ไลฟ์สไตล์

ใช้ภูมิปัญญาทำ'แก่น'กฤษณาส่งออก

ใช้ภูมิปัญญาทำ'แก่น'กฤษณาส่งออก

12 มิ.ย. 2557

ทำมาหากิน : ใช้ภูมิปัญญาทำ 'แก่น' กฤษณาส่งออก อาชีพทำเงินกลุ่มเกษตรกร 'หอมมีสุข' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                            ไม่จำเป็นต้องตัดไม้กฤษณาในป่าธรรมชาติ ไม่ต้องรอเวลายาวนานถึง 30 ปีสำหรับผู้ที่ต้องการแก่นไม้หอมกฤษณาเพื่อนำมาแปรรูปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลังกลุ่มเกษตรกรผลิตไม้กฤษณาหอมมีสุข ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง ประสบความสำเร็จในการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตแก่นไม้กฤษณาในป่าปลูก โดยใช้กับไม้กฤษณาหลังปลูกเพียง 10 ปีเท่านั้น
 
                            พิกุล กิตติพล ประธานวิสากิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผลิตไม้กฤษณาหอมมีสุข เผยว่า แก่นไม้กฤษณานั้น ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดสามารถทำได้เลย เว้นแต่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 30 ปีขึ้นไป ในขณะที่การผลิตของกลุ่มจะใช้เวลาในการปลูกไม้กฤษณาประมาณ 10 ปีเท่านั้นก็สามารถผลิตแก่นไม้กฤษณาคุณภาพดีเทียบเท่ากับแก่นไม้จากธรรมชาติ 
 
                            "เราได้พิสูจน์แล้วว่าคุณภาพของแก่นไม้เทียบเท่าไม้จากธรรมชาติเลย ซึ่งก็เป็นผลดีให้คนในชุมชน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ด้วย เพราะชาวบ้านปลูกไม้เอง จึงไม่จำเป็นต้องเข้าป่าไปแอบตัดไม้อนุรักษ์อีก" 
 
                            ในส่วนของขั้นตอนการผลิตนั้น เธออธิบายว่าหลังจากการเพาะเมล็ดแล้วปลูกจนโตได้ขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว จึงเจาะรูแล้วใส่สารจุลินทรีย์ที่กลุ่มสามารถผลิตโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านแท้ๆ จนทำให้สามารถติดแก่นดำในเนื้อไม้เข้าไปในเนื้อไม้กฤษณาจากนั้นใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงตัดต้นกฤษณาเพื่อนำมาแปรรูปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ 
 
                            "ทุกคนที่เป็นสมาชิก เราจะดูแลตั้งแต่เริ่มต้นเลย ตั้งแต่การคัดสายพันธุ์ สอนวิธีการทำแล้วก็จะดูแลเรื่องการตลาดให้ด้วย ถือว่าได้ช่วยกันทำ เพราะกลุ่มเราจัดตั้งขึ้นเป็นเครือข่าย ปัจจุบันมีสมาชิกเฉพาะ จ.ระยอง 30 กว่าคน แต่ถ้ารวมทั่วประเทศแล้วมีประมาณ 1,000 กว่าคน" ประธานกลุ่มคนเดิมกล่าวและว่า สำหรับในด้านการตลาดนั้นไม่มีปัญหา มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ จนผลิตให้แทบไม่ทัน โดยในส่วนของน้ำมันจะจำหน่ายเป็นโตร่าเท่ากับ 12.5 ซีซี หรือ 1 แบนเท่ากับ 30 โตร่า โดยราคาเริ่มที่ 30,000-50,000 บาท/แบนและราคาจะยิ่งแพงขึ้นเมื่อน้ำมันถูกบ่ม หรือเก็บเอาไว้นาน
 
                            "กลุ่มเราจะขายทั้งแก่นและน้ำมัน ถ้าเป็นแก่นจะส่งขายญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ส่วนน้ำมันจะขายทางแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก เพราะน้ำมันจะมีคุณสมบัติช่วยป้องกันไรทะเลทราย ซึ่งทางตะวันออกกลางจำเป็นต้องใช้"
 
                            ส่วนรายได้ที่สมาชิกจะได้รับนั้น พิกุลบอกว่า หากสมาชิกมาช่วยทำงานในกล่มก็จะมีรายได้เป็นรายวันและยังได้เปอร์เซ็นต์จากการทำ มีหุ้นจากการทำน้ำมันสำหรับนวด โดยลงหุ้นเป็นไม้กฤษณา ไม่ต้องลงเงิน จากนั้นส่วนแบ่งจะหักเข้ากลุ่มประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสมาชิกกลุ่มที่นี่จะมีรายได้ค่อนข้างสูง เฉพาะผลิตภัณฑ์ก็สามารถสร้างรายได้เกือบสองหมื่นต่อคนต่อเดือน ยิ่งถ้ามีไม้รวมเข้ามาด้วยก็จะมีรายได้เกือบแสนบาทต่อเดือน 
 
                            ขณะที่ ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรผลิตไม้กฤษณาหอมมีสุข โดยระบุว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ทั้งการบรรจุภัณฑ์และรูปแบบการบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ข้อมูลด้านการตลาดและส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจตลาดสหกรณ์ ลู่ทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้น จนกลุ่มมีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในวันนี้
 
                            "จุดเด่นของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ก็คือสามารถสร้างแก่นไม้ให้เกิดในเนื้อไม้กฤษณาได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่าธรรมชาติ และมีคุณภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกสามารถทำได้ ถือเป็นภูมิปัญญาที่สามารถสร้างให้เกิดรายได้แก่ชุมชนเป็นอย่างมาก" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวย้ำ
 
                            การสร้างแก่นไม้และน้ำมันสกัดจากไม้กฤษณาของชุมชนบ้านหอมมีสุข นับเป็นวิธีการที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน จนสามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนเป็นอย่างดี สนใจเยี่ยมชมดูขั้นตอนการผลิตโทร.0-3863-4280 ได้ทุกวัน
 
 
 
 
 
---------------------------
 
(ทำมาหากิน : ใช้ภูมิปัญญาทำ 'แก่น' กฤษณาส่งออก อาชีพทำเงินกลุ่มเกษตรกร 'หอมมีสุข' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)