ไลฟ์สไตล์

สัมผัสความจริงโครงการกรีนฟาร์ม

สัมผัสความจริงโครงการกรีนฟาร์ม

23 มี.ค. 2557

ท่องโลกเกษตร : สัมผัสความจริงโครงการกรีนฟาร์ม ยกรีสอร์ทตั้งไว้ในฟาร์มกาญจนบุรี

 
                         ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน หากใครเดินผ่านฟาร์มสุกรขนาดใหญ่อยู่บนพื้นที่ 306 ไร่ "ฟาร์มกาญจนบุรี" ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ตั้งอยู่เลขที่ 85 หมู่ 4 ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี จะมีกลิ่นเหม็นของมูลสุกรมาแตะจมูกเป็นระยะๆ แม้จะไม่รุนแรงมากนักเหมือนฟาร์มสุกรย่าน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อ 20 ปีก่อนก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการทำลายกลิ่นอายของธรรมชาติอยู่บ้าง ต่างกับ "ฟาร์มกาญจนบุรี" ในวันนี้โดยสิ้นเชิง
 
                         วันนี้ของ "ฟาร์มกาญจนบุรี" หากมองจากภายนอกจะแลเห็นเห็นฟาร์มที่มีเขียวขจีด้วยแมกไม้นานาพรรณ เพียงย่างก้าวเข้าประตูสู่ฟาร์มจะมองเห็นทั้งสองฟากฝั่งถนนที่จะเข้าไปในฟาร์ม เต็มไปด้วยต้นปาล์มน้ำมันถูกปลูกไว้เรียงราย หากเหลือบตากวาดดูทัศนียภาพด้านซ้ายมือจะมีบ้านพักปลูกเรียงรายท่ามกลางแมกไม้ ถัดไปอีกนิดเป็นอาคารสำนักงาน ที่มีการจัดสวนหย่อมอย่างสวยงาม เห็นแล้วราวกับรีสอร์ทไม่มีผิด ทำให้แต่ละวันมีคนเข้าชมไม่ขาดสาย ไกลออกไปเป็นสวนไม้ผลโดยเฉพาะมะม่วง และปลายพื้นที่ด้านฟากซ้ายเป็นป่าสักทอง ที่สำคัญเมื่อเข้าไปภายในฟาร์มแล้วจะไม่มีกลิ่นเหมือนดั่งเก่าก่อน เนื่องจากซีพีเอฟได้นำโครงการฟาร์มสีเขียว (Green Farm) มาใช้ ทำให้ฟาร์มแห่งนี้ดูร่มรื่นและเป็นไปตามคอนเซ็ปต์ "ยกรีสอร์ทไว้ในฟาร์มหมู" ด้วยการจัดสวนหย่อมในฟาร์มที่ช่วยให้ภูมิทัศน์สวยงาม กำจัดกลิ่นและแมลง ด้วยไบโอก๊าซ และระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือนอย่างได้ผล
 
                         หากมองฟากซ้ายมือ จะเป็นโรงเรือนสำหรับแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์สุกรจำนวน 29 โรงเรือนมีแม่พันธุ์สุกร 3,400 ตัว พ่อพันธุ์อีก 70 ตัว ถัดมาเป็นโรงเรือนอนุบาล/ขุน จำนวน 20 โรงเรือน มีสุกรอยู่ 1.9 หมื่นตัว เป็นโรงเรือนระบบปิดหรืออีแวปทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีฟาร์มแห่งนี้ผลิตลูกสุกรปีละ 6.4 หมื่นหมื่นตัว, ผลิตสุกรพันธุ์ปีละ 1.32 หมื่นตัว และผลิตสุกรขุนปีละ 2.1 หมื่นตัว เป็นการจัดการการเลี้ยงเป็นระบบเข้าหมด-ออกหมด (All in-All out) ส่วนพื้นที่ระหว่างฟาร์มจะเป็นแปลงพืชผักสวนครัว ทำให้มองดูแล้วพื้นที่ภายในฟาร์มทุกตารางนิ้วนำไปทำประโยชน์แทบทั้งหมด
 
                         นสพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ บอกว่า ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นหนึ่งในกิจการที่สำคัญของซีพีเอฟ ที่มีพื้นที่ดำเนินการอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งมั่นพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมจากภายในฟาร์มเป็นอันดับแรก แล้วจึงต่อยอดสู่ภายนอกคือชุมชนรอบข้าง ด้วยการร่วมมือกันกับชาวชุมชนมาโดยตลอด ผ่านการรณรงค์ ดูแล รักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองสภาพแวดล้อม รวมทั้งการประยุกต์ใช้มาตรฐานสากลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟจึงได้พัฒนามาตรฐานขององค์กรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มสุกรของบริษัทสู่มาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม เป็นรายแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีกลุ่มธุรกิจสุกรเป็นต้นแบบ
 
                         "มาตรฐานฟาร์มสีเขียวในนิยามของซีพีเอฟ คือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีสภาพแวดล้อมที่สวยงามน่าอยู่ และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จากเป็นโรงเรือนเปิดดังเช่นที่เห็นอยู่ทั่วไป ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นเหม็นจากมูลสุกรและแมลงวันรบกวนทั้งตัวผู้ปฏิบัติงานเองและกระทบกับชุมชนใกล้เคียง จึงเป็นที่มาของการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาและการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ต่อมามีการปรับปรุงโรงเรือนสุกรให้เป็นโรงเรือนปิด เพื่อป้องกันแมลงและสัตว์อื่นเข้าไปรบกวน แต่ยังคงมีปัญหากลิ่นน้ำเสียและมูลสุกร จึงเกิดการพัฒนาแนวคิดในการทำระบบไบโอก๊าซเพื่อบำบัดของเสียจากมูลสุกรที่ทำให้ได้ก๊าซธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ลดการใช้ไฟได้มากกว่า 30%" นสพ.ดำเนิน กล่าว
 
                         สำหรับฟาร์มกาญจนบุรี เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2545 และเริ่มให้ผลผลิตในปีพ.ศ.2547 โดยวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นฟาร์มสุกรปลอดโรค พีอาร์อาร์เอส , ผลิตสุกรสุขภาพดี ลดการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เน้นการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน นอกจากนี้เพื่อเป็นฟาร์มตัวอย่างสำหรับการพัฒนาฟาร์มสุกรในอนาคต   ภายใต้แนวความคิดการสร้างฟาร์ม “ลงทุนสูง ประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ"
 
                         ช่วงที่ซีพีเอฟเริ่มดำเนินโครงการกรีนฟาร์มใหม่ๆ  นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอส บอกว่า โครงการกรีนฟาร์ม  จะเน้นการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานและใส่ใจชุมชนรอบข้าง ซึ่งประกอบด้วย  3 กระบวนการหลัก คือ หนึ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยระบบก๊าซชีวภาพ หรือไบโอก๊าซ และสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซมีเทน สาเหตุของภาวะโลกร้อน ได้มากถึง 170,721 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึงปีละ 851,800 ต้น นอกจากนั้นยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในแต่ละเดือนได้มากถึง 30-40% 
 
                         กระบวนการที่สอง การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการปลูกต้นไม้ ที่ดำเนินการมากว่า 19 ปี ตั้งแต่ปี 2535 นับถึงปัจจุบันซีพีเอฟได้ปลูกต้นไม้ในฟาร์มแล้วกว่า 1.4 แสนต้น ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวม 2,000 ไร่ และสามการลดกลิ่นด้วยระบบการฟอกอากาศ โดยนำรูปแบบจากประเทศเยอรมนีนีมาปรับปรุง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีกลิ่นรบกวนชุมชน ซึ่งจากการนำระบบนี้มาใช้พบว่าสามารถช่วยลดกลิ่นเหม็นและกลิ่นก๊าซแอมโมเนียได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
                         ปัจจุบันฟาร์มกาญจนบุรีสามารถผลิตก๊าซมีเทนจากมูลสุกรที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ประมาณ 2,500 ลบ.ม./วัน สามารถนำก๊าซที่ได้ไปใช้ เป็นเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์มเฉลี่ย 17 ชม./วัน/เครื่อง เครื่องยนต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 78,500 หน่วย (KWH)/เดือน คิดเป็นมูลค่าประหยัดได้ประมาณ 1.9 แสนบาท/เดือน หรือคิดเป็น 31% ของค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายทั้งหมด จากความสำเร็จของฟาร์มกาญจนบุรี ทางซีพีเอฟจึงใช้ฟาร์มกาญจนบุรีเป็นโมเดลและขยายฟาร์มกรีนของซีพีเอฟทั้ง 31 แห่งทั่วประเทศ
 
                         โครงการฟาร์มกรีนนับเป็นนวัตกรรมหนึ่งของซีพีเอฟที่สามารถพัฒนาระบบการเลี้ยงสุกร โดยมีหัวใจที่เน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่อาจมีต่อชุมชน ทำให้ฟาร์มเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
 
 
 
-------------------------
 
(ท่องโลกเกษตร : สัมผัสความจริงโครงการกรีนฟาร์ม ยกรีสอร์ทตั้งไว้ในฟาร์มกาญจนบุรี)