ไลฟ์สไตล์

นักวิชาการค้านยูเน็ตวัดศักยภาพนศ.

นักวิชาการค้านยูเน็ตวัดศักยภาพนศ.

30 เม.ย. 2557

นักวิชาการค้านยูเน็ตวัดศักยภาพนศ. รัฐ-เอกชนรอดู-เล็งใช้คัดคนเข้าทำ ด้าน 'จาตุรนต์' แจงสอบอังกฤษเพื่อดูคุณภาพมหาวิทยาลัย ซัดล้มเหลวเด็กจบออกมาสื่อสารไม่ได้

                การเดินหน้าจัดทดสอบยูเน็ต นอกจากนิสิตนักศึกษาหลายสิบสถาบันการศึกษาคัดค้านแล้ว ท่าทีของนักวิชาการด้านการศึกษาต่างก็ไม่เห็นด้วย ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานิสิตจุฬาฯ จัดเสวนา "ยูเน็ตกับอนาคตเด็กไทย" โดยมีคณาจารย์ นิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณ 100 คน เข้าร่วมสัมมนา

               รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือยูเน็ต มีความแตกต่างจากการสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เพราะการสอบยูเน็ตเป็นการจัดสอบสอดคล้องตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือทีคิวเอฟ แสดงว่าเป็นการสอบเพื่อประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยไม่ใช่นิสิตนักศึกษาแบบรายบุคคล

               ดังนั้น เมื่อสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รู้อยู่แล้วว่ายูเน็ตเป็นการสอบเพื่อประเมินมหาวิทยาลัย อยากเสนอแนะ ผู้เข้าสอบไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตน เวลาไปสอบไม่ต้องใช้บัตรประจำตัว ไม่ต้องกรอกชื่อตัวเอง เพราะเวลาสอบยูเน็ตไม่ได้สอบในฐานะตัวเอง แต่สอบในฐานะของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นการประเมินคุณภาพแต่ประเมินมหาวิทยาลัย

               "สิ่งที่ สทศ.จำเป็นต้องใช้ ไม่ใช่โยงคะแนนกับชื่อ แต่โยงคะแนนเข้ากับมหาวิทยาลัย และแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถส่งนิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งไปสอบ เพื่อเป็นคะแนนของมหาวิทยาลัยและมาเทียบกัน คนที่จะรู้คะแนนก็คือผู้บริหารมหาวิทยาลัยเท่านั้น อีกทั้ง สทศ.ควรเลิกพูดว่าจะเอาคะแนนยูเน็ตไปใช้ในการทำงาน อยากให้ชัดเจนว่ายูเน็ตคืออะไร แตกต่างจากการสอบแบบอื่นอย่างไร" รศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าว

               นายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สทศ.ออกข้อสอบโอเน็ต อะไรก็มีปัญหาตลอด ควรล้างให้ดีก่อนแล้วค่อยไปทำของใหม่ บ้านเมืองเราเป็นสังคมประชาธิปไตยควรทำประชาพิจารณ์ ที่นอกจากบอกว่าจะสอบหรือไม่สอบแล้ว ควรบอกได้ว่ามีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ข้อสอบเป็นกลางหรือเป็นมาตรฐานขึ้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

               "ต้องเข้าใจว่าในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัย มีความเป็นเฉพาะทาง ความถนัดไม่เหมือนกัน ถ้าจะจัดสอบยูเน็ตภาษาอังกฤษเป็นตัวเริ่มต้น ตามความสมัครใจ มหาวิทยาลัยอาจจะไปเลือกในนิสิตนักศึกษาภาควิชาภาษาอังกฤษ เด็กไทยก็ผ่านทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่ผ่าน และอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันในมหาวิทยาลัย"

               นายพิพัฒน์ระบุด้วยว่า ดังนั้น ก่อนที่จะนำยูเน็ตมาใช้ประเมินกับมหาวิทยาลัย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องไปจัดทำกระบวนการยูเน็ตให้ดีก่อน อย่าไปผลักภาระให้แก่นักศึกษา และที่บอกว่าจะเป็นการประเมินบัณฑิตจบใหม่ อยากถามว่าถ้ามีผลของการสอบยูเน็ตที่ข้อสอบเป็นกากบาท จะสามารถบอกคุณสมบัติที่ดีของการทำงานได้หรือไม่ และโดยปกติการรับคนเข้าทำงานพิจารณาจากหลายๆ เรื่อง ไม่สามารถวัดได้จากข้อสอบกากบาท และองค์กรต่างๆ ก็มีกระบวนการในการคัดเลือกบุคคลอยู่แล้ว

               นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า หากต้องสอบยูเน็ต ควรคำนึงถึงมาตรฐานของข้อสอบ ต้องเป็นข้อสอบที่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง อย่าคิดว่าตัวเองมีหน้าที่จัดสอบแล้วต้องทำหน้าที่อย่างเดียว เป็นไปได้หรือไม่ ก่อนจะสอบต้องมีบุคลากร อาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยเป็นคนดูตัวข้อสอบ ส่วนที่อาจารย์เสนอว่าการสอบยูเน็ตไม่ต้องกรอกข้อมูล ใส่รายชื่อนิสิตนักศึกษานั้นเห็นด้วย เพราะเป็นการประเมินมหาวิทยาลัย

               อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนิสิตนักศึกษาสอบมากอยู่แล้ว ความตั้งใจสอบจึงอาจจะมีน้อยทำให้เกิดผลในเชิงลบกับมหาวิทยาลัย ซึ่งในเชิงสังคมก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ถ้าเด็กเข้าไปกากบาทให้จบๆ ไป ผลสอบออกมาทางมหาวิทยาลัยตกไม่ผ่านการประเมิน อาจไม่กระทบต่อมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่กระทบต่อสังคม คุณภาพการศึกษาของประเทศ

               ด้าน ดร.รัชนีวรรณ วณิชย์ถนอม นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า ก.พ.ทำเรื่องบริหารทรัพยากรบุคคล อยู่บนระบบคุณธรรม ความรู้และความสามารถ ซึ่งเป้าหมายของ ก.พ.คือคัดเลือกคนที่ดีที่สุดเข้ารับราชการ และในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้คะแนนยูเน็ตในการรับคนเข้าทำงาน เช่นเดียวกับการสอบ TOEFL ที่เกิดขึ้น เพราะต้องการทดสอบภาษาอังกฤษของคนที่ต้องการไปเรียนประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้มีมาตรฐาน และเมื่อการสอบเป็นที่ยอมรับก็มีหลากหลายหน่วยงานนำไปใช้ ซึ่งอนาคตยูเน็ตก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน

               เช่นเดียวกับ น.ส.นราวดี เจริญจิตต์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน บริษัท เอไอเอ จำกัด กล่าวว่า หากภาครัฐมีความชัดเจนเรื่องยูเน็ต และวัดคุณภาพมาตรฐานในแต่ละวิชาชีพได้จริง เชื่อว่าภาคเอกชนอาจจะนำมาใช้ และอาจจะทำให้ยูเน็ตเป็นเสมือนตัวกระตุกให้หันมามองคุณภาพของตัวเด็กเองว่าได้มาตรฐานคุณภาพวิชาชีพหรือไม่

               ขณะที่ นายศิวัช สุดาเดช ประธานสภานิสิต จุฬาฯ กล่าวว่า สภานิสิตจุฬาฯ ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นของนิสิตต่อการสอบยูเน็ต จำนวน 1,010 คน เมื่อวันที่ 27-30 เมษายน พบว่า นิสิต 71% ไม่เห็นด้วย ค่อนข้างไม่เห็นด้วย 22% เฉยๆ 5% ค่อนข้างเห็นด้วย 1% และเห็นด้วย 1% ส่วนใหญ่เชื่อว่าการทดสอบดังกล่าวจะเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจของสถาบันกวดวิชา และเชื่อว่าการทดสอบที่มีปัจจุบัน เช่น TOEFL, TOEIC และการทดสอบจากหน่วยงานต่างๆ จะสามารถประเมินทักษะของบัณฑิตที่แต่ละหน่วยงานต้องการได้โดยตรง ไม่ซ้ำซ้อนและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ทั้งนี้ยังเห็นว่าบัณฑิตแต่ละสาขาวิชาย่อมมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ สทศ.เคารพความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ด้วย

               วันเดียวกัน นายจาตุนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่ให้เดินหน้าทดสอบยูเน็ตในวิชาภาษาอังกฤษวิชาเดียวนั้น เพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งจัดสอบภาษาอังกฤษหลังจบการศึกษา จึงเป็นเรื่องแตกต่างกัน ซึ่งหากการสอบวิชาภาษาอังกฤษเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดเด็กก็จะไม่สนใจมาสอบยูเน็ต ดังนั้น มาตรฐานการสอบยูเน็ตวิชาภาษาอังกฤษ คือต้องการเน้นเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยมหาวิทยาลัยหลายแห่งยังไม่เคยเน้นการสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและต้องยอมรับว่าการเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษาก็ยังไม่มีการเน้นเรื่องการสื่อสารแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเด็กจบการศึกษาออกมาจึงไม่สามารถสื่อสารได้ ถือเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยอย่างมาก

               "การสอบยูเน็ตจะใช้มาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้พบว่าการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในวิชาภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร ยืนยันว่าการสอบยูเน็ตจะไม่มีพิษมีภัยต่อใครทั้งนั้น ใครสนใจก็มาสมัครสอบได้และไม่ทำให้เกิดปัญหากับตัวนักศึกษาภายหลัง" นายจาตุรนต์ กล่าว

 

ทปอ.ชี้ยูเน็ตต้องไม่ใช่การวัดจากกระดาษ  

               ที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกัน ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์  ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และรศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์  ผู้อำนวยการสทศ. เกี่ยวกับการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (ยูเน็ต) ที่มีกลุ่มนิสิตนักศึกษาออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการจัดสอบยูเน็ต ว่า ทปอ.เห็นด้วยกับการวัดและประเมินผลมาตรฐานการจัดการศึกษา เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนา ในระดับอุดมศึกษา   โดยยูเน็ต ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดคุณภาพ แต่การวัดคุณภาพการศึกษาต้องใช้ตัวชี้วัดหลายตัวที่มีคุณภาพมาประกอบกัน  จะใช้การทดสอบโดยใช้กระดาษ  ข้อสอบเพียงอย่างเดียวไม่ได้  อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินสถาบันการศึกษา เป็นเรื่องที่ทปอ. , สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องหารือเพื่อให้ข้อสรุปร่วมกัน  ทั้งนี้  ทปอ.จะมีการจัดทำศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีการสำรวจคุณภาพบัณฑิตที่ได้มาตรฐานว่าจะมีวิธีการใดได้บ้าง  เพื่อให้ได้เครื่องมือที่วัดที่ได้มาตรฐาน

 

นักศึกษามธ.ออกแถลงการณ์ค้าน

 

               ขณะที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.)ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (U-NET)ความว่า

               ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ริเริ่มที่จะจัดให้มีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ U-NET ในปีการศึกษา 2557 โดยจะจัดสอบแบบไม่บังคับและไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่นักศึกษาในคณะหรือสาขาที่ไม่มีสภาวิชาชีพควบคุม มีการสอบวิชาด้านทักษะพื้นฐาน 4 วิชา ได้แก่ วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต วิชาการรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และวิชาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจะเพิ่มวิชาด้านคุณธรรม จริยธรรม และวิชาด้านทักษะวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชาในปีการศึกษา 2558 รวมทั้งจะมีการประสานงานไปยังหน่วยงาน องค์การ บริษัท ให้ใช้เกณฑ์ของ U-NET ในการคัดเลือกบัณฑิตเข้าทำงานด้วยนั้น



               องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวดังนี้

               1. การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษามีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายไปตามแต่ละคณะและสาขาวิชา ทั้งในด้านเนื้อหาของวิชาและในด้านกระบวนการศึกษา หากนักศึกษาที่เรียนมาแตกต่างกันต้องใช้ข้อสอบชุดเดียวกันก็จะก่อให้เกิดความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมในการวัดผลได้หรือหากจะจัดทำข้อสอบให้เหมาะสมกับผู้สอบทั้งหมดก็อาจต้องจัดทำเนื้อของข้อสอบให้เป็นแค่ระดับพื้นฐาน ซึ่งอาจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้อสอบในระดับอุดมศึกษา

               2. การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยส่วนมากเป็นการเปิดกว้างทางความคิด ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และประเมินคุณค่าต่างๆ อย่างเป็นตัวของตัวเอง การจัดทำข้อสอบกลางที่มีเนื้อหาเดียวจะเป็นการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างได้ โดยเฉพาะวิชาด้านคุณธรรม จริยธรรม ที่ในความเป็นจริงแล้วแต่ละคนก็ต่างยึดถือคุณค่าที่แตกต่างกันไป แต่คำตอบที่ถูกต้องในข้อสอบอาจมีเพียงคำตอบที่สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของรัฐหรือของผู้ออกสอบเท่านั้น

               3. ทุกวันนี้การวัดผลนักศึกษาและสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพก็มีอยู่อย่างมากมายแล้ว ในมหาวิทยาลัยนักศึกษาก็ต้องผ่านการทดสอบจากอาจารย์จึงจะผ่านในวิชาต่างๆ ได้ มีการประเมินผลอาจารย์และบุคลากรเป็นปรกติธรรมดา ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหรือทำงานก็เช่นกัน แต่ละหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่างก็มีเกณฑ์การคัดเลือกหรือการทดสอบคุณสมบัติที่เหมาะสมกับหน่วยงานของตน รวมทั้งมีการจัดสอบที่ได้มาตรฐานสากลให้เลือกใช้อยู่แล้ว อมธ. จึงยังไม่เห็นว่าการจัดสอบ U-NET จะมีข้อดีโดดเด่นอะไรที่จะนำมาใช้โดยไม่ซ้ำซ้อนได้

               4. สทศ. ยังไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์ การสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาผู้ต้องได้รับผลกระทบ หรือการสำรวจความเห็นจากสถานประกอบการหรือหน่วยงานที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับรับนักศึกษาที่ผ่านการทดสอบเข้าทำงาน พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสอบรูปแบบนี้เสียก่อน

               5. สทศ.ควรทำการแก้ไข ปรับปรุง ความผิดพลาด สำหรับมาตรฐานของข้อสอบ ที่เกิดปัญหา สร้างข้อสงสัยอย่างกว้างขวาง ในการสอบแต่ละครั้ง เช่น O-NET GAT PAT หรือ 7วิชาสามัญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการที่คนในสังคมสามารถยอมรับได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคม ว่าสทศ.มีมาตรฐานเพียงพอที่จะทำการจัดการทดสอบเพื่อวัดมาตรฐานของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่า ที่ยังไม่เคยมีการจัดทดสอบมาก่อน ต่อไป

               อมธ.จึงขอเรียกร้องให้ สทศ. นำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปพิจารณาอย่างจริงจัง และถ้าหากว่า สทศ. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ อมธ. ชี้แจงไว้ได้ ก็ขอให้ทบทวนการจัดสอบ U-net ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เพื่อประโยชน์ของนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยทั่วไป

               เตรียมพบกับกิจกรรมขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เร็วๆนี้