ไลฟ์สไตล์

'ข้าวหอมนิล' ผลิตภัณฑ์ชุมชน-โกอินเตอร์

'ข้าวหอมนิล' ผลิตภัณฑ์ชุมชน-โกอินเตอร์

25 มิ.ย. 2557

ทำมาหากิน : รวมกลุ่มแปรรูป 'ข้าวหอมนิล' ผลิตภัณฑ์ชุมชน-โกอินเตอร์ : โดย...ปฏิญญา ศรีสุภมาตุ

 
                          วิสาหกิจชุมชน "รุ้งปลายฟ้า" กลุ่มเกษตรกร 8 ครอบครัว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ที่เพาะปลูกข้าวพันธุ์ข้าวหอมนิล ข้าวสีดำล้วนพันธุ์ลูกครึ่งข้าวเหนียวดำกับข้าวหอมมะลิ รสชาติหอม อร่อย ที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูงกว่าข้าวขาวทั่วไป 3 เท่า บนพื้นที่ 250 ไร่ แต่เพาะปลูกไม่ทันความต้องการของท้องตลาด จึงผันมาแปรรูปจากข้าวหอมนิล เจาะตลาดคนรักสุขภาพ ดันแชมพูแก้ปัญหาผมร่วง นำร่องส่งออกสิงคโปร์-จีน สร้างรายได้กว่า 18 ล้านบาทต่อปี 
 
                          น.ส.พรพรรณ พิมสาร ประธานวิสาหกิจชุมชนรุ้งปลายฟ้า กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนนี้ คือการรวมกลุ่มเกษตรกร 8 ครอบครัว ที่เพาะปลูกข้าวพันธุ์ข้าวหอมนิล และมีการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากข้าวหอมนิล ทั้งเครื่องสำอาง อาหารเสริม ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ เช่น ตัวแทนจากแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ที่มาแลกเปลี่ยนศึกษาเพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีการเพาะปลูกนำกลับไปเผยแพร่ รวมทั้งจะสร้างพันธมิตรของผู้ประกอบการผลผลิตข้าวหอมนิลไทย-ลาวในอนาคต
 
                          “ข้าวหอมนิล เกิดจากการวิจัยผสมสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียวดำในห้องทดลอง ม.แม่โจ้ เป็นข้าวที่มีสีดำล้วน หอม อร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เป็นข้าวที่ปลูกยาก ไวต่อแสงและอากาศ หนาวหรือร้อนเกินไป ผลผลิตก็จะไม่ได้มาตรฐาน แม้ตอนนี้วิสาหกิจจะมีพื้นที่ปลูกข้าวหอมนิล 250 ไร่ ให้ผลผลิต 600-800 กก./ไร่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด" พรพรรณ แจง
 
                          พร้อมระบุว่า ได้มีการทดลองนำพันธุ์ข้าวหอมนิลมาปลูกในพื้นที่นา ลองผิดลองถูกกว่า 4 ปี เสียหายหลายครั้งกว่าจะลงตัวเช่นทุกวันนี้ แม้ข้าวหอมนิลจะมีคนเริ่มปลูกในหลายพื้นที่ แต่คุณภาพ รสชาติ ความหอม ความนุ่ม แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ผลผลิตของข้าวหอมนิลนั้นจะดีที่สุดช่วงนาปี ที่ปลูกช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ส่วนนาปรังที่ปลูกเดือนมีนาคม-เมษายน แม้ผลผลิตอาจจะมีคุณภาพสีและกลิ่นหอมต่ำกว่าช่วงนาปีเล็กน้อย แต่คุณค่าทางสารอาหารยังครบถ้วน โดย 1 ปี ปลูกได้ 2 รอบ ใช้เวลาปลูกถึงเก็บเกี่ยวรอบละ 3 เดือน
 
                          พรพรรณ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ที่นำสายพันธุ์ข้าวหอมนิลไปทดลองปลูกทั่วประเทศ แต่จากลักษณะของข้าวหอมนิลที่ต้องอาศัยการดูแลเป็นพิเศษ จึงพบว่ายังมีเกษตรกรจำนวนไม่มากที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งสวนทางกับความตื่นตัวในความต้องการข้าวหอมนิลในท้องตลาดไทยและต่างประเทศ ทำให้ผลผลิตของวิสาหกิจชุมชนรุ้งปลายฟ้าที่มีผลผลิตข้าวหอมนิลคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก 
 
                          เมื่อผลผลิตไม่เพียงพอตามความต้องการของตลาด จึงมีแนวคิดจะเพิ่มมูลค่าให้แก่ข้าวหอมนิล ด้วยการนำผลผลิตไปแปรรูปผลิตเป็นเครื่องสำอาง สบู่ล้างหน้า โลชั่นทาผิว แชมพู ครีมนวดผม ผลิตน้ำมันข้าวกล้อง และน้ำข้าวกล้องที่นำมาเป็นส่วนผสมในขนมหวาน เพื่อเพิ่มคุณค่าสารอาหารให้แก่ขนมทั่วไป ซึ่งเป็นทางเลือกในการทำตลาดอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ พบว่าผลตอบรับจากผู้บริโภคและผู้ทดลองใช้ได้ผลดีมาก 
 
                          "เราจึงเน้นไปที่สินค้าแปรรูปจากข้าวหอมนิลมากขึ้น โดยมีการวิจัยร่วมกับนักวิชาการจาก ม.แม่โจ้ ในการพัฒนาสินค้าแปรรูปจากข้าวหอมนิลให้คงคุณค่าทางสารอาหารที่สูงกว่าข้าวขาวทั่วไป 3 เท่า มีการเจาะตลาดกลุ่มผู้รักสุขภาพ กลุ่มแพทย์ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทยาสระผม ครีมนวด สำหรับคนมีปัญหาผมร่วง"
 
                          ทั้งนี้ พรพรรณ ย้ำว่า รายได้ของวิสาหกิจชุมชนรุ้งปลายฟ้า รวมแล้วกว่า 18 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นขายข้าวหอมนิล 12 ล้านบาทต่อปี ผลิตภัณฑ์แปรรูป 6-8 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังสิงคโปร์และจีนร้อยละ 20 และส่งขายในประเทศร้อยละ 80 หากบริหารจัดการวัตถุดิบได้ก็พร้อมจะขยายตลาดในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน
 
 
 
 
-------------------------
 
(ทำมาหากิน : รวมกลุ่มแปรรูป 'ข้าวหอมนิล' ผลิตภัณฑ์ชุมชน-โกอินเตอร์ : โดย...ปฏิญญา ศรีสุภมาตุ)