
'ไม้ตะพด'ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์ภูมิชุมชน
28 พ.ค. 2557
ทำมาหากิน : 'ไม้ตะพด' ชาวบ้านท้ายพิกุล ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์ภูมิชุมชน : โดย...สมนึก สุขีรัตน์
ด้วยเห็นว่า "ไม้ตะพด" งานทำมือชาวบ้านท้ายพิกุล อ.พระพุทธบาท ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมจะสูญหายไปจากความเป็นชุมชน "หมู่บ้านไม้ตะพด" ลุงพงษ์ วังเวงจิตร วัย 72 ปี จึงร่วมกับจังหวัดสระบุรี โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าฯ สระบุรี หนุนให้ชาวบ้านปลูกไผ่รวกสู่การผลิตชิ้นงาน เพื่อ กระตุ้นท่องเที่ยวจังหวัดให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย โดยเฉพาะในเชิงวัฒนธรรม
จากที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายผล ดำธรรม นายอำเภอพระพุทธบาท พร้อมคณะได้ลงพื้นที่หมู่บ้านท้ายพิกุล หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.พระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท เมื่อเร็วๆ นี้ โดยไปที่บ้าน ลุงพงษ์ วังเวงจิตร วัย 72 ปี บ้านเลขที่ 81 หมู่ 3 ผู้นำรวมกลุ่มผลิต "ไม้ตะพด” งานทำมือของชาวบ้านที่มีมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันอาจสูญหายไปหากไม่มีการอนุรักษ์ไว้
"ลุงพงษ์" ย้อนให้ฟังถึงที่มาการทำไม้ตะพดของชุมชนบ้านท้ายพิกุลว่า ในอดีตทำกันทั้งหมู่บ้านนับร้อยๆ ราย จนชุมชนถูกเรียกเป็น "หมู่บ้านไม้ตะพด” ทว่า ปัจจุบันด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนไปจึงทำให้เหลือชาวบ้านเพียง 9 ราย ที่ยังยึดอาชีพนี้อยู่
โดย "ลุงพงษ์" เล่าว่า ด้วยไม้ตะพด ถือเป็นอาวุธที่แสดงถึงศักดิ์ศรีของชายไทยสมัยโบราณ และเหตุที่ต่อมามีกฎหมายห้ามพกดาบไปในที่สาธารณะจึงมีการพกพาไม้ตะพดแทน โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนิยมกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่ในส่วน อ.พระพุทธบาท ไม้ตะพดกลายเป็นประเพณีนิยมดั้งเดิมอันเป็นพฤติปฏิบัติที่ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว หาซื้อเพื่อนำไปเคาะระฆังที่ตั้งเรียงรายอยู่รอบวัดพระพุทธบาทในทุกครั้งที่มานมัสการ "รอยพระพุทธบาท”
"ตามความเชื่อและศรัทธาเพื่อเป็นการเสริมดวงชะตา อำนาจ และบารมี ให้ดังกึกก้องถึงสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดจนถึงทุกวันนี้นประเพณีเกแกสบทอดกนมจนถงทกวนน และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวอย่างเป็นกอบเป็นกำ" ลุงพงษ์ เล่า
พร้อมบอกว่า "ไม้ตะพด" ของชุมชนทั้งหมดทำจากไม้ไผ่รวก ที่เรียกว่า "ไม้ไผ่เปร็ง” ซึ่งเป็นไผ่เนื้อแน่นตัน ที่ชาวบ้านจะไปหาได้ตามภูเขา ต.พุคำจาน ต.พุกร่าง เขต อ.พระพุทธบาท อีกส่วนไปหาซื้อจาก จ.กาญจนบุรี แต่ด้วยปัญหาภัยแล้งทำให้ไม้ไผ่รวกยืนต้นตาย เกิดไฟป่าลุกไหม้ทำให้ไผ่รวกเสียหาย ส่งให้ปัจจุบันค่อนข้างหาไผ่รวกยากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้จังหวัดเข้ามาสนับสนุนงานศิลป์นี้ให้อยู่คู่ อ.พระพุทธบาท ต่อไป
ดังที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าฯ สระบุรี บอกว่า จะเร่งส่งเสริมชาวบ้านให้อนุรักษ์การผลิตไม้ตะพด ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านที่พักอาศัยบริเวณเชิงเขาปลูกไผ่รวกเพิ่มมากขึ้น เพาะเป็นพืชที่ปลูกง่ายภายในหนึ่งปีก็นำมาผลิตได้ อีกทั้ง เป็นการรองรับคนหนุ่มสาวในพื้นที่ที่ตกงาน เพราะผลกระทบจากโรงงานปิดตัวลง อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ จึงหันกลับมาทำไม้ตะพดช่วยครอบครัว
"ไม้ตะพดบ้านท้ายพิกุล เป็นผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อของชุมชน นับเป็นแห่งเดียวของไทย ซึ่งจังหวัดได้เล็งเห็นคุณค่าอันสมควรอนุรักษ์ไว้ จึงเข้ามาส่งเสริมเพื่อให้ชิ้นงานอยู่คู่ อ.พระพุทธบาทอย่างยั่งยืน เป็นการกระตุ้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมควบคู่ด้วย" ผู้ว่าฯ สระบุรี แจง
สำหรับขั้นตอนการทำ "ลุงพงษ์" เสริมว่า เมื่อได้ไผ่รวกเปร็งมาแล้วต้องนำมาตากให้แห้งสนิท จึงนำมาตัดแต่งลำให้ตรง ลนไฟอ่อนๆ จนลำไม้ตรงได้ที่ นำกาบมะพร้าวชุบทรายละเอียดเคล้าขี้เถ้าและน้ำ ขัดลำไม้จนสะอาดและผิวเกลี้ยงเรียบ ก่อนใช้เทคนิคตกแต่งผิวไม้ให้เป็นลวดลายต่างๆ เช่น นาบด้วยโลหะเผาไฟ เทตะกั่วหรือย้อมสี ทั้งตัวไม้และหัวไม้ตะพด เป็นอันเสร็จนำออกจำหน่ายได้
---------------------------
(ทำมาหากิน : 'ไม้ตะพด' ชาวบ้านท้ายพิกุล ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์ภูมิชุมชน : โดย...สมนึก สุขีรัตน์)