ไลฟ์สไตล์

ผอ.รพ.มายอคว้าแพทย์ดีเด่นในชนบท

ผอ.รพ.มายอคว้าแพทย์ดีเด่นในชนบท

12 มิ.ย. 2557

'นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต' ผอ.รพ.มายอ ปัตตานี คว้ารางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทจากศิริราช หลังทำงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้มา19 ปี มั่นในระบบสันติภาพที่นำโดยระบบสุขภาพ

               รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2556 ผู้ที่ได้รับคือ นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี เป็นแพทย์ผู้เสียสละทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาตลอดเวลา 19 ปีนับตั้งแต่จบแพทย์ โดยเจ้าตัวยึดคุณค่าของวิชาชีพแพทย์ในการทำงานท่ามกลางวิกฤติ และเชื่อมั่นในระบบสันติภาพที่นำโดยระบบสุขภาพ

               เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวประกาศผลและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2556 ว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ก่อตั้งรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2516 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ โดยเฉพาะบัณฑิตแพทย์ที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในชนบท ให้มีทัศนคติที่ดีและมองเห็นคุณค่าของการทำประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคมชนบท

               ด้าน รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2556 กล่าวว่า ในปี 2556 มีการเสนอรายชื่อแพทย์ให้คณะกรรมการพิจารณาทั้งสิ้น 14 คน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานขั้นสุดท้าย 11 คน โดยสัมภาษณ์แพทย์ ผู้ร่วมงานและผู้มารับบริการ โดยในปีนี้คณะกรรมการพิจารณาให้ นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผู้อำนวยการ รพ.มายอ จ.ปัตตานี เป็นผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2556 เป็นคนที่ 40 ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน 1 แสนบาท บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 6 หมื่นบาท และบริษัท เทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 2 หมื่นบาท

               "นพ.นิรันดร์ แม้เป็นคนกรุงเทพฯ แต่เสียสละไปทำงานในชนบทห่างไกลและอันตรายตั้งแต่จบแพทย์เป็นเวลาถึง 19 ปี ในภาวะวิกฤติ ทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงและความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลับเป็นโอกาสให้พัฒนากระบวนการสื่อสาร การดูแลแบบองค์รวม และการเยียวยาจิตใจของบุคลากรในโรงพยาบาล ผู้ป่วย ญาติ และคนในชุมชนให้สามารถอยู่กันได้อย่างสันติสุข" รศ.นพ.อนุพันธ์ กล่าว และว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับคัดเลือก ประกอบด้วย การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช

               ขณะที่ นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผอ.รพ.มายอ ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ในชนบทดีเด่น กล่าวว่า วิชาชีพแพทย์สามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ให้เป็นประโยชน์กับทุกคนที่จำเป็น ขอขอบคุณแพทย์รุ่นพี่ที่อยู่ในชนบททุกคน ตนมีความคิดที่ไปทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัดตั้งแต่เรียนแพทย์ปี 3 ได้มีโอกาสฟังคำกล่าวของแพทย์ที่ทำงานในชนบท ทำให้คิดว่าต้องไปอยู่ต่างจังหวัดตั้งแต่นั้น เพราะเห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่ ทำให้มั่นใจว่าสามารถทำความสำเร็จเล็กๆ ในชนบทได้ เมื่อจบแพทย์จึงเลือกไปทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำคัญที่สุดขอขอบคุณพ่อคุณแม่ ที่ให้สติปัญญา และมอบตนให้แก่สังคมโดยไม่ได้คิดอะไร

               นพ.นิรนดร์ กล่าวอีกว่า รางวัลนี้ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับ เพียงอาจารย์ผู้ใหญ่ลงไปเยี่ยมในพื้นที่ก็ดีใจแล้ว ไม่ใช่ตนที่ได้รางวัลแต่เป็นคนทำงานในชนบททุกคนที่ได้รับการเห็นคุณค่าของการทำงานในชนบท เพราะคนชนบทมีคนมากกว่าในเมือง แต่แพทย์น้อยกว่า ถ้าไม่ยืนหยัดอยู่ตรงนั้น ระบบสุขภาพไทยอาจจะทำให้มีคนเข้ามาหาแพทย์ในเมืองมากกว่านี้ แพทย์ในชนบทพยายามทำให้คนป่วยได้รับรักษาและทำหัตถการใกล้ๆ บ้าน

               "ผมไม่ได้อดทนอะไรในการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผมไม่เคยคิดออกนอกพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเงื่อนไขพิเศษ ไม่ใช่ว่าจะเห็นแต่ความทุกข์ แต่ทำให้ผมเห็นคุณค่าของวิชาชีพแพทย์ในการทำงานท่ามกลางวิกฤติ ผมเชื่อมั่นในระบบสันติภาพที่นำโดยระบบสุขภาพ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถเข้าได้ทั้ง 2 ฝ่าย ที่โรงพยาบาลใครมาก็ได้รับการดูแลรักษาเหมือนกันตามหลักของความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการบริการที่ดีที่สุด อยากให้วิชาชีพแพทย์ช่วยเหลือเยียวยาสังคมและทำให้สังคมสันติสุข" นพ.นิรันดร์กล่าว

               แพทย์ดีเด่นในชนบทปีนี้ กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่ทำให้อยู่ในพื้นที่ได้เป็นเวลานาน คือความผูกพันกับพื้นที่และเพื่อนร่วมงานทุกคน โดยเฉพาะเมื่อปี 2545 ที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีคนไข้มาเข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น จึงคิดว่าหากย้ายออกแล้วใครจะทำงานต่อโดยไม่ขาดคน ไม่รู้ว่าเหตุผลจริงๆ คืออะไรที่ทำให้อยู่มานาน จนลืมวันเวลาไป มารู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปแล้วเกือบ 20 ปี

               "บุคคลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงานอยู่ในพื้นที่ได้นาน คือ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก โดย นพ.วรวิทย์ เคยพูดกับผมว่า ที่อยู่ในพื้นที่ได้นานเพราะมีความสุข ผมจึงนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ส่วนตัวเห็นว่าแพทย์ที่ทำงานในชนบทเหตุผลสำคัญที่ยังอยู่ในพื้นที่ ไม่ได้อยู่ต่อเพื่อเงิน แม้จะให้ค่าตอบแทนจำนวนมากเท่าไหร่ แต่สุดท้ายค่านิยมในการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องการที่จะศึกษาต่อ และต้องการทำงานในพื้นที่ที่ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าตนเองจะเลือกทางไหน การที่จะทำให้แพทย์ทำงานอยู่ในชนบท เป็นเรื่องของการให้คุณค่าของผู้ที่ทำงานในพื้นที่" นพ.นิรันดร์ กล่าวตอนท้าย

               อนึ่ง นพ.นิรันดร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2512 ปัจจุบันอายุ 45 ปี สถานภาพโสด เป็นบุตรของนายศานติและนางนรารัตน์ วิชเศรษฐสมิต เป็นชาว จ.นนทบุรี จบแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2537 เข้ารับราชการในตำแหน่งนายแพทย์ 4 และรักษาการในตำแหน่ง ผอ.รพ.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2537 และดำรงตำแหน่ง ผอ.รพ.มายอ จ.ปัตตานี ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน โดย อ.มายอ จัดอยู่ในพื้นที่ระดับความรุนแรงสีแดง