ไลฟ์สไตล์

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกยางโทนใหญ่

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกยางโทนใหญ่

06 เม.ย. 2557

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกยางโทนใหญ่

 
                          หลักในการจำแนกชนิดนกยางสีขาว (egrets) ที่เจอได้ทั่วไปนั้น นักดูนกมักดูที่สีจงอยปากก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าปากสีเหลืองแสดงว่าไม่ใช่นกยางเปีย (Little Egret) แต่จะเป็นตัวไหนนั้นต้องดูรายละเอียดอื่นๆประกอบ หากมีขนาดตัวค่อนข้างเล็ก คออวบสั้น ก็จะเป็นนกยางควาย (Cattle Egret) ส่วนตัวที่มีขนาดใหญ่และคอยาวมากคือนกยางโทนใหญ่ (Great Egret) ตัวที่สัดส่วนอยู่กึ่งกลางระหว่างสองชนิดคือนกยางโทนน้อย (Intermediate Egret) แต่สีปากอย่างเดียวไม่ใช่จุดที่เชื่อถือได้เสมอไป เพราะปากของนกยางเหล่านี้สามารถเปลี่ยนจากสีหนึ่งไปเป็นอีกสีหนึ่งได้ ใครเจอนกยางโทนใหญ่ช่วงนี้อาจสังเกตเห็นว่าบางตัวมีปากสีดำ
 
                          จริงๆ แล้ว นกยางโทนน้อยเองก็มีปากสีดำในช่วงฤดูผสมพันธุ์ แต่เราไม่ค่อยจะมีโอกาสเห็นมันในชุดขนนี้ เพราะนกยางโทนน้อยเกือบทั้งหมดที่พบในไทยเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ ไม่ได้ทำรังวางไข่อย่างแพร่หลายเท่านกยางโทนใหญ่ ซึ่งช่วงนี้บางตัวผลัดขนเป็นชุดขนฤดูผสมพันธุ์แล้ว สังเกตได้จากปากที่มีสีดำสนิทแทนที่จะเป็นสีเหลือง แข้งสีแดงสดแทนที่จะเป็นสีดำสนิท ใบหน้าสีเขียวสด รวมทั้งมีขนยื่นยาวลงมาที่อกและหลัง
 
                          บางครั้งประชากรที่พบในไทยและเอเชียตะวันออก ซึ่งมีพฤติกรรมเหยียดคอขณะบิน (aerial stretch) ก็ถูกแยกชนิดออกมาเป็น Eastern Great Egret แต่หากพิจารณาความแตกต่างในชุดขนช่วงฤดูผสมพันธุ์แล้ว ประชากรตะวันตก (บางครั้งเรียก Western Great Egret) และตะวันออกแทบไม่ต่างกันเลย ประชากรที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆที่สุดพบในอเมริกา มีสีปากและแข้งต่างจากกลุ่มอื่นๆชัดเจน เพราะจงอยปากบนเท่านั้นที่จะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นดำ และมีแข้งสีดำตลอดทั้งปี ปัจจุบันจึงมักแยกชนิดออกมาเป็น American Egret
 
                          นกยางโทนใหญ่เป็นนกที่พบได้ง่ายทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่และตามชายฝั่งทะเล แต่รายงานการทำรังวางไข่มีเพียงบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง และพื้นที่ชุ่มน้ำทางภาคเหนือตอนล่างเท่านั้น อาหารหลักของมันคือปลาและสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ต่างจากญาติสนิทอย่างนกยางโทนน้อย ที่มักจับแมลงและสัตว์ขนาดเล็กตามกอหญ้าริมน้ำ นกยางโทนใหญ่ล่าเหยื่อโดยการยืนรอนิ่งๆในน้ำ บางครั้งมันจะเอียงคอเพื่อเล็งตำแหน่ง ก่อนจะพุ่งออกไปจับเหยื่ออย่างรวดเร็ว ด้วยลำคอที่แสนยาวซึ่งทำหน้าที่เหมือนสปริง
 
                          ในช่วงพีคของฤดูกาลจับคู่ ซึ่งเป็นระยะที่เรียกว่า “high breeding” นกยางโทนใหญ่จะมีพฤติกรรมแผ่ขนคลุมโคนหางออกเป็นพัดเหมือนนกยูงตัวผู้ ม่านตาก็จะเปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อนเป็นสีแดงก่ำ พวกมันมักใช้เวลาขณะเกาะกิ่งไม้ง่วนอยู่กับการจัดแต่งขน โดยใช้ซี่หวีที่เล็บอันเป็นลักษณะเด่นของนกกลุ่มนี้
 
 
--------------------------
 
นกยางโทนใหญ่
 
 
ชื่ออังกฤษ Great Egret
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Casmerodius albus (Linnaeus, 1758)
 
วงศ์ (Family) Ardeidae (วงศ์นกยาง)
 
อันดับ (Order) Ardeiformes (อันดับนกช้อนหอยและนกยาง)
 
 
--------------------------