
ฟื้นช่างฝีมือสู่โรงงาน'ฟอกหนัง'
01 เม.ย. 2557
ทำมาหากิน : ฟื้นช่างฝีมือสู่โรงงาน 'ฟอกหนัง' พัฒนาผลิตภัณฑ์รับตลาดเออีซี : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
แม้ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังไทยจะได้การยอมรับจากลูกค้าจากทั่วโลก แต่การขาดแคลนแรงงานกลายเป็นปัญหาจุกอกของผู้ประกอบการโรงงานฟอกหนัง ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยและวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการเร่งพัฒนาบุคลากรป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมฟอกหนังเพื่อรับมือการขาดแคลนแรงงานจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ด้วยการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า นับเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่นำไปสู่การแปรรูปหนังเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย อาทิ เครื่องหนัง กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เบาะรถยนต์ ของเล่น แคปซูลบรรจุยา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ
"ปัจจุบันมีโรงงานฟอกหนังประมาณ 180 แห่ง สามารถผลิตหนังฟอกได้ประมาณ 15,000 ตันต่อปี มีแรงงานประมาณ 8,000 คน ซึ่งปัญหาประการหนึ่งคือด้านการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือทั้งบุคลากร และนักออกแบบที่มีคุณภาพ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิต"
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวระหว่างลงนามความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยและวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการในการพัฒนาอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยรับเออีซี ณ ห้องประชุม วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ในการเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมฟอกหนัง โดยกสอ. มีบทบาทในการสนับสนุนและประสานงานระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังกับสถานศึกษา
ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ทำหน้าที่เป็นสถานปฏิบัติงานให้แก่นักศึกษา และรับนักศึกษาเข้าทำงานเมื่อจบการศึกษาและวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการทำหน้าที่ในการผลิตบุคลากรจากสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมฟอกหนัง โดยผู้เรียนจะได้เรียนเชิงทฤษฎีประมาณ 2 วัน และฝึกงานในโรงงาน 3 วัน ทั้งนี้ นักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานในโรงงานต่างๆ เมื่อจบการศึกษาแล้วการันตีได้ว่าจะมีงานรองรับอย่างแน่นอน โดยตั้งเป้าผลิตบุคลากรได้ปีละไม่ต่ำกว่า 50 คน
ปรานี คุรุเวฬุกรณ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยยอมรับว่าอุตสาหกรรมฟอกหนังถือเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรประเภทหนึ่ง โดยการนำหนังสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น โค กระบือ และจระเข้ เป็นต้น มาผลิตเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำหนังมาฟอกเพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ จึงส่งผลให้ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนบุคลากรในภาคการผลิต
"ขณะนี้อุตสาหกรรมฟอกหนังของไทยยังคงมีความต้องการแรงงานมีฝีมือในโรงงานอีกมาก ทั้งช่างฝีมือและนักออกแบบที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องเร่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมากยิ่งขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อาจมีการโยกย้ายแรงงานไปประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าเมื่อมีการเปิดเออีซี"
ด้าน ดร.อนันต์ งามสะอาด ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ กล่าวเสริมว่า วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการเป็นหนึ่งในสถานศึกษาเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขาที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมฟอกหนัง โดยเปิดสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมฟอกหนัง เพื่อการผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฟอกหนังโดยเฉพาะ โดยเปิดมากว่า 7 ปี มีนักศึกษาให้ความสนใจน้อยประมาณปีละ 25 คนเท่านั้น ทั้งๆ ที่จบออกไปแล้วมีงานทำแน่นอน
สำหรับผู้ประกอบการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปสนใจอุตสาหกรรมเครื่องหนังสอบถามข้อมูลได้ที่กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 ส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องหนัง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0-23678288 และ 0-2367 8253 ในวันและเวลาราชการ
---------------------
(ทำมาหากิน : ฟื้นช่างฝีมือสู่โรงงาน 'ฟอกหนัง' พัฒนาผลิตภัณฑ์รับตลาดเออีซี : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)