
ไขปัญหาฯ : ร่างกายหยางพร่อง
25 เม.ย. 2557
ไขปัญหาสุขภาพแผนจีน : ร่างกายหยางพร่อง : โดย...หมอไพร
หยาง หมายถึงหยางชี่ที่อยู่คู่ตรงข้ามกับยินชี่ที่กล่าวมาในตอนที่แล้ว ไม่เหมือนกัน อยู่ตรงข้ามกัน แต่อยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน แปรเปลี่ยนสู่กัน จะขาดกันและกันไม่ได้ หยางเป็นดวงอาทิตย์ มีความร้อน ความแห้ง ยินเป็นน้ำ เป็นความเย็น เป็นความชุ่มชื้น
หยางเป็นตัวแทนของความคึกคักมีชีวิตชีวา ความร้อน ความอบอุ่น ขึ้นบน ด้านขวา ภายนอก ผู้ชาย เป็นต้น
พลังหยาง มีเก็บในไต เคียงคู่กับพลังยิน เป็นฐานของพลังหยางของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย
หากมีพลังหยางที่เพียงพออวัยวะต่างๆ ในร่างกายจึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระดมสรรพกำลังในการทำงานได้อย่างคึกคัก มีเรี่ยวมีแรง มีชีวิตชีวา สดชื่นแจ่มใส แต่เมื่อใดที่พลังหยางถูกลดทอนลง ไม่มีแรงพอที่จะผลักดันการทำงานของอวัยวะต่างๆ ร่างกายจะแสดงอาการออกที่
กลัวหนาว มือเท้าเย็น เพราะหยางคือความร้อน ความอุ่น เมื่อหยางมีน้อยจึงกลัวความหนาว และมือเท้าเย็น
ชอบกินดื่มอาหารและเครื่องดื่มร้อนๆ ไม่ชอบดื่มน้ำ
เหนื่อยเพลียง่าย ขี้เซา ชอบง่วงนอน
ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หลั่งเร็ว มีบุตรยาก
ผู้หญิงประจำเดือนมาน้อย ปวดประจำเดือน มีบุตรยาก
ปัสสาวะมาก
ท้องร่วงง่าย กินอาหารหรือเครื่องดื่มเย็นๆ หน่อยจะท้องเสีย หรือถ่ายเหลว ถ่ายวันละหลายครั้ง ถ้าเย็นมากๆอาจถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง ไปเข้าห้องน้ำไม่ค่อยทัน คนทั่วไปมักคิดว่าติดเชื้อ จึงไปกินยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น ทำให้ร่างกายรับภาระในการขับพิษเปล่าๆ เป็นต้น
ลักษณะพิเศษของหยางพร่องคือหนาว กลัวหนาวเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อร่างกายหยางพร่อง ต้องเลือกบริโภคพืชผักที่มีฤทธิ์อุ่นร้อน เพื่อเสริมความอบอุ่นให้กับร่างกาย เช่น พริก พริกไทย เครื่องต้มยำ เครื่องเทศ ผักกุยไช่ เป็นต้น
หากว่าร่างกายหยางพร่อง มือเท้าเย็น กลัวหนาว เป็นประจำอยู่แล้ว ยังไปกินพืชผักที่มีฤทธิ์หนาวเย็น เช่น มะระ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ น้ำแข็ง ไอศกรีมร่างกายจะยิ่งกลัวหนาวมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้กระเพาะม้ามหนาวเย็น ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย ลมในท้องมาก ถ่ายเหลว ท้องร่วงบ่อย ที่เรียกกันว่า กรดไหลย้อนจะตามมา
หยางพร่องมักเป็นม้ามหยางและไตหยางพร่องร่วมกัน เริ่มแรกเป็นเพียงการเสียดุลของการทำงาเท่านั้น ในช่วงนี้หากได้มีการปรับความสมดุลได้ทันกาล จะกลับมาดังเดิมได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นานไม่ได้รับการแก้ไข จะลามไปถึงเซลล์ของอวัยวะนั้นได้รับความเสียหาย จนเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไตอักเสบเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ประสาทอ่อน นอนไม่หลับ เบาหวาน เป็นต้น