อาการแสบร้อนหน้าอกระวัง ! กรดไหลย้อน
01 ก.ค. 2557
ดูแลสุขภาพ : อาการแสบร้อนหน้าอกระวัง ! กรดไหลย้อน
เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการสำคัญ ได้แก่ อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก และมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขม ไหลย้อนขึ้นมาทางปาก ภาวะกรดไหลย้อนนี้ ถ้าเป็นเรื้อรังอาจทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหาร ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบ มีเลือดออกจากหลอดอาหาร และอาจจะทำให้ปลายหลอดอาหารตีบได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ในที่สุด
อาการของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น
1.อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร
- กลืนลำบาก ติดๆ ขัดๆ คล้ายมีก้อนอยู่ในคอ หรือกลืนเจ็บ
- เจ็บคอ มีเสมหะอยู่ในลำคอ โดยเฉพาะในตอนเช้า หรือระคายคอ ตลอดเวลา
- อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้
- เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอ
- รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอ หรือปาก
2.อาการนอกระบบหลอดอาหาร
- มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้
- เป็นหวัดเรื้อรัง
- เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม
- ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน จนอาจทำให้ต้องตื่นกลางดึก
- อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา เจ็บหน้าอก โรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ
การรักษา
1.ปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน (lifestyle modification) และหลีกเสี่ยงอาหารที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค
2.การรักษาโดยการใช้ยา
การปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรปฏิบัติดังนี้
1.นิสัยส่วนตัว
- อย่าให้เครียด และงดการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่น โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
- พยายามลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน
- ถ้ามีอาการท้องผูก ควรรักษาและหลีกเลี่ยงการเบ่ง
นิสัยในการรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการนอนราบ ออกกำลัง การยกของหนัก การเอี้ยวหรือก้มตัว หลังจากรับประทานอาหารทันที หรืออย่างน้อยควรห่างกัน 3 ชม.
- รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ ฟาสต์ฟู้ด
- หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม peppermints เนย ไข่ นมหรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มแน่นท้องมาก
นิสัยการนอน
- ไม่ควรนอนหลังการรับประทานอาหารทันที หรืออย่างน้อยควรห่างกัน 3 ชม.
- เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ
การรับประทานยา
- ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยาหรือหยุดยาเอง และมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องเพื่อปรับขนาดยา
- อย่าซื้อยารับประทานเองเวลาป่วย เนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น
- ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการของ GERD สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา
นพ.จีรวัส ศิลาสุวรรณ
อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนล