
ราชบัณฑิตห่วง'สังคมคำหยาบ'เกลื่อน
ราชบัณฑิตห่วง'สังคมคำหยาบ'เกลื่อนเฟซบุ๊กชี้รายการทีวี-ละครยังพูดคำสบถ เตรียมดึงพระว.-แอ๊ดร่วมรณรงค์การใช้ภาษาไทย
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยว่า ราชบัณฑิตยสถานมีความเป็นห่วงการใช้ภาษาในสื่อโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเฟซบุ๊กพบว่า ใช้คำหยาบ และใช้ภาษาที่รุนแรงกันมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าการสื่อสารในเฟซบุ๊กผู้ที่โพสต์ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ จึงไม่ระมัดระวังการใช้คำหยาบ การแสดงความคิดเห็น หรือ คอมเม้นท์ ที่รุนแรง บางครั้งเมื่อเข้าไปอ่านรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องต่อว่ากันด้วยถ้อยคำรุนแรงขนาดนั้น โดยเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์การเมืองเกิดขึ้น การใช้ภาษาดูมีความก้าวร้าว
เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวต่อว่า ไม่เฉพาะการใช้คำหยาบในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แม้แต่ในรายการโทรทัศน์ หรือละคร ก็ใช้คำหยาบเพิ่มขึ้น ตัวละครพูดคำสบถ หรือบางครั้งพิธีกรในรายการเผลอนำคำสบถที่พูดหยอกล้อในหมู่เพื่อนฝูงมาพูดในรายการ เพราะฉะนั้นราชบัณฑิตยสถานจึงเป็นห่วงว่า หากใช้คำหยาบกันบ่อยๆ ก็จะเห็นคำเหล่านี้เป็นคำธรรมดา และนำมาพูดกันในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความเคยชิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ปัจจุบันมักใช้คำหยาบกันอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ปกติราชบัณฑิตยสถานจะจัดงานโดยมีหัวข้อที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับในปี 2557 ราชบัณฑิตยสถานจะเปลี่ยนรูปแบบ โดยรณรงค์ให้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน นักแสดง ศิลปิน รายการโทรทัศน์ และรายการวิทยุ ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพื่อสื่อสารมวลชนต่างๆ เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องแก่สังคม และให้สื่อช่วยสื่อสารความเป็นไทย ซึ่งปีนี้ชูแนวคิดหลัก “ภาษาไทย ภาษาสื่อ” พร้อมทั้งผลิตรายการโทรทัศน์ครั้งแรกในชุด “สื่อ สาน ไทย” จำนวน 24 ตอน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.57-12.00 น. รายการดังกล่าวจะมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทยในสื่อด้านต่างๆ เพื่อสืบสานความเป็นไทย
"รูปแบบรายการจะนำเสนอการสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งด้านสื่อสารมวลชน นักร้อง นักแสดง รวมถึงนักวิชาการ อาทิ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี), นายยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว), น.ส.สายสวรรค์ ขยันยิ่ง, นายประยอม ซองทอง, นายอธิชาติ ชุมนานนท์, นายบำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) เป็นต้น ถึงความสำคัญของภาษาไทยและการนำภาษาไทยไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือการทำงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดความนิยมใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม" น.ส.กนกวลี กล่าว
นอกจากนี้ราชบัณฑิตยสถานมีความเป็นห่วงในเรื่องการใช้ภาษาของสื่อสารมวลชนเรื่องการนำภาษาพูด ภาษาปาก ภาษาที่ไม่เป็นทางการเข้ามาปะปนในภาษาเขียน ซึ่งเข้าใจว่าสื่อสารมวลชนจำเป็นต้องใช้ภาษาที่น่าสนใจ ใช้ภาษาที่กระชับ แต่ควรใช้ให้ถูกกาลเทศะ ถ้าเป็นลักษณะการสื่อสารไปยังบางกลุ่มบางโอกาสอาจจะใช้ได้ แต่บางโอกาสอาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำภาษาปากและภาษาเขียนมาปะปนกัน