ไลฟ์สไตล์

'นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต'หมอดีเด่นใฝ่ธรรมชาติสู่แดนใต้

'นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต'หมอดีเด่นใฝ่ธรรมชาติสู่แดนใต้

19 มิ.ย. 2557

'นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต' หมอดีเด่นใฝ่ธรรมชาติสู่แดนใต้ : ภูชิสส์ พิรุณละออง,สุพิชฌาย์ รัตนะรายงาน

                 นามของคน เงาของไม้

                 "นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต"

                 ชื่อชั้นแม้จะไม่คุ้นหูผู้คนในแวดวงสังคมทั่วไปมากนักก็ตาม ทว่าในพื้นที่ดงควันปืนอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว

                 เนื่องเพราะตัวตนผู้นี้ก็คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี ผู้ครองตัวครองตนคลุกคลีกับประชาชนในพื้นที่สีแดงมายาวนานร่วม 17 ปี กระทั่งถูกเลือกสรร "เชิดชูเกียรติ" ให้ในฐานะทำงานอุทิศเพื่อสังคมด้านสาธารณสุขด้วยใจมั่น

                 ย้อนโปรไฟล์พบว่า ก่อนนั้นเคยเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลปะนาเระ เมื่อปี 2537 ก่อนก้าวสู่ทำเนียบตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมายอในที่สุด

                 พูดง่ายๆ ชีวิตจึงวนเวียนอยู่ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ร่วม 2 ทศวรรษ

                 จนกลายเป็นที่มาแห่ง "แพทย์ชนบทดีเด่น" ประจำปีล่าสุด

                 ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ตะลุยพื้นที่จับเข่าคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาสะท้อนให้สังคมได้ยลยินมากยิ่งขึ้น

                 นพ.นิรันดร์ เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า ตั้งแต่เรียนจบแพทย์มาก็ได้มาทำงานอยู่ที่ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2537 โดยเข้ามารักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลปะนาเระเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมายอ ในปี 2540 จุดเริ่มที่ได้มาประจำอยู่ ณ พื้นที่แดงแห่งนี้ ก็เพราะเป็นคนที่รักและชื่นชอบในธรรมชาติ ชอบต้นไม้ สายน้ำ ป่าดงพงไพร

                 "ก่อนจะมาอยู่ปัตตานีนั้น หลังผมเรียนจบแพทย์ใหม่ๆ ก็ได้มีโอกาสไปต่างจังหวัด เพื่อไปหารุ่นพี่ที่อยู่ประจำโรงพยาบาลในย่านชนบททางภาคเหนือ อีสาน ได้ไปเห็นชีวิตรุ่นพี่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในชนบท ยิ่งทำให้รู้สึกอยากมาทำงานและใช้ชีวิตในแถบชนบทมากยิ่งขึ้น แม้ผมเป็นชาวนนทบุรีก็ตาม มองว่าการใช้ชีวิตในชนบทนั้น จะทำให้เรามีความสุขท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี มีธรรมชาติชิดใกล้ ต่างจากเมืองกรุงที่มีแต่ความวุ่นวาย" หมอแจงเรื่องราวอันน่าอภิรมย์แห่งชีวิตให้ฟัง

                 แพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2556 บอกว่า การเลือกไปทำงานอยู่ในชนบทถือเป็นสิ่งที่ตนเองต้องการมากที่สุด กระทั่งช่วงปี 2536 ก็มีเหตุการณ์แพทย์ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งจับสลากได้ 12 คน แต่ลาออกไป 10 คน ต่อมาปี 2537 ก่อนที่จะได้ลงมาทำงานที่ จ.ปัตตานี ก็มีรุ่นพี่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี ได้มาเล่าให้รุ่นน้องฟังว่า อยากให้น้องๆ ที่เรียนจบแพทย์ใหม่ๆ ไปช่วยและทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากขาดแคลนแพทย์อย่างมาก จึงตัดสินใจทันทีพร้อมกับเพื่อนๆ อีก 7 คน ก่อนมุ่งหน้าลงมาทำงานในพื้นที่ดังกล่าว

                 กระทั่ง เมื่อถึงเวลาจริงๆ เพื่อนทั้ง 7 คนกลับไม่มีใครเดินทางมา เพราะทางบ้านพวกเขาไม่เห็นด้วยและรู้สึกเป็นห่วง สุดท้ายตนเองจึงต้องเดินทางมา จ.ปัตตานี เพียงลำพัง เมื่อปี 2537 โดยให้มารักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลปะนาเระโดยบังเอิญ เพราะขณะนั้นผู้อำนวยการและแพทย์เพิ่งลาออกไป กลายเป็นแพทย์คนเดียวทั้งโรงพยาบาล ภายหลังก็มีเพื่อนเข้ามาช่วยมากขึ้น ดังนั้น แม้จะเพิ่งจบแพทย์มาใหม่ๆ แต่กลับไม่ได้เข้าไปฝึกความชำนาญและหมุนเวียนเรียนรู้อยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเหมือนกับแพทย์คนอื่นๆ เลย

                 แพทย์ผู้หลงใหลกลิ่นอายธรรมชาติรายนี้ กล่าวว่า หลังได้มาทำหน้าเพียง 3 ปี ก็หมดภาระใช้ทุน จึงคิดจะกลับไปเรียนต่อเฉพาะทางเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ทำให้ช่วงนั้นขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนมาก ทั้งที่ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.กะพ้อ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี จนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีต้องมาขอร้องให้แพทย์ที่เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ให้อยู่ช่วยเหลือชาวบ้านต่อไป จึงตัดสินใจอยู่ต่อ และเลือกที่จะย้ายไปอยู่โรงพยาบาลมายอ เมื่อปี 2540

                 "ยอมรับว่า ช่วงแรกที่ลงมาอยู่ใหม่ๆ ต้องปรับตัวเองครั้งใหญ่เลย จากนักศึกษาแพทย์จบใหม่ แต่กลับมารับหน้าที่ ผอ.โรงพยาบาล ต้องดูแลบุคลากรกว่า 100 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ผมเองไม่ได้เรียนมาด้านการบริหารจัดการ แต่ท้ายสุดทุกคนก็ให้ความร่วมมือดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ที่สำคัญจะต้องเรียนรู้และศึกษาเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม ผมค่อยๆ เรียนรู้และจดจำไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องภาษาได้ตั้งใจเรียนรู้เป็นพิเศษ กระทั่งปัจจุบันนี้ไม่ต้องใช้ล่ามช่วยแปลอีกแล้ว” 

                 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ทำงานในพื้นที่นานถึง 20 ปี ก็มีความรู้สึกท้อบ้างในบางครั้ง แต่เมื่อใดที่รู้สึกเหนื่อย ท้อ ก็มักจะหยุดพักกายพักใจ หยุดนิ่ง ตั้งสติ คิดทบทวนตัวเองทุกครั้ง พยายามนึกถึงสิ่งที่เราต้องการทำอยู่เสมอและพยายามทำให้เพื่อนร่วมงานเป็นกำลังใจให้กันและกัน ช่วยเหลือ พยุงมือกันขึ้นมาเพื่อสู้และเดินหน้ากันต่อไป ทำให้ทุกวันนี้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พวกเราเดินหน้าไม่เคยหยุด รางวัลดีเด่นที่ได้รับก็รู้สึกดีใจ เพราะเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ทำงานในชนบท ทุกคนดีหมดและทำงานหนักทุกคน

                 "ผมอาจจะโชคดีกว่าคนอื่น ก็ตรงที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของรางวัลเกียรติยศครั้งนี้” หมอทิ้งท้ายก่อนสิ้นสุดการสนทนาแบบเป็นกันเองในวันนั้น
..............................................

(หมายเหตุ : 'นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต' หมอดีเด่นใฝ่ธรรมชาติสู่แดนใต้ : ภูชิสส์ พิรุณละออง,สุพิชฌาย์  รัตนะรายงาน)