
ภาษาอังกฤษ"ยาขม"เด็กไทยต้องฝึกไว้ถ้าจะไปเรียน"นอก"
ด้วยความที่ตระหนักว่า "การสอนภาษาอังกฤษในเมืองไทยส่วนใหญ่เน้นให้เด็กท่องแกรมม่า คำศัพท์ แต่ไม่สอนให้เด็กนำไปใช้ แม้ว่าจะเรียนตั้งแต่ชั้นป.5 จนถึงปริญญาตรี แต่ยังต้องเรียนใหม่อย่างน้อยอีก 6 เดือนถึง 1 ปี ถ้าต้องไปเรียนเมืองนอกจึงจะสามารถสื่อสารและเรียนต่อ
แสดงให้เห็นว่าการเรียนการสอนของเราเดินผิดทาง" เป็นเหตุผลให้ รศ.ประเสริฐ จันทร์หอม มุ่งมั่นเรียนปริญญาเอกทางออนไลน์ ที่ มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส แม้ว่าจะเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม ด้วยความมุ่งหวังว่างานวิจัยเกี่ยวกับการประเมินผลข้อสอบภาษาอังกฤษตามทฤษฎีเก่าและใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย
รศ.ประเสริฐ เล่าว่าการเรียนในต่างประเทศ ทุกระดับจะเป็นการเรียนรู้จากการตั้งคำถาม และให้นักเรียนช่วยกันหาคำตอบ แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับทฤษฎีที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ แต่ผู้เรียนจะสามารถหาเหตุผลอธิบายว่าทำไมถึงไม่เป็นไปตามตำรา หรือไม่เป็นไปตามที่อาจารย์ได้สอนไว้ ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ใหม่ กล้าที่จะทดลองและลงมือทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่า จะเป็นไปได้ และท้ายที่สุดจะเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ
"ขณะนี้ผมกำลังทำวิจัยเพื่อขอจบปริญญาเอกอยู่ และอยู่ระหว่างการขอต่ออายุราชการอีก 5 ปีที่ มรภ.นครสวรรค์ ตั้งใจว่าเมื่องานวิจัยสำเร็จ จะนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันใช้ทฤษฎีเก่าที่สอนให้ท่อง ขณะที่ทฤษฎีใหม่สอนให้นำไปใช้ เพื่อให้เด็กไทยเรียนและนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้ดีขึ้น" รศ.ประเสริฐ กล่าว
"วุ้นเส้น" ชนิดา เลิศวิทยาภัทร์ อายุ 23 ปี จบจากร.ร.สตรีวัดระฆัง เคยเรียนคณะศิลปศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเรียน หลักสูตรอนุปริญญาตรี (Diploma programs) ที่วิทยาลัยเทฟ เซาท์ออสเตรเลีย (TAFE South Australia) ด้านการออกแบบตกแต่งภายใน เล่าว่าเธอต้องมาเรียนภาษาอังกฤษอยู่ 1 ปี เพราะมาแรกๆ มีปัญหามาก ไม่สามารถสื่อสารและฟังได้ แต่หลังจากเรียนแล้ว 1 ปีก็ดีขึ้น
"เรียนที่นี่ได้ประสบการณ์มาก ส่วนใหญ่เรียนทฤษฎีน้อย แต่ปฏิบัติมากกว่า ผลงานการออกแบบบาร์ของวุ้น เคยได้รางวัลและได้ลงตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันด้วย ตั้งใจว่าเรียนจบแล้ว จะเรียนต่อ อยากทำงานด้านนี้ ที่ได้ใช้ความคิด และทักษะฝีมือเฉพาะด้าน ฝากบอกเด็กไทยที่อยากมาเรียนเมืองนอกต้องเตรียมตัวภาษาอังกฤษให้พร้อม เพราะถ้าเตรียมตัวไม่ดี จะมีปัญหามาก ต้องมาเรียนภาษาอีก 1 ปี ทำให้เสียเวลา" วุ้นเส้น กล่าว
ล่าสุดฝ่ายการศึกษาของเซาท์ออสเตรเลีย ได้จัดเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษดี มาสอนให้แก่นักเรียนไทยที่ไปเรียนในสถาบันการศึกษาของรัฐดังกล่าว "ตั้น" ภูมิสิทธิ์ อภิวัฒนากร ซึ่งทำหน้าที่สอนให้แก่นักเรียนไทยประมาณ 10 คน เล่าว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่จะใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปีก็จะสามารถสื่อสารและเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ อยากจะขอแนะนำให้น้องๆ ที่ไปเรียนต่างประเทศ ให้ทำงานพิเศษในร้านของคนต่างชาติ จะได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษไปในตัว
เพราะการไม่กล้าพูด ก็เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้เช่นกัน "เจส" เกวลิน มหาคุณกิจเจริญ นักศึกษาปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแทสเมเนีย จบม.ปลายจาก ร.ร.เบญจมราชาลัย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรุงเทพฯ แม้ว่าจะเคยได้ทุนแลกเปลี่ยนไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา แต่ไม่กล้าพูด ทำให้มีปัญหาในการสื่อสารกับเพื่อนๆ พอสมควร ทั้งๆ ที่ฟังและอ่านได้ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเรียน เจส บอกว่าวิธีทำให้ภาษาอังกฤษไม่เป็นยาขมของเด็กไทยคือ ต้องกล้าพูด ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดหลักไวยากรณ์ ฟังและอ่านบ่อยๆ จะช่วยได้ เพราะฝรั่งพูดภาษาไทยผิดเขายังไม่อาย แต่คนไทยจะอาย ทำให้เป็นอุปสรรคเวลามาเรียนต่างประเทศต้องใช้เวลาในการปรับตัว
ที่สำคัญหากได้ฝึกตั้งแต่เด็กๆ จะทำให้มีความกล้าและจดจำได้ดี ดังนั้น ผศ.ดร.วันเพ็ญ จิตรเจริญ จาก มทร.ล้านนา ลำปาง จึงพาลูกสาวคนเดียว "น้ำผึ้ง" สิมิลัน จิตรเจริญ ไปเรียนที่เยอรมนี เมื่อครั้งที่ได้ทุนปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยบอนน์ ตั้งแต่ 9 ขวบ และล่าสุดไปเรียน Y 11 ที่ Glenunga International High School เพราะได้รับทุน Endeavour Awards ทำวิจัยหลังปริญญาเอกเรื่อง การพัฒนาคุณภาพไวน์ยีสต์ให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างสารให้ กลิ่น รส ตามที่ต้องการ ที่ มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส เพราะเป็นทางเดียวที่ทำให้ทายาทคนเดียวของเธอซึมซับภาษาอังกฤษได้อย่างลึกซึ้ง เพราะลำพังเงินเดือนข้าราชการไม่มากพอที่จะส่งลูกเรียนเมืองนอกได้
"น้ำผึ้ง" เล่าว่าตอนป.4 ไปเรียนภาษาเยอรมันถึง ม.2 กลับไปเรียนที่ร.ร.บุญวาทย์วิทยาลัยชั้น ม.3 เรียนถึง ม 5 ก็มาเรียนที่ออสเตรเลีย ได้เรียนภาษาอังกฤษ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก ที่สำคัญการเรียนในต่างประเทศ ครูเปิดโอกาสให้เด็กซักถามอย่างเต็มที่และเรียนด้วยการตั้งคำถามและค้นคว้าด้วยตัวเอง ขณะที่เมืองไทยเรียนและเชื่อตามคำสั่งสอนของครู ทำให้เด็กไทยไม่ค่อยกล้าแสดงออก
อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ สถานศึกษาหลายแห่งได้พยายามแก้ไข โดยเฉพาะโรงเรียนประจำอำเภอ อย่างโรงเรียนศรีเทพประชาสรรค์ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่ง อ.วัชรินทร์ อุไรพันธุ์ อาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ เล่าว่า เด็กม.1 บางคน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้แม้แต่ชื่อของตัวเอง จึงต้องสอนตั้งแต่พื้นฐาน เช่น ให้รุ่นพี่ทำโครงการตะกร้าความรู้ช่วยทบทวนเนื้อหาวิชานอกเวลาเรียน นักเรียนชั้นม.6 ติวในช่วงเย็น และเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะเนื้อหาอาจจะยากเกินไป ล่าสุดติดตั้งโปรแกรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ อิงลิช ดิสคัฟเวอรีส์ ช่วยให้เด็กสนใจมาก เพราะเนื้อหามีตั้งแต่ระดับเบสิก ไปจนถึงวัยทำงาน มีเกมผสมคำสร้างความสนุก ทำให้เด็กรู้สึกว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยาก ไปจนถึงหลักการเรียนแกรมม่าง่ายๆ เปิดให้นักเรียนเข้ามาใช้ได้ตลอดเวลา เชื่อว่าจะช่วยให้เด็กไทยเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น
0 หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ 0