
'กล้วยตาก' ยอดโอท็อปท้องถิ่น
30 เม.ย. 2557
ทำมาหากิน : 'กล้วยตาก' ยอดโอท็อปท้องถิ่น ยกระดับผลิตมุ่งตลาดอาเซียน : โดย...ธานี กุลแพทย์
ไม้ผลแปรรูป "กล้วยตาก" หลากยี่ห้อ ผลิตภัณฑ์ของฝากสร้างชื่อให้ จ.พิษณุโลกมายาวนาน ปัจจุบันต่างพากันปรับตัวพัฒนาคุณภาพ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์อันทันสมัย ดัง "กล้วยตากนิตยา" แห่ง อ.บางกระทุ่ม ที่นำโดย "เจนวิทย์ จันทรา" ทายาทรุ่นลูก ซึ่งเร่งยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐาน ทั้งรสชาติที่อร่อยลิ้น จัดเต็มแพ็กเกจให้โดนใจตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่จะปิดเสรีในปี 2558
"เจนวิทย์ จันทรา" ย้อนอดีตให้ฟังว่า กล้วยตากนิตยา เป็นกิจการของครอบครัวเริ่มเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการผลิตแบบทั่วไป ขณะที่กลุ่มลูกค้าเป็นคนในพื้นที่ ต่อมาเมื่อผลิตจำหน่ายไปได้ระยะหนึ่งพบว่าลูกค้าเพิ่มขึ้น จึงขยายกิจการและทำระบบมาตรฐานการตากกล้วยในโดม โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเป็นระบบปิด มีการคัดเลือกกล้วยที่มีคุณภาพ เหมาะแก่การทำกล้วยตาก บวกกับการปรุงรสชาติที่หวานพอดี สะอาดถูกสุขอนามัย จึงเป็นที่นิยมของตลาด กระทั่ง ปี 2555 ผลิตภัณฑ์ "นิตยากล้วยตาก" ได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้าโอท็อป จ.พิษณุโลก
"วัตถุดิบหลักคือกล้วย เราหาซื้อในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเกษตรกรปลูกกันมาก จึงไม่ค่อยพบปัญหาวัตถุดิบขาดตลาด แต่เราจะเน้นการคัดเลือกกล้วยที่มีคุณภาพ การพัฒนาในแง่จะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานมากกว่า ทั้งเรื่องรสชาติ แพ็กเกจจิ้ง"
ผลิตภัณฑ์อร่อยแบรนด์ "นิตยากล้วยตาก" ประกอบด้วย กล้วยตากอบน้ำผึ้ง 60% และกล้วยน้ำว้าอบแห้ง 40% เจนวิทย์บอกว่า แต่ละปีมียอดขายสูงสุดช่วงเมษายน, ตุลาคม-มกราคม จำหน่ายตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่จากการตอบรับของลูกค้าเป็นอย่างดีและต่อเนื่องจึงเริ่มหาช่องทางจำหน่ายตลาดต่างประเทศ เป้าหมายคือกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะการเปิดเสรีอาเซียน ปี 2558 ดังนั้นจึงเน้นการผลิตที่ใช้ระบบจีเอพี (GMP) และเอชเอซีซีพี (HACCP) เพื่อเป็นแนวทางประกันคุณภาพสินค้าและยกระดับมาตรฐานการผลิต
ด้วยขั้นตอนการผลิตที่ใช้โดมตากกล้วย มีเครื่องจักรช่วยบางขั้นตอน มีการควบคุมคุณภาพ แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ผลิต ความสูญเสีย และต้นทุนการผลิต เป็นเหตุผลให้เจนวิทย์เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2555 และจากการเข้ารับการอบรม พบว่าต้องปรับแก้การสูญเสียของกล้วยในกระบวนการบ่มสุก ซึ่งพบเสียหายจากการบ่มคิดเป็นร้อยละ 10 เพราะกล้วยมีตำหนิทั้งจากการขนถ่าย หรือเป็นกล้วยอ่อน
เช่นเดียวกับการตากกล้วยไม่ได้คุณภาพ เกิดสีน้ำตาลไหม้ กล้วยผิดรูป มีตำหนิ ที่คิดเป็นร้อยละ 35 จึงปรับเปลี่ยนแล้วนำหลักการตากกล้วยด้วยตู้อบลมร้อนมาใช้ โดยออกแบบจุดวางพัดลมเพื่อให้อัตราการไหลของลมร้อนทั่วถึง คัดแยกกล้วยที่มีตำหนิ ฯลฯ
"ภายหลังปรับปรุงพบว่าลดการสูญเสียกล้วยตากที่ไม่ได้คุณภาพจากเดิมร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 21 ซึ่งนั่นหมายถึงลดต้นทุนของบริษัทลงด้วย" เจนวิทย์ แจง
อย่างไรก็ตาม แม้กิจกรรมจะบรรลุเป้าหมาย เจนวิทย์ ยืนยันจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการขยายตลาด ส่วนผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ติดต่อไปได้ที่ 59 หมู่ 7 ต.บางกระทุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก หรือโทร.08-6199-6911
--------------------------
(ทำมาหากิน : 'กล้วยตาก' ยอดโอท็อปท้องถิ่น ยกระดับผลิตมุ่งตลาดอาเซียน : โดย...ธานี กุลแพทย์)