
ดูแลสุขภาพ:การผ่าตัดดัดเข่า
19 พ.ค. 2557
การผ่าตัดดัดเข่า : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ
การผ่าตัดดัดเข่า (High Tibial Osteotomy) “วิธีที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกัน จากโรคข้อเข่าเสื่อมนี้ได้ก็คือการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอเอง”
โรคข้อเข่าเสื่อม
เป็นโรคที่เกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อต่อของเข่าสึกกร่อนและถูกทำลายลง ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดที่เข่าขึ้น วิธีที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันจากโรคข้อเข่าเสื่อมนี้ได้ ก็คือการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง รวมทั้งการทำกายภาพบำบัด ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเจ็บปวดของข้อเข่า และบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่าให้มีความแข็งแรง เมื่อกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงจะช่วยรับน้ำหนักของร่างกายได้อย่างมั่นคง ทำให้ข้อต่อไม่หลวมไม่สึกหรอง่าย เพราะเมื่อข้อต่อสึกหรอ จะทำให้ข้อหัวเข่าหลวมกว่าปกติ ทำให้รู้สึกว่าขาไม่มีแรง เพราะกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อหย่อนตัว ร่วมกับอาการปวดทำให้ส่งผลกระทบกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
๐ การผ่าตัดดัดเข่าคืออะไร
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นมีวิธีการรักษาอยู่หลายวิธี ทั้งการส่องกล้องเจาะเข่าเป็นรูเล็กๆ แล้วก็มองผ่านจอโทรทัศน์ดูสภาพภายในข้อว่าสึกหรอมากแค่ไหนแล้ว หรือการเปลี่ยนข้อเทียม แต่คนไข้ส่วนใหญ่ยังไม่อยากมีอะไรแปลกปลอมเข้าไปอยู่ในร่างกายตัวเอง
เป็นการผ่าตัดที่มีชื่อย่อว่า การผ่าตัด HTO (High Tibial Osteotomy) อาศัยหลักการกระจายน้ำหนักจากข้อเข่าด้านที่มีการสึกกร่อน ซึ่งมักเป็นข้อด้านไปยังข้อเข่าด้านที่ยังเป็นปกติ ซึ่งเป็นด้านตรงข้าม และหลังทำการรักษายังพบว่า ข้อเข่าด้านที่แคบจะกว้างขึ้นได้ รวมถึงลักษณะถุงน้ำใต้กระดูกอ่อนจะหายไปเมื่อแรงกดที่ทำต่อข้อเข่าด้านที่สึกกร่อนลดลง
ปัจจุบันมีการผ่าตัดโดยแพทย์บางท่าน โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบเหมือนรูปโดม และยึดตรึงกระดูกไว้ด้วยเหล็กลักษณะคล้ายเสาอากาศทีวีเล็กๆ ซึ่งมีข้อดีหลายประการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ภาวะแทรกซ้อนน้อยและไม่รุนแรง หลังจากที่แผลหายสมบูรณ์ ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม
ใครเหมาะที่จะทำการรักษาโดยวิธีนี้บ้าง ผู้ที่เหมาะสมที่จะทำการผ่าตัด HTO ได้แก่ ผู้ที่มีอาการปวดเข่าด้านใดด้านหนึ่ง โดยที่ผิวข้อด้านตรงข้าม ยังสมบูรณ์เป็นปกติอยู่ และกระดูกต้องไม่พรุน ซึ่งการรักษาวิธีนี้จะได้ผลดี สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม
ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ
โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนล
.......................................
(หมายเหตุ การผ่าตัดดัดเข่า : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ)