ไลฟ์สไตล์

แปรรูปข้าวหอม-กลยุทธ์สู้ตลาดส่งออก

แปรรูปข้าวหอม-กลยุทธ์สู้ตลาดส่งออก

09 เม.ย. 2557

ทำมาหากิน : แปรรูปข้าวหอมสู่ผลิตภัณฑ์ วิธีปรับกลยุทธ์สู้ตลาดส่งออก : โดย...ธานี กุลแพทย์

 
                         กิจการ "โรงสีข้าว" ที่บุกเบิกในคนรุ่นพ่อต่อเนื่องเกือบ 3 ทศวรรษในนาม บริษัท มุกดาธัญญทิพย์ จำกัด เมื่อมาถึงรุ่นลูก กลยุทธ์การตลาดก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจประเทศ จากธุรกิจค้าข้าวธรรมดาภายใต้แบรนด์ "นกคาบรวงข้าว" ได้ถูกยกระดับอีกขั้น ด้วยการแปรรูปสินค้าเพื่อทางเลือกของผู้บริโภค อีกทั้งมุ่งเน้นตลาดประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น 
 
                         นายวัชรินทร์ มุกดาประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มุกดาธัญญทิพย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งโดยคุณพ่อคือ นายวราวุฒิ มุกดาประเสริฐ เมื่อเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นธุรกิจโรงสีข้าวเล็กๆ ของครอบครัว ที่เริ่มกิจการด้วยรับบริการสีข้าวจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยใช้โรงงานที่อยู่ในบริเวณบ้านพักอาศัยดำเนินกิจการ ต่อเมื่อกิจการมีแนวโน้มดีขึ้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเพื่อนชาวนา ปี 2519 จึงย้ายโรงงานมาตั้งที่ 27 ถนนชยางกูร อ.เมือง จ.มุกดาหาร ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท กระทั่งถึงปัจจุบัน
 
                         โดย นายวัชรินทร์ บอกว่า ธุรกิจหลักของบริษัท คือโรงสีข้าว ต่อมาจึงปรับกลยุทธ์ด้วยรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากเกษตรกร นำมาสีเป็นข้าวสารติดแบรนด์ นกคาบรวงข้าว จำหน่ายยังตลาดมุกดาหาร จังหวัดใกล้เคียง กรุงเทพฯ และส่งออกไปยัง สปป.ลาว โดยผลิตเฉพาะข้าวหอมมะลิบรรจุกระสอบขนาด 12 กก. แต่เพราะบุคลากรขาดความรู้ด้านการตลาด อีกทั้งกฎระเบียบของบริษัทบางประการเป็นอุปสรรค ส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นๆได้
 
                         เหตุนี้ทำให้บริษัทเล็งเห็นความสำคัญ จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ตามนโยบาย 1 Province 1 Agro-Industrial Product ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต หนึ่งในโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะเห็นเป็นโอกาสที่จะช่วยหนุนให้ธุรกิจมีทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาวะของตลาด โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมประเทศที่จะเปิดเสรีอาเซียนปี 2558
 
                         "หลังเข้าร่วมโครงการก็มีการปรับปรุงกระบวนการทำความสะอาดข้าวเปลือก กระบวนการกะเทาะ การปรับตะแกรงแยกข้าวเปลือก กระบวนการขัดขาว กระบวนการขัดมัน และอื่นๆ" นายวัชรินทร์ กล่าว
 
                         พร้อมระบุว่า ทำให้บริษัทต้องหันมาวิเคราะห์ข้าวใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาคุณภาพข้าวยังไม่ได้มาตรฐานการส่งออกเท่าที่ควร เพราะมีสิ่งเจือปน และใช้วิธีตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งใช้เวลานาน บริษัทจึงเปลี่ยนเป็นการต้มแทน วิธีนี้ทำให้บริษัทเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ประมาณ 160 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นกำไรราว 12 ล้านบาทต่อปี หลังเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2550 ถึงปัจจุบัน
 
                         ส่วนการสร้างแบรนด์ "นกคาบรวงข้าว" ที่ปัจจุบันบริษัทได้พัฒนาเป็นข้าวหอมมะลิถุง ถุงละ 1 กก., 2 กก. และ 5 กก. แต่เดิมที่ผลิตขนาด 12 กก.เพื่อส่งออกไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม พม่าแล้ว ยังมีแผนส่งออกไปตลาดยุโรปและอเมริกาด้วย โดยจะมีการปรับกลยุทธ์พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ราคาสูงขึ้น เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มนี้ที่มุ่งเน้นเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้องงอก ข้าวสำเร็จรูป ในอนาคตอันใกล้
 
                         นายวัชรินทร์ ย้ำว่า การที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิยี่ห้อ "นกคาบรวงข้าว" ก้าวไกลสู่ตลาดยุโรปและอเมริกาได้นั้น สิ่งสำคัญที่บริษัทต้องเร่งพัฒนา คือ สินค้าต้องได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น GMP, HACCP, HALAL และ ISO 9000 เพราะจะตอบสนองความต้องการตลาดอาหารของประเทศในโซนนี้ได้
 
 
 
 
--------------------------
 
(ทำมาหากิน : แปรรูปข้าวหอมสู่ผลิตภัณฑ์ วิธีปรับกลยุทธ์สู้ตลาดส่งออก : โดย...ธานี กุลแพทย์)