ไลฟ์สไตล์

เข้มพกวิทยุสื่อสารผิดกฎอัยการศึก

เข้มพกวิทยุสื่อสารผิดกฎอัยการศึก

02 ก.ค. 2557

เปิดซองส่องไทย : เข้มพกวิทยุสื่อสารผิดกฎอัยการศึก : โดย...ลุงแจ่ม

 
                          เหตุเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณบ่ายสองโมงกว่า ผมได้เดินทางกลับจากธุระโดยรถยนต์ โดยใช้เส้นทางท่าเสา-คลองน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ขณะนั้นมีการตั้งด่านตรวจ ซึ่งตำรวจเรียกตรวจค้นรถของผม และพบวิทยุสื่อสารมือถือ แต่ ณ เวลานั้นผมปิดเครื่อง วิทยุสื่อสารเครื่องนั้นเป็นวิทยุสื่อสารสมัครเล่นของผม ตำรวจขอดูใบอนุญาตและเอกสารต่างๆ ของเครื่องวิทยุ ผมมีเอกสารถูกต้องทุกอย่าง แต่ระหว่างที่คุยกับตำรวจอยู่นั้น มีตำรวจนายหนึ่งเดินไปบอกตำรวจอีกนายหนึ่งที่ยืนอยู่ห่างออกไป จับใจความได้ว่า ตำรวจนายนั้นบอกว่าผมเป็นวีอาร์ (นักวิทยุสมัครเล่น) และถามตำรวจอีกนายหนึ่งว่าจะเอายังไง ซึ่งตำรวจนายนั้นตอบกลับมาว่า ช่วงนี้ห้ามพกพา และบอกให้ผมไปเสียค่าปรับที่โรงพัก ผมมีข้อสงสัย 3 ข้อ ดังนี้ครับ
 
                          1. ในเมื่อผมมีเอกสารใบอนุญาตถูกต้องครบทุกอย่าง ผมมีความผิดข้อหาอะไรและยังถือว่ามีความผิดตรงไหน 
 
                          2. ถ้ามีประกาศของ กสทช. หรือ คสช. ห้ามไม่ให้พนักงานวิทยุสมัครเล่น พกพาวิทยุสื่อสาร อยู่ในฉบับไหน  
 
                          ผมไม่ต้องการมีปัญหากับตำรวจ แต่ต้องการทราบเพื่อเป็นความรู้แก่ตัวผมและเพื่อนๆ พนักงานวิทยุสมัครเล่นหรือผู้ที่มีวิทยุสื่อสารไว้ในครอบครองทุกคน
 
 
ใหญ่
 
 
ตอบ
 
 
                          พ.ต.ท.วรวัชร แค้มวงค์ รอง ผกก.ป.สภ.กระทุ่มแบน ชี้แจงว่า กรณีผู้ที่มีใช้วิทยุสื่อสารนั้น ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 สาระสำคัญระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใด ทํา มี ใช้ นําเข้า นําออก หรือค้าส่งเครื่องวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ฯลฯ ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ฯลฯ 
 
                          สำหรับวิทยุสื่อสาร ปัจจุบันมีใช้ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรก วิทยุสื่อสารสมัครเล่นเครื่องดำ ย่านความถี่ 144-146 MHz ผู้ใช้งานต้องเป็นนักวิทยุสมัครเล่น ต้องผ่านการสอบจาก กสทช. ประเภทที่ 2 วิทยุสื่อสารราชการเครื่องดำ ย่านความถี่ 136-174 MHz ผู้ใช้งานต้องมีอาชีพเป็นข้าราชการหรืออาสาสมัครของมูลนิธิต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเอกชน ซึ่ง กสทช.อนุญาต ผู้ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้สามารถใช้วิทยุสื่อสารชนิดนี้ได้ทั่วราชอาณาจักรโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช. แต่ต้องพกบัตรประจำตัวที่หน่วยงานออกให้ติดตัวด้วยเสมอเมื่อมีการพกพาวิทยุสื่อสารชนิดนี้ไปใช้งานทุกที่ อีกประเภทคือ สำหรับวิทยุสื่อสารเครื่องแดง หรือที่เรียกกันว่า walkie talkie วิทยุสื่อสารประเภทนี้ใช้สื่อสารกันในระยะใกล้ ตัวเครื่องมีสีแดงเพื่อแยกให้เด่นชัดว่าเป็นเครื่องสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งประชาชนสามารถซื้อและขออนุญาตใช้เครื่องที่ กสทช.ได้โดยไม่ต้องสอบ 
 
                          สำหรับการสนทนาทางคลื่นความถี่และการพกพาวิทยุสื่อสารนั้น ตามประกาศ กสทช. ผู้ใช้วิทยุสื่อสารต้องระมัดระวังการสนทนาทางช่องความถี่ทุกๆ ความถี่ในข่ายวิทยุสมัครเล่น นอกจากนี้การพกพาวิทยุสื่อสารไปใช้งานนอกสถานที่นั้น ผู้ใช้วิทยุสื่อสารต้องนำเอกสารหรือหลักฐานใบอนุญาตต่างๆ ติดตัวตลอดเวลา ต้องพกพาในลักษณะที่เหมาะสม ต้องมีบัตรประชาชนตัวผู้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และบัตรประจําเครื่องวิทยุคมนาคมในกรณีที่เครื่องวิทยุคมนาคมนั้นเป็นเครื่องส่วนตัวแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรณีถูกเรียกตรวจ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความเหมาะสมในส่วนของการพกพาวิทยุคมนาคม ได้แก่ วิทยุคมนาคมให้ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต การแต่งกาย รวมถึงการให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในกรณีที่มีการขอตรวจสอบ
 
                          ทั้งนี้ ในขณะนี้มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก มาตรา 11 วรรคสาม ห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุ กระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ และวรรคห้า ห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของ อาวุธ และเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้ ดังนั้น การเรียกตรวจค้นด้านความมั่นคงจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น
 
                          กรณีร้องเรียนนี้ จากการสอบถามผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ปรากฏว่า สภ.กระทุ่มแบน มีการตั้งด่านตรวจในวันเวลาดังกล่าว ส่วนถนนเส้นดังกล่าวเป็นถนนเส้นทางค่อนข้างยาว มีช่วงเขตรอยต่อซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ 2 สถานีตำรวจ คือ สภ.กระทุ่มแบน และ สภ.เมืองสมุทรสาคร อีกทั้งไม่ทราบจุดตั้งด่านตรวจที่แน่ชัด จึงไม่สามารถทราบได้ว่าเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจเป็นเจ้าหน้าที่จาก สภ.กระทุ่มแบนหรือไม่ และกรณีนี้พบความผิดและแจ้งข้อหาใดแก่ผู้ร้องเรียน แต่เป็นไปได้ว่า มีการเข้มงวดในการตรวจค้นมากขึ้น และอาจเข้าข่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 
 
 
ลุงแจ่ม
 
 
 
สามี(ตัวดี) หย่าให้
 
 
                          ดิฉันมีเรื่องอยากขอคำแนะนำด้วยค่ะ คือว่าหลังจากแต่งงานอยู่กินกับสามีมาได้ 15 ปี โดยไม้ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีลูกด้วยกัน 2 คน
 
                          ปัญหาเพิ่งเริ่มเกิดเนื่องจากดิฉันจับได้ว่าสามีไปมีผู้หญิงอื่น และพาไปงานจนออกนอกหน้า ซึ่งเพื่อนของดิฉันได้โทรมาเล่าให้ฟัง เมื่อดิฉันคาดคั้นแรกๆ สามีบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับ เมื่อถูกคาดคั้นหนักเข้าและโกหกไม่ได้แล้วจึงต้องยอมรับแต่โดย ดิฉันเสียใจมากค่ะ และคิดว่าจะหย่าให้ เพราะเราจดทะเบียนสมรสกัน ถ้าสามีไม่รักดิฉันแล้วก็ควรจะหย่ากัน และแยกกันอยู่ไปเสียเลย  และดิฉันยังทำใจรับไม่ได้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
 
                          แต่สามีบอกว่าไม่หย่า เพราะยังรักดิฉันอยู่ แต่ดิฉันดูแล้วสามีก็คงไม่ยอมเลิกติดต่อกับทางโน้นด้วย   
 
                          อยากทราบว่า ถ้าดิฉันต้องเลิกกับสามี ลูกของดิฉันจะได้สิทธิ์อะไรบ้าง และทรัพย์สินที่มีจะแบ่งกันอย่างไร
 
 
แก้ว 
 
 
ตอบ 
 
 
                          ศูนย์ปรึกษากฎหมายชุมชน อาจารย์ปราชญา  อ่อนนาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แนะนำเรื่องนี้ว่า กรณีนี้ควรเจรจากับสามีให้ดี ถ้าต้องการจะเลิกกันจริงๆ อยากให้คิดถึงลูกด้วย และถ้าต้องเลิกรากันก็ควรจะตกลงกันโดยดีว่าทรัพย์สินที่มีอยู่นี้จะแบ่งครึ่งกันอย่างไร 
 
                          ถึงแม้ว่าจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ทรัพย์สินที่หามาได้ ถ้าคุณและสามีเจรจากันได้ก็น่าจะตกลงได้ว่า ใครควรจะได้อะไรไปบ้าง หรือถ้าจะให้ดีก็ให้จัดการยกทรัพย์สินที่มีให้ลูกไปเลย 
 
                          ส่วนเรื่องสิทธิ์ของลูกนั้น ลูกของคุณมีสิทธิ์ตามกฎหมายทุกอย่างที่จะได้รับสิทธิ์มรดกทรัพย์สินจากผู้เป็นพ่อตามกฎหมาย 
 
 
ลุงแจ่ม