
อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองกาลาปากอส
06 ก.ค. 2557
ถิ่นไทยงาม : อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองกาลาปากอส
หมู่เกาะกาลาปากอส ถือเป็นจุดหมายในฝันของนักอนุรักษ์จากทั่วทุกมุมโลก ด้วยความที่เป็นหมู่เกาะที่ยังคงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติไว้ได้อย่างสูงสุด เรียกได้ว่าแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง เสมือนได้กลับไปเยือนโลกเมื่อหลายร้อยปีก่อน
หมู่เกาะแห่งความอุดมสมบูรณ์ไร้กาลเวลาแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศเอกวาดอร์ ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1,000 กิโลเมตร มีเกาะใหญ่ 6 เกาะ และเกาะบริวารอีกราว 40 เกาะ
หนึ่งในความงดงามทางธรรมชาติของ กาลาปากอส คือ ความงามจากทัศนียภาพอันหลากหลายของภูมิประเทศ ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งทะเลรายรอบ และพื้นที่บนบกที่มีทั้งเขตแห้งแล้ง ป่าเขียวๆ หน้าผา ทิวเขา ปล่องภูเขาไฟ เหว หาดทรายดำที่เกิดจากลาวา เนื่องจากหมู่เกาะเหล่านี้เกิดจากการสะสมตัวของลาวาภูเขาไฟ จึงมีลานลาวาขนาดใหญ่ที่มีอายุกว่า 100 ปี
กาลาปากอสได้รับความสนใจอย่างมาก หลังจากมีการสำรวจสัตว์นานาชนิดที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ อันเป็นต้นกำเนิดของทฤษฎีวิวัฒนาการและการคัดเลือกตามธรรมชาติของ ชาร์ล ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ โดยบนเกาะนี้มีสัตว์ทั้งสิ้นกว่า 9,000 สายพันธุ์ กว่า 75% ของสัตว์บนเกาะเป็นสัตว์ที่พบได้ที่นี่ที่เดียวในโลก อาทิ เต่ากระดองยักษ์กาลาปากอส ที่หากโตเต็มที่จะมีน้ำหนักมากว่า 200 กิโลกรัมเลยทีเดียว หรือ กิ้งก่าอิกัวน่า ซึ่งมีทั้งสายพันธุ์บกอย่าง Yellow Land Iguanas ผู้เคี้ยวตะบองเพชรเป็นอาหารว่าง มีให้เห็นแทบทุกเกาะ กิ้งก่าทะเลหรือกอตซิล่าดำน้ำ ที่สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 18-25 ฟุต รวมจำนวนอิกัวน่าบนเกาะซึ่งมีจำนวนมากว่า 3 แสนตัว
นอกจากนี้ หมู่กาลาปากอสยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะบรรดาฝูงปลาฉลามหลากหลายชนิด อาทิ ฉลามหัวค้อน ฉลามกาลาปากอส ฉลามซิลกี้ ซึ่งสามารถดำน้ำร่วมกับฝูงสิงโตทะเลเจ้าถิ่น
อีกหนึ่งจุดเด่นของเกาะนี้ คือพืชพันธุ์ที่มีความหลากหลาย โดยพบพืชประจำถิ่นกว่า 560 ชนิด ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นพืชที่พบได้เฉพาะในหมู่เกาะแห่งนี้เท่านั้น เนื่องจากบนเกาะขาดแมลงและสัตว์ต่างๆ ที่ช่วยในการผสมเกสร แต่จะอาศัยเต่ายักษ์และอีกัวนาในการขยายพันธุ์โดยผลิตผลซึ่งเป็นอาหารของสัตว์เหล่านี้
สิ่งที่ยังทำให้กาลาปากอสยังคงคุณค่าของธรรมชาติได้จนถึงทุกวันนี้ คือการกำหนดกฎเพื่อสร้างวินัยในการไปเยือน เพื่อไม่ให้ธรรมชาติถูกรบกวนมากเกินไป รวมถึงการคุ้มครองอิกัวน่าที่เข้มงวด เพราะหากมีใครทำร้ายสัตว์เหล่านี้ จะมีความผิดทั้งจำทั้งปรับกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ องค์การยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนทะเบียนให้หมู่เกาะกาลาปากอส เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2521 เพราะมีพืชพันธุ์และสัตว์ที่หายากใกล้สูญพันธุ์มากมาย ทั้งบนเกาะและบริเวณทะเลโดยรอบ
มองกาลาปากอส แล้วย้อนมองบ้านเรา ประเทศไทยของเรา มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญติดอันดับโลกหลายแห่ง และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศแต่ละปีมูลค่ามหาศาล แต่หากการท่องเที่ยวไม่ได้รับการอนุรักษ์ก็จะเสื่อมโทรมลง บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด จึงเปิดแคมเปญ “สิงห์ ดิสคัฟเวอร์ส 500 กาลาปากอส” “แค่คุณเปิด...โลกก็เปลี่ยน” โดยจะคัดเลือกตัวแทนคนรุ่นใหม่ร่วมเดินทางบุกหมู่เกาะ “กาลาปากอส” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติมาบอกต่อในรูปแบบหนังสั้น 5 เรื่อง ที่จะนำมาเผยแพร่เพื่อสร้างกระแสอนุรักษ์และกระตุ้นให้ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลธรรมชาติในบ้านเราอย่างจริงจังและยั่งยืนต่อไป
สิงห์ ยังเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่หัวใจอนุรักษ์ ทั้งชายและหญิง เพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรม ถึงวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ โดยสมัครมาเป็นคู่ พร้อมอัพโหลดคลิปวิดีโอของตัวเองภายใต้แนวคิด “แค่คุณเปิด...โลกก็เปลี่ยน” ผ่านทางเว็บไซต์ www.SinghaDiscovers.com หรือ facebook.com/singhadiscovers