
พลิกดินเค็มฟื้นชีวิตชาวอีสานภารกิจที่ต้องทำอย่างบูรณาการ
พลิกดินเค็มฟื้นชีวิตชาวอีสาน ภารกิจที่ต้องทำอย่างบูรณาการ : ดลมนัส กาเจรายงาน
หากเปรียบเทียบพื้นที่การเกษตรในประเทศไทย พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน มีพื้นที่การเกษตรถึง 60 ล้านไร่ ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย แต่มีอัตราการขยายตัวของผลผลิตด้านการเกษตรต่ำสุด เพราะมีปัญหาคุณภาพดินที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก โดยปัญหาดินเค็มมีถึง 17.8 ล้านไร่ หรือ 29% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งภาค คลุมพื้นที่ 18 จังหวัด 94 อำเภอ (ยกเว้น จ.เลย) ในจำนวนนี้มีพื้นที่ดินเค็มมาก 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สกลนคร มหาสารคาม และขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีพื้นที่มีศักยภาพในการแพร่เกลืออีก 19.4 ล้านไร่
จากปัญหาดังกล่าวกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาของดิน ได้ร่วมมือกับกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชน และท้องถิ่น เดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสาน เพื่อแก้ปัญหาดินเค็มอย่างบูรณาการ โดยยึดโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เป็นต้นแบบ หรือ "เมืองเพียโมเดล" และมีสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เป็นผู้รับผิดชอบ ล่าสุดกรมพัฒนาที่ดินได้ขยายผลการดำเนินโครงการบ้านชาติ หมู่ 5 ต.เปือยใหญ่ อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ซึ่งอดีตเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และดินเค็ม ถึงขนาดไม่สามารถปลูกพืชได้เลย
นางระเบียบ สละ เกษตรกรตัวอย่างในพื้นที่โครงการจาก อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดินเค็มผ่านเวทีสัมมนา “พลิกวิกฤต!!! ดินเค็มอีสาน” บ้านชาติ ต.เปือยใหญ่ อ.โนนศิลา ว่า เดิมชาวบ้านไม่สามารถจะปลูกพืชอะไรได้เลย นอกจากต้มเกลือ ทำให้ชาวบ้านต้องไปรับจ้างทั่วไป เห็นว่าที่ดินใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงขายไปส่วนหนึ่ง 15 ไร่ ในราคาไร่ละ 1,500 บาท กระทั่งปี 2549 เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินไปแนะนำการใช้ปุ๋ย ปลูกข้าวได้บ้างแต่ได้ผลน้อย จากนั้นไถกลบต่อซัง ปลูกพืชทนเค็ม จึงนำต้นโสนมาปลูก เก็บดอกขาย จนปี 2552 มีเจ้าหน้าที่จากบริษัท สยามฟอเรสทรี ไปส่งเสริมให้ปลูกต้นยูคาลิปตัส ครั้งแรกก็ไม่เชื่อ แต่ต่อมาชาวบ้านทดลองปรากฏว่าการปลูกต้นยูคาสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ระดับหนึ่ง
ด้าน นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ดินเค็มถือเป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญของการทำการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตพืช ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดในประเทศไทย แต่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าภาคอื่นๆ ที่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ปัญหาดินเค็ม แพร่กระจายอยู่ตามพื้นที่นาในจังหวัดต่างๆ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไม่ดีเท่าที่ควร จนเกิดการย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากใช้ที่ดินทำกินไม่ได้นั่นเอง ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนขึ้นมา ด้วยการจัดให้มีกิจกรรมในทุกๆ พื้นที่ เช่น พื้นที่เนินรับน้ำ จัดให้มีการปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วที่เป็นไม้เศรษฐกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริมพื้นที่ป่าและลดระดับน้ำใต้ดินเค็ม
ส่วนพื้นที่ดินเค็มมากถึงดินเค็มจัด มีการแก้ไขปัญหาโดยใช้ระบบวิศวกรรมเข้ามาช่วย พื้นที่ดินเค็มปานกลาง ฟื้นฟูโดยการปรับรูปแปลงร่วมกับการปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว พื้นที่ดินเค็มน้อยจัดให้มีการปรับรูปแปลงนาร่วมกับการใช้พืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการเกิดดินเค็ม วิธีการแก้ปัญหา ตลอดจนแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มด้วย ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น สามารถช่วยลดการแพร่กระจายดินเค็ม และฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกร จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้
ขณะที่ นายภิญโญ สุวรรณชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน รายงานถึงผลการดำเนินงานว่า ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ดำเนินการจัดการฟื้นฟูและพัฒนาที่พื้นที่ดินเค็มมาตลอด โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น มีดินเค็มถึง 768,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.บ้านไผ่ อ.โนนศิลา และอ.ชนบท ที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการปลูกไม้ยืนต้นทนเค็ม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 เริ่มจากพื้นที่ทุ่งเมืองเพีย ครอบคลุมพื้นที่ อ.บ้านไผ่ อ.โนนศิลา และอ.ชนบท พบสภาพปัญหาดินเค็มที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง รวมถึง อ.พระยืน และอ.บ้านแฮด ด้วย จากการดำเนินการทำให้เกษตรกรสามารถปลูกเพาะพืชได้มากกว่าถึง 3 เท่า อย่างการทำนาสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 150 กก./ไร่ เป็น 300 กก./ไร่
โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มภาคอีสาน นับเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามเดิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แต่หากปล่อยให้เป็นภาระของกรมพัฒนาที่ดินเพียงหน่วยเดียวที่งบประมาณจำกัด ยากต่อการที่จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างเร็ววัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ และทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม จึงจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้
3กิจกรรมพิชิตดินเค็ม
การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ตามรูปแบบ "เมืองเพียโมเดล" จะเน้น 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
1.กิจกรรมด้านวิศวกรรม
-การสร้างระบบระบายน้ำใต้ดิน (Sub drain)
-การสร้างท่อลอดระบายเกลือ (Open drain)
-การปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 1
2.กิจกรรมด้านพืช
2.1 พื้นที่ดินเค็มจัด
-ปลูกกระถินออสเตรเลีย
-ปลูกหญ้าดิ๊กซี่
2.2 พื้นที่ดินเค็มปานกลาง
-ปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา
-ไถกลบตอซังข้าว
-ปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน (โสนอัฟริกัน ปอเทือง ถั่วพุ่ม)
2.3 พื้นที่ดินเค็มน้อย
-ไถกลบตอซังข้าว
-ปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์
-ปลูกไม้เศรษฐกิจทนเค็ม ยูคาลิปตัส
3.กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี
มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม และจัดทำแปลงสาธิต ได้แก่ การปลูกถั่วพร้าบนคันนาเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร การปลูกโสนอัฟริกันเป็นพืชปุ๋ยสดแล้วปลูกข้าวหอมตาม การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อปลูกหน่อไม้ฝรั่ง การปลูกไม้ผลทนเค็ม ได้แก่ น้อยหน่า มะขามหวาน มะขามเทศ ขนุน และการใช้วัสดุปรับปรุงดินในการปรับปรุงดินเค็ม
................................
(หมายเหตุ : พลิกดินเค็มฟื้นชีวิตชาวอีสาน ภารกิจที่ต้องทำอย่างบูรณาการ : ดลมนัส กาเจรายงาน)