
'กรอดๆๆๆ เพราะนอนกัดฟัน'
02 มิ.ย. 2557
'กรอดๆๆๆ เพราะนอนกัดฟัน' : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ
คนส่วนใหญ่มีโอกาสนอนกัดฟันบ้างเป็นครั้งคราวโดยไม่รู้ตัวซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคนที่นอนข้างๆ หรือใกล้มาบอกว่านอนกัดฟันกรอดๆ เกือบทุกคืนก็ควรปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์ เพราะอาจจะนำไปสู่โรคของขากรรไกร อาการปวดหัวและความผิดปกติของฟันได้ การนอนกัดฟันอาจเกิดจากความเครียดความวิตกกังวลการฝันการสบขอบฟันที่ผิดปกติ ฟันซ้อนเก หรือมีโรคในช่องปาก เช่น ฟันผุเหงือกอักเสบ เป็นต้น
- อาการนอนกัดฟัน
๐ นอนกัดฟันอาจจะดังจนปลุกคนที่นอนอยู่ข้างๆ
๐ ฟันผิดปกติไปเช่นแตกหักบิ่น
๐ เคลือบฟันสึกไปจนลึกไปถึงเนื้อฟัน
๐ มีอาการเสียวฟัน
๐ มีอาการปวดขากรรไกร
๐ กรามใหญ่ขึ้นจากกล้ามเนื้อ
๐ ปวดหูเนื่องจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ขากรรไกร
๐ ปวดหัว
๐ กัดกระพุ้งแก้มตัวเองเป็นแผล
๐ มีแผลที่ลิ้น
โดยทั่วไปแล้วจะไม่ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนตามมายกเว้นรายที่เป็นรุนแรงจะพบว่าฟันหรือกรามผิดปกติมีอาการปวดหัวมากข้อขากรรไกรมีความผิดปกติหรือมีอาการปวดเส้นประสาทที่หน้าแบบนี้เริ่มจะไม่ดีแล้ว
บางคนที่สงสัยว่าตัวเองจะนอนกรนเวลาไปตรวจฟันประจำปีกับทันตแพทย์คอยสังเกตดีๆ ว่าหมอจะว่าอย่างไรมีรอยบิ่นแตกของฟันเคลือบฟันสึกไปมีอาการเสียวฟันหรือเปล่าซึ่งอาจจะต้องมีการติดตามตรวจต่อเนื่องเพื่อดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าปกติหรือไม่และวางแผนการรักษาต่อไปและอาจจะมีการตรวจ X-ray เพื่อดูรอยแตกร้าวได้ชัดเจนขึ้นนอกจากนี้ถ้าพบว่าปัญหาเกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจหรือความผิดปกติของการนอนอาจจะต้องพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนด้วย การรักษาเริ่มต้นได้ที่ตัวเองไปจนถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญตามลำดับดังนี้
- การจัดการกับความเครียด
สำหรับผู้ใหญ่จะใช้การผ่อนคลายจากความเครียด เช่น การออกกำลังกายการพักผ่อนและการทำสมาธิเข้าช่วยแต่สำหรับในเด็กอาจจะต้องมีการพูดคุยถึงเรื่องของความกลัวความวิตกกังวล และพยายามทำให้เด็กเกิดความผ่อนคลายก่อนการเข้านอนบางทีคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยนวดคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อที่กรามขมับไปถึงหนังศรีษะ โดยนวดเบาๆ ให้ลูกดื่มนํ้าให้เพียงพอด้วย การกัดฟันในเด็กบางรายพบว่ามาจากภาวะการขาดนํ้า
๐ การดูแลทางด้านทันตกรรม
ทันตแพทย์จะตรวจดูว่ามีการทำลายของฟันมากหรือไม่ ถ้ามีอาจจะต้องทำการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำลายเนื้อฟันซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์และการรักษาให้เลือกตามความเหมาะสม
- Splints เป็นวัสดุที่ทำจากอะครีลิคเพื่อสวมไว้ป้องกันฟันบนล่างขบกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นการรักษาโดยทันตแพทย์จะทำพิมพ์ฟันให้เหมาะสำหรับแต่ละรายเพื่อคนไข้จะได้รู้สึกเป็นธรรมชาติมากที่สุด ทั้งนี้อาจต้องมีการปรับกรอ Splints หลายครั้งเพื่อให้เข้ากับฟันของแต่ละคนมากที่สุด และต้องคอยเช็กว่ามีการสึกของเนื้อ Splints มากน้อยแค่ไหนด้วยถ้าสึกมากต้องทำใหม่
- Mouth Guards เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่ขายแบบสำเร็จรูปราคาจะถูกกว่าแบบ Splints แต่ขนาดก็อาจจะไม่พอดีกับปากและฟันของทุกคนเพราะทำเป็นขนาดมาตรฐาน
- แก้ไขเรื่องการสบฟันและดูแลรักษาเรื่องการเสียวฟันอาจจะต้องมีการใช้ครอบฟันหรืออุปกรณ์อื่นๆ ในกรณีที่มีการแตกหักของฟัน
- การรักษาบำบัดด้านพฤติกรรมเริ่มตั้งแต่การฝึกที่จะจัดตำแหน่งฟันและขากรรไกรให้ถูกต้องการฝึกดูตำแหน่งของลิ้นตลอดจนการยื่นขากรรไกรซึ่งทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ให้คำแนะนำได้อย่างดี
๐ การรักษาด้วยยา
เนื่องจากการไม่มีหลักฐานและข้อมูลแน่ชัดว่าการนอนกัดฟันของแต่ละคนมีสาเหตุมาจากอะไร ดังนั้นโดยทั่วๆ ไปการใช้ยาจึงอาจไม่ค่อยได้ผลมากนักแต่บางครั้งหากมีอาการค่อนข้างรุนแรง แพทย์อาจจะให้ยาคลายกล้ามเนื้อรับประทานก่อนนอนหรือหากมีอาการกัดฟันรุนแรงอาจจะต้องฉีด Botox เพื่อเข้าไปทำลายเส้นประสาทซึ่งเป็นอีกทางเลือกของการรักษา
- ถ้ารู้ตัวเองว่าเป็นคนเครียดพยายามลดความเครียดด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การฟังเพลง การออกกำลังกาย การอาบนํ้าอุ่น หรือการทำสมาธิ
- พยายามลดเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โคล่า หรือช็อคโกแล็ต
- ถ้าเป็นคนชอบกัดดินสอหรือปากกาเวลาคิดก็พยายามลดลง หรือพวกที่ชอบเคี้ยวหมากฝรั่งก็ควรเลิกไปเลย แล้วคนที่ชอบขบฟันเวลาไม่รู้จะทำอะไรหรือเขินต้องพยายามหลีกเลี่ยงมันจะติดไปถึงตอนนอนแล้วฟันก็จะยิ่งสึก
- มีคนแนะนำว่าให้ลองเอาลิ้นให้ฟันหน้าขบไว้เบาๆ เหมือนเป็นเบาะรองฟันนี่จะเป็นการฝึกให้กล้ามเนื้อที่กรามได้ผ่อนคลาย หรือก่อนนอนให้เอาผ้าชุบนํ้าอุ่นมาประคบไว้ที่กรามก็อาจช่วยได้
- ถามและพูดคุยกับแฟนหรือเพื่อนร่วมห้องว่าช่วงใดที่คุณมีอาการหรือช่วงใดที่เป็นมากขึ้น เพราะเป็นคนที่ต้องตื่นกลางดึกด้วยเสียงกัดฟัน
- พบทันตแพทย์เพื่อตรวจเป็นประจำ การพบทันตแพทย์เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อตรวจประเมินเรื่องการนอนกัดฟันโดยเฉพาะถ้าเป็นคนโสดและอยู่คนเดียว
หมอได้แต่เป็นห่วงว่าสุขภาพร่างกายดีหมดแต่จะต้องมาเสียเพราะนอนกัดฟัน ดังนั้นควรตรวจร่างกายประจำปี แล้วอย่างลืมตรวจฟันด้วย
โรงพยาบาลสมิติเวช
.......................................
(หมายเหตุ 'กรอดๆๆๆ เพราะนอนกัดฟัน' : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ)