
ไมโครซอฟท์แนะนำองค์กร รับมือเทรนด์ BYOD ให้ปลอดภัย
29 มิ.ย. 2557
ไมโครซอฟท์แนะนำองค์กร รับมือเทรนด์ BYOD ให้ปลอดภัย
ไมโครซอฟท์แนะนำผู้บริหารระบบไอทีในองค์กรให้เตรียมรับมือกับกระแสการนำอุปกรณ์ส่วนตัวเข้ามาทำงาน (Bring Your Own Device : BYOD) ให้ปลอดภัย โดยการกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงและตรวจสอบซอฟต์แวร์เถื่อน เป็นประจำ
ไมโครซอฟท์ อิงค์ แนะนำให้องค์กรธุรกิจที่พร้อมนำระบบ BYOD มาใช้ให้เตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบการทำงานภายในองค์กร ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพราะหากมีการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ที่ทำงานจริง จะเกิดความเสี่ยงในการทำให้ระบบเสียหายจากการแพร่มัลแวร์จากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์จากอุปกรณ์ของพนักงาน ทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพลดลงได้
ผลสำรวจจากบริษัทวิจัย คานาลิส เมื่อปลายปีที่แล้วเผยว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ใช้งาน 35% ในเอเชียแปซิฟิกอยากได้ในปี 2557 นี้ คือแท็บเล็ตเครื่องใหม่เพื่อนำมาใช้ทั้งในการทำงานและความบันเทิงส่วนตัว รองลงมาคือแล็ปท็อป โดยอยู่ที่ 25% ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเทรนด์ BYOD จะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปนับจากนี้ และเส้นที่แบ่งระหว่างงานกับความบันเทิงกำลังบางลงไปทุกขณะ จึงมีความเป็นได้สูงที่พนักงานอาจดาวน์โหลดไฟล์ไม่มีลิขสิทธิ์ที่อาจมีมัลแวร์ซึ่งเป็นอันตรายมาติดตั้งในเครื่อง และถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของข้อมูลองค์กร เมื่อนำเครื่องนั้นๆ มาเชื่อมต่อกับที่ทำงาน
การใช้ระบบ BYOD หมายถึงการที่พนักงานจะนำอุปกรณ์ของตัวเองมาเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายของบริษัท ดังนั้นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงของอุปกรณ์แต่ละเครื่อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบ เข้าถึงแกนกลางของระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลสำคัญ
และที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรถ้าหากว่าแล็ปท็อปของพนักงานหาย หรือถูกขโมย โดยแนวทางความปลอดภัยขั้นพื้นฐานคือ จะต้องมีการลงลายมือชื่อในข้อตกลงกันตั้งแต่แรกเมื่อจะมีการนำแล็ปท็อปส่วนตัวมาใช้งาน เช่น ถ้าหากเครื่องหายไป บริษัทมีสิทธิ์สั่งลบข้อมูลในเครื่องจากทางไกลได้ทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประสงค์ร้ายเข้าถึงข้อมูลขององค์กรจากเครื่องดังกล่าวได้
ความปลอดภัยของข้อมูล ก็เปรียบเสมือนการมีกำแพงล้อมเอาไว้ แต่กำแพงขององค์กรแข็งแรงเพียงพอหรือไม่? แม้ว่าแนวคิด BYOD จะพุ่งความสนใจไปที่อุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงาน แต่ว่าเครื่องที่เป็นสินทรัพย์ของบริษัทเองก็ยังคงต้องได้รับการตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยไมโครซอฟท์ แนะนำให้ทำการตรวจสอบสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ หรือที่เรียกว่า SAM (Software Asset Management) เพื่อให้รู้สถานะปัจจุบันว่าซอฟต์แวร์ในเครื่องขององค์กรนั้น ยังคงเป็นเวอร์ชั่นที่ได้สนับสนุนจากผู้ให้บริการอยู่ เพราะว่าการตรวจสอบนี้จะทำให้องค์กรเห็นได้ทันทีว่าซอฟต์แวร์ใดหมดอายุแล้ว แล้วอาจจะเป็นช่องโหว่ เปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีเข้าถึงระบบขององค์กรได้
เมื่อแนวโน้มการใช้งานเปลี่ยนไป องค์กรที่สามารถปรับตัวได้เร็ว จะสามารถใช้ประโยชน์จากแนวคิด BYOD ได้อย่างเต็มที่ และยังสามารถรักษามาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม โดยการทำ SAM นั้น จะทำให้องค์กรได้เห็นภาพรวมของซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในปัจจุบัน ใช้เวลาไม่มาก โดยสามารถทำได้บ่อยตามความต้องการ เพื่อข้อมูลสถานะที่อัพเดทที่สุด และความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กร