ไลฟ์สไตล์

กะโหล้ง กะลา เสริมหน้าตาข้าวซอยข้างวัด

กะโหล้ง กะลา เสริมหน้าตาข้าวซอยข้างวัด

04 พ.ค. 2557

ถิ่นไทยงาม : กะโหล้ง กะลา เสริมหน้าตาข้าวซอยข้างวัด

 
                             วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร โดดเด่นอยู่ตรงหน้า ใกล้กับตลาดจอมทอง อำเภอจองทอง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะรถทัวร์สายกรุงเทพ-จอมทอง หรือ สองแถวเชียงใหม่-จอมทอง ก็มักแวะส่งผู้โดยสารกันตรงนี้  คนที่จะเดินทางขึ้นดอยอินทนนท์ที่มารถประจำทางก็มักจะต้องมาแวะกันแถวนี้ 
 
                             วัดนี้เป็นวัดพระธาตุประจำของคนเกิดปีชวด หรือปีหนู  ไหว้พระเป็นศิริมงคลกันแล้ว ออกมาเดินหาของกินรองท้อง ถึงเชียงใหม่ทั้งที ก็ต้องขอลิ้มรสอาหารพื้นเมือง อะไรจะโดดเด่นไปกว่าข้าวซอย และขนมจีนน้ำเงี้ยว  
 
                             ขึ้นชื่อว่าอาหารไทย จัดเป็นอาหารที่มีความหลากหลายของรสชาติแล้ว แต่ละภาคก็จะมีความโดดเด่น เอกลักษณ์เฉพาะตัว ชนิดที่ว่าเอ่ยชื่ออะไรออกมา ก็เข้าใจได้ทันทีว่าเป็นอาหารจากภาคไหน ไม่ว่าจะเป็นลาบ ส้มตำ จากทางอีสาน, ข้าวยำ น้ำบูดู คั่วกลิ้งจากปักษ์ใต้, ข้าวซอย  ขนมจีนน้ำเงี้ยว แค็ปหมู น้ำพริกหนุ่ม จากทางเหนือ หรือ จะเป็นแกงเผ็ด แกงส้มทั่วๆ ไป จากทางภาคกลาง 
 
                             นี่ก็แค่ยกตัวอย่าง จริงๆ อาหารที่มีความเฉพาะถิ่นของแต่ละภาค มีมากมายหลายเมนู หรือบางทีเมนูเดียวกัน แต่เรียกกันคนละชื่อก็มี รสชาติก็ต่างกันออกไปตาม 
 
                             ด้านข้างของวัด ที่เป็นลานจอดรถ เลยไปหน่อยก็จะเป็นตลาดสด แต่ก่อนเข้าไปตัวตลาด จะมีร้านขายอาหารอยู่หลายร้าน สายตาก็ไปสะดุดอยู่ที่ร้านเล็กๆ ตั้งโต๊ะไม้เป็นแนวยาว เด่นด้วยการตกแต่งร้านด้วยกะลามะพร้าวเต็มไปหมด แถมขายข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว ส้มตำ เข้าทางพอดี ชื่อร้านก็ทำเอาหยุดคิดไปนิดหนึ่ง "กะโหล้ง รสเด็ด"  เลยต้องหยุดหาความหมายและความอร่อย
 
                             ข้าวซอยเค้าเสริฟมาในชามที่ทำจากกะลามะพร้าว และมีชาวลูกติดกันมา ใส่ มะนาว ผักกาดดอง หอมแดง เป็นเครื่องเคียง ดูแล้วน่ารักดี น่ากินด้วย ป้าน้อย เจ้าของร้านข้าวซอยกะโหล้ง บอกว่า คิดขึ้นมาเอง ไม่ได้ไปลอกไอเดียใครมาทั้งนั้น 
 
                             "ทำเองทุกอย่าง เคยทำใช้ที่บ้านแล้วดี สะอาด ก็ไม่มีกลิ่นคาวติด ดูแล้วก็เห็นว่ามันเข้าท่าดี ก็เลยทำมาใช้กับร้านด้วย กะลาที่เห็นเยอะๆ ก็มาจากที่เราซื้อมะพร้าวมาทำกะทิทำข้าวซอย ก็เก็บไว้  ว่างก็ลองทำดู สะสมไปเรื่อยๆ  " 
 
                             แล้วก็ถึงบางอ้อ เพราะคำว่า "กะโหล้ง"  ก็คือภาษาถิ่นทางเหนือ หมายถึงกะโหลก กะลา ในที่นี้ก็หมายถึงกะลามะพร้าวนั่นเอง 
 
                             นอกจากภาชนะใส่อาหารแล้ว ของใช้ในร้านเป็นไม้ทั้งหมด ตะเกียบ ที่ใส่ตะเกียบ แม้แต่การตกแต่งร้านก็ใช้กะโหล้งหรือกะลาทั้งหมด
 
                             ป้าน้อยเล่าว่า เมื่อก่อนเปิดร้านขายอาหารอยู่ที่น้ำตกแม่กลาง แล้วย้ายมาขายที่ข้างวัดนี่ได้ 4 ปีแล้ว ซึ่งขายดีกว่า แต่เพราะเป็นที่วัด ก็ไม่แน่นอนไม่รู้ว่าทางวัดจะเอาที่คืนเมื่อไหร่ 
 
                             ป้าน้อย กับลุงผู้ช่วยอีกคน กำลังขมีขมันทำข้าวซอยหมู-ไก่  ต้มน้ำเงี้ยว น้ำยาในหม้อดินขนาดใหญ่  มีอยู่ 3 -4 หม้อ อันเป็นเมนูหลักๆของร้าน แล้วยังมีส้มตำสารพัดครก เปิดขาย 08.00 -16.00 น. บางวันก็อาจจะเปิดเร็ว ราวๆ 7 โมงก็เปิดขายแล้ว ถึงตอนนี้ ข้าวซอยไอเดียบรรเจิด ด้วยภาชนะที่เลือกสรรมาใช้ ช่างเข้ากับอาหารและบรรยากาศให้ความเป็นพื้นเมือง กลายเป็นที่ติดใจ ขายหมดทุกวัน ลูกค้าเข้าร้านไม่ขาดสาย 
 
                             บางทีศิลปะการทำอาหารไม่ได้อยู่แค่การปรุงรสชาติ หากแต่การปรุงแต่งรูปลักษณ์ให้เตะตาต้องใจ ก็ช่วยให้มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว