ไลฟ์สไตล์

เรื่อง (ความขัดแย้ง) ของ 'สองนครา'

เรื่อง (ความขัดแย้ง) ของ 'สองนครา'

12 เม.ย. 2557

คลีนิคคนรักบ้าน : เรื่อง (ความขัดแย้ง) ของ 'สองนครา' (The Tale of the Two Cities) (1) : โดย ... ดร.ภัทรพล

 
                            เมื่อผมมองเหตุการณ์ในบ้านหลังใหญ่ก็ได้แต่ทอดถอนใจ ยังสับสนมึนงงว่า เหตุการณ์จะจบลงกันอย่างไร ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ที่แน่ๆ ไม่เป็นผลดีต่อบ้านหลังใหญ่นี้แน่ เพราะผมเชื่อว่า ความขัดแย้ง (อาจ) นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารในที่สุด โดยหลังวันหยุด “ตรุษสงกรานต์" หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “นายกรัฐมนตรี" ผิด (กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯ สมช.) รวมทั้งจะมีการถอดถอน “ประธานสภา” และ “ประธานวุฒิสภา" ก็เท่ากับว่าแทบจะไม่เหลือใครบริหารบ้านเมืองอีกแล้ว 
 
                            หากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ แน่นอนครับบรรดากลุ่ม นปช. ก็จะรวมพลคน “เสื้อแดง” เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพราะไม่เชื่อมั่นใน “สถาบันตุลาการ" ทำให้ประเทศนี้ขาดความเป็น “นิติรัฐ” ซึ่งหมายถึงไม่มีใครเคารพยำเกรงใน “กฎหมาย" อีกต่อไป ก็จะมีการใช้ “กฎหมู่” นำกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ ตลอดจนปิดล้อมโครงข่ายระบบสาธารณูปโภค ทำแบบเดียวกันกับที่กลุ่ม กปปส.ทำ ได้ทำกันไม่มีผิดเพี้ยน จะต่างกันที่เหตุผลในการกล่าวอ้างและยุทธวิธีแนวทางการปฏิบัติและต่างกันที่ความรุนแรง
 
                            เป็นเรื่องที่น่าเศร้าครับ เพราะบรรดาคนที่อยู่ “พลพรรครักพระเจ้าอยู่หัว" ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างชัดเจน (ผมเชื่อว่ามีไม่น้อยกว่า 50 ล้านคน++) ที่แม้จะถูกคนข้างๆ บังคับให้เลือกข้าง แต่ยังก็ทำใจเลือกไม่ได้สักที เนื่องจากยอมรับไม่ได้ในบางส่วนของทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งยังไม่ชอบความรุนแรงในทุกรูปแบบ มิหนำซ้ำยังประณามผู้ที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง ที่เอาชีวิตของผู้คนที่บริสุทธิ์ รวมทั้งประเทศชาติ มายึดเป็นตัวประกัน
 
                            จะว่าไปแล้ว ผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย ล้วนแล้วแต่มีคดีที่ต้องต่อสู้ในศาลทั้งทางแพ่งและอาญากันหลายคดี จึงไม่มีใครยอมแพ้และแพ้ไม่ได้ เพราะรู้ดีว่า เมื่อกระบวนการพิจารณาตัดสินโทษในศาลสำเร็จเสร็จลง คงต้องติดคุกหัวโตทั้ง 2 ฝ่าย พูดง่ายๆ ครับว่า ผมไม่เห็นว่าใครดีกว่าใครครับ (เพราะล้วนแล้วแต่มีความดีความชั่วพอพอกัน) แต่ไม่ยุติธรรมกับคนส่วนใหญ่ครับ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤติครับ
 
                            ในสถานการณ์ที่สับสนอลหม่านเช่นนี้ ทำให้เกิดแนวคิดมากมายที่พยายามอธิบายในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนหลายฝ่ายที่เห็นถูกต้องตรงกันว่า เป็น “ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง" ที่ฝังรากลึกที่ฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจใหม่ ซึ่งเป็นขวัญใจของชนชั้นกรรมาชีพ ผู้ใช้แรงงาน แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่กุมชะตาบ้านเมืองทั้ง 2 ฝ่าย มีเพียงหยิบมือไม่กี่คนหรอกครับ จึงเป็นการต่อสู้ที่แพ้ไม่ได้ เพราะเป็นการต่อสู้ที่มีเดิมพันสูง ถึงขนาดที่ว่า หากใครพ่ายแพ้ไม่มีแผ่นดินจะอยู่กันเลยทีเดียว
 
                            ในส่วนตัวผมเชื่อใน “กฎแห่งกรรม" ครับ “ใครทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับผลกรรมนั้น” และผมเชื่อว่าประเทศคงไม่เป็นไรมากนัก อาจบอบช้ำบ้าง แต่จะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพราะเมื่อนานาอารยประเทศโดยรอบได้ก้าวเข้าสู่การค้าเสรีและเข้าสู่การเลือกตั้งเสรีในระบอบประชาธิปไตยภายใน 2 ปี ทุกอย่างต้องลงตัว เพราะเราเป็นเพียงประเทศเล็กๆ จึงไม่สามารถต้านทานกระแสโลกได้
 
                            มาถึงช่วงนี้ทำให้ผมนึกถึงงานวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมของ ชาร์ลส์ จอห์น ฮัฟแฟม ดิกคินส์ ที่ได้เกิดมาบนโลกสีน้ำเงินเล็กๆ ที่สับสนวุ่นวายใบนี้เมื่อ 200 ปีล่วงแล้ว (พ.ศ.2355) ที่เมืองแลนด์พอร์ท แฮมป์เชียร์ ประเทศ “อังกฤษ" ตลอดชีวิตของ “ดิกคินส์" ทำงานอย่างหนักแบบหามรุ่งหามค่ำในการรังสรรค์งานวรรณกรรมหลายชิ้นเพื่อรณรงค์ต่อต้านความชั่วร้ายของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พ.ศ.2402 (เมื่อ 150 ปีล่วงแล้ว) เขาได้ฝากงานวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมให้แก่โลก ชื่อ “เรื่องสองนครา” (The Tale of the Two Cities) งานวรรณกรรมชิ้นนี้เน้นหนักด้านจริยธรรม ความสำนึกผิด ความละอายต่อบาปและความรักชาติ 
 
                            ว่ากันว่า วรรณกรรมชิ้นเอกของโลกชิ้นนี้ได้รับเค้าเรื่องจากวรรณกรรมของ ทอมัส คาร์ลีลย์ เรื่อง “การปฏิวัติของฝรั่งเศส" อันเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสมัยนั้นระหว่าง พ.ศ.2318-2336 ตรงกับช่วงการปฏิวัติของ “อเมริกา” ไปถึงช่วงกลางของการปฏิวัติของ “ฝรั่งเศส" (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับช่วงเวลาเสีย “กรุงศรีอยุธยา" ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310) ช่างดูละม้ายคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่สับสนวุ่นวายของ “การปฏิรูปทางการเมือง" ซึ่งเป็นการเรียกร้องของ “มวลมหาประชาชน” ของ “นคราหนึ่ง" และ “การปฏิวัติประชาชน" ที่เป็นการเรียกร้องสิทธิของความเท่าเทียมของ “มวลชนคนเสื้อแดง" ของอีก “นคราหนึ่ง" ดังเช่นในปัจจุบันครับ
 
                            ท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ ก็คงไม่มีคำตอบหรอกครับ สำหรับทางออกของความขัดแย้งทางโครงสร้างของทั้ง “สองนครา" นี้ แต่อย่างไรเสียผมก็เชื่อว่า หลังสงครามย่อมมีสันติภาพที่งดงามเสมอ และก็ยังเชื่ออีกว่า ในความมืดมิดก็ย่อมมีความหวังของวันพรุ่งนี้ที่ย่อมดีกว่าวันนี้เสมอครับ ดังนั้น อย่ากังวลอะไรให้มาก กลับบ้านไปกราบขอพรบิดามารดา ครูบาอาจารย์และบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ไปเล่นสงกรานต์ตามประเพณีให้สนุก เดินทางโดยไม่ประมาท ขอให้โชคดีมีชัยกับปีใหม่ไทยครับ
 
 
 
 
---------------------------
 
(คลีนิคคนรักบ้าน : เรื่อง (ความขัดแย้ง) ของ 'สองนครา' (The Tale of the Two Cities) (1) : โดย ... ดร.ภัทรพล)