่ใช่ ฮึไง ก็ไม่ใช่ ฮึแงะ ก็ไม่ได้ เพราะเสียงที่เปล่งออกมามันใช้วรรณยุกอะไรก็ไม่ตรง แงะก็ไม่ใช่ "แง๊ะ" ก็ไม่ใช่ เพราะมันเสียงตรีเหมือนกัน
แต่ที่แน่ๆ "แง๊ะ" นี่ผิด แต่ใครล่ะจะเอาไม้ตรีออกไปจาก "แง๊ะ" ที่มีอยู่บนป้ายทั่วจังหวัดนครสวรรค์
ผมบอกแล้วว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่เป็นปัญหา เพราะประเทศชาติเรามีปัญหาที่ใหญ่กว่า จะมาคิดเล็กคิดน้อยอะไรกับคำว่า "แง๊ะ" ที่ถูกปลุกฟื้นขึ้นมาด้วยเจตนาดีมีจินตนาการประมาณฟื้นฟูอัตลักษณ์ ยังมีคำว่า ซีฟู๊ด โน๊ต สนุ๊กเกอร์ ฯลฯ อีกเล่า ขืนไม่มองเป็นเรื่องเล็กก็จะยุ่งกันไปใหญ่
ผมเคยแซวจังหวัดอุทัยธานี "มาเมืองอุทัยฯ ไม่ต้องอุทร ค่ำแล้วก็นอนที่เมืองอุทัยฯ" คำว่า "อุทร" นั้นแปลว่า "ท้อง" คำที่ถูกที่ต้องการจะใช้คือ "อุทธรณ์" หรือจะ "อาทร" ก็เลือกเอา
นครสวรรค์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ประตูสู่ภาคเหนือ เมืองสี่แคว แห่มังดร พักป่อนบึงบอระเพ็ด
"นครสวรรค์ แง๊ะ"