Lifestyle

ศึกษาพระราชประเพณีผ่านประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศิลปวัฒนธรรม : ศึกษาพระราชประเพณีผ่านประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกาย

 
                    เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ตลอดจนเครื่องแต่งกายในพระราชพิธี พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการเรื่อง “ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมการสาธิตการแต่งกายในพิธีโกนจุกประกอบการบรรยาย เมื่อเร็วๆ นี้ ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ พระบรมมหาราชวัง
 
                    พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ประธานพระครูพราหมณ์และหัวหน้าพราหมณ์ สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง กล่าวถึงคติความเชื่อและประเพณีเกี่ยวกับเด็กเกิดใหม่ของไทยว่า มีมากมายหลากหลายธรรมเนียม ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค ความเชื่อ ศาสนา ตลอดจนสภาพสังคมนั้นๆ ตามประเพณีราชสำนัก เมื่อพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ หรือบุตรธิดาของขุนนางผู้ใหญ่เรื่อยมาจนถึงบุตรธิดาของคนสามัญธรรมดาทั่วไปสมัยก่อนมักนิยมไว้ผมจุกเป็นส่วนมาก คติเกี่ยวกับการไว้จุกนั้นเริ่มหลังจากที่มีพิธีโกนผมไฟ โดยจะเว้นผมไว้ตรงส่วนกระหม่อม เพราะถือเป็นส่วนที่บอบบางที่สุดบนศีรษะ แต่ก็มีการพัฒนาเกี่ยวกับการไว้ผมในหลายยุคหลายสมัย เท่าที่พอจะทราบและเชื่อกันว่าประเทศไทยนั้นน่าจะได้รับคติการไว้ผมจุกนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับคติการบูชาเทพเจ้า เนื่องด้วยเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั้นมีผมยาวและขมวดมุ่นเป็นมวยไว้กลางศีรษะ อาจมีการนำคติดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นทรงผมเด็ก  ด้วยมีความเชื่อว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้า
 
                    "สมัยโบราณจะนิยมให้บุตรธิดาไว้ผมจุกจนโตอายุประมาณ 11-12 ปี ก็จะทำพิธีโกนจุก เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงออกกับทั้งตัวเด็กและคนรอบข้างว่า บัดนี้หาใช่เด็กเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว หากแต่กำลังก้าวข้ามสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ พิธีโกนจุกนี้หากเป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปจะเรียกว่า “พระราชพิธีโสกันต์” ส่วนพระอนุวงศ์ระดับหม่อมเจ้า เรียกว่า "พิธีเกศากันต์" โดยโหรหลวงจะดูฤกษ์ยามเพื่อกำหนดวันเวลาที่จะเริ่มพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งจะมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์พร้อมกัน ส่วนใหญ่มักจะประกอบ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมักจะประกอบพิธีนี้ ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย พระราชพิธีเดือน 4) ซึ่งต่อมาจะประกอบร่วมกับพระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า)" พระมหาราชครูพิธีศรีวิทุทธิคุณอธิธาย
 
                    จากนั้นเป็นการสาธิตการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์ ที่จำลองมาจากพระราชประเพณีโบราณประกอบการบรรยาย โดย อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ประธานกลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ ร่วมบอกเล่าถึงการสืบสานประเพณีโกนจุกที่ครอบครัวยังคงอนุรักษ์ไว้จนปัจจุบัน สำหรับเครื่องแต่งกายที่ใช้ในพระราชพิธีโสกันต์ ในส่วนของ “ภูษาพัสตราภรณ์” ประกอบด้วย ฉลองพระองค์พระกรน้อย เป็นเสื้อแขนยาวที่เป็นการแต่งลำลองอย่างไม่เต็มยศ สำหรับพิธีฟังพระสวดในวันแรก โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) โปรดให้สร้างฉลองพระองค์พระกรน้อย สำหรับพระราชทานเจ้านายระดับชั้นเจ้าฟ้า เป็นผ้าแพรเขียนทองซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ในราชสำนักทุกชิ้น มีกระดุมเป็นนพเก้าล้อมเพชร
 
                    “จากนั้นจะเป็นพิธีสรงน้ำ ก็จะเป็นฉลองพระองค์ที่ทำด้วยผ้าขาว ขลิบทองคำ เรียกว่า ฉลองพระองค์ถอด จากนั้นจึงจรดพระกรรไกร กรรบิด (กรรไกรและมีดโกน) ตัดพระเกศา สรงน้ำ โดยยังทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ครบ หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็น ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระภูษาจีบหน้า ส่วนผ้าอีกชิ้นหนึ่งที่นำมาใช้ คือ เจียระบาด (ผ้าคาดเอว มีชายห้อยลงที่หน้าขา) สำหรับเจ้านายจะเป็นผ้าชั้นดี มีการประดับตกแต่งด้วยวัสดุมีค่า ไม่ว่าจะเป็นตาบปักด้วยทองแล่ง และเลื่อมอย่างงดงาม สำหรับภูษาที่ใช้นุ่งเป็นแบบจีบโจงไว้หางหงส์
 
                    “ต่อมา คือ สนับเพลา หรือ กางเกง ซึ่งสมัยก่อนอาจใช้เป็นการพันผ้า แต่ต่อมาทำสำเร็จรูปเย็บเป็นรูปกางเกง ส่วน ฉลองพระบาท เป็นรองพระบาทเชิงงอน หรือรองพระบาทธรรมดาแบบรองเท้าแตะ โดยราชสำนักจะออกแบบและใช้วัสดุตามระดับพระยศ อาทิ ฉลองพระบาทที่ทำจากผ้ากำมะหยี่ สลักดุนทองคำ พื้นเป็นหนังแล้วลงยาลวดลายต่างๆ หรือฉลองพระบาท ที่สั่งมาจากต่างประเทศแล้วนำมาตกแต่งใหม่ให้สวยงามยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมี “ถนิมพิมพาภรณ์” ประกอบไปด้วย ข้อพระกร แหวนรอบ (หรือในราชสำนักเรียกว่า พระธำมรงค์ร้อยผูกข้อพระกร) แหวนตะแคง (หรือในราชสำนักเรียกว่า พระธำมรงค์ข้อมะขาม ผูกข้อพระกร) กำไล ข้อพระกรเถา สังวาลย์ สายรัดพระองค์ และข้อพระบาท” อาจารย์วีรธรรม อธิบายการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์อย่างละเอียด
 
                    นับเป็นพระราชพิธีโบราณที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยของวัฒนธรรม และประเพณีอันงดงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และถือเป็นมรดกของชาติที่ควรสืบสานไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป
 
 
 
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ