ไลฟ์สไตล์

มองนอกดูใน - ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ

มองนอกดูใน - ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ

24 มิ.ย. 2552

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จไปยังโรงละครกลางสวน ภัทราวดีเธียเตอร์ ทรงเป็นประธานเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์เรื่อง ‘ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ’ การแสดงเพลงร่วมสมัยที่ดัดแปลงจากนิทานล้านนา เรื่อง ล

เนื้อหากล่าวถึง การโฆษณา ชวนเชื่อ การสื่อสาร มีอิทธิพลมากล้น พ้นคณนา ความลุ่มหลง ความแค้น ความอาย การให้อภัย  ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย และเมื่อครูเล็ก ภัทราวดี หยิบวรรณกรรมเก่าแก่นี้มาทำใหม่ในแบบการแสดงร่วมสมัย จึงยิ่งทำให้ละครเรื่องนี้มีความหมายเข้ากับยุคสมัยได้มากยิ่งขึ้น

 “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย”
 เพื่อน-แพงปรารภกับพระพี่เลี้ยง นางรื่น นางโรย ถึงข่าวเล่าลือ สรรเสริญ เยินยอพระลอราช ผู้หล่อเหลา จนไม่มีชายใดในสามโลกเทียบทัน

 อยากพบ อยากสัมผัส อยากได้ อยากเห็น จนใช้มนต์คาถาปู่เจ้าสมิงพรายทำให้พระลอ ถึงกับ ทิ้งแม่ ทิ้งเมีย ดั้นด้นข้ามแม่น้ำกาหลง  มาเมืองสรอง เพื่อมาพบเพื่อนแพง พบแล้วก็หลงใหลในเสน่ห ์ไม่ยอมกลับบ้านกลับเมือง จนเจ้าย่า ผู้มีความอาฆาตแค้น  เพราะพระบิดาของพระลอ ฆ่าพระสวามีของพระนางตายในสนามรบ  นำทหารมาฆ่าตายทั้งสามกษัตริย์  ลิลิตพระลอ  จึงเป็นวรรณคดีที่มีเรื่องราวเข้มข้นน่าสนใจ ตีแผ่กิเลสของมนุษย์ ชวนให้นำไปคิด พิจารณา วิเคราะห์ วิจารณ์  ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปชมละครเรื่องนี้ เนื่องด้วยเป็นละครในมูลนิธิละครธรรมะในสังฆราชูปถัมภ์  ดูละครแล้วย้อนดูตัว คือการดูละครแล้วย้อนดูธรรมะในใจนั่นเอง

 ผู้เขียนลิลิตพระลอ ได้แทรกธรรมะไว้ในเนื้อหามากมาย อาทิ ชื่อ เพื่อนแพง รื่นโรย ล้วนหมายถึงของคู่ เหมือนจิตฟูและแฟบ เป็นต้น ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ได้ตีความธรรมะไว้ในบทละครเช่นกัน เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เช่น “ความรัก ที่สวยหรู หากมีเหตุมาจากความผิดศีลธรรม ยังไงๆ ก็ต้องได้รับผลของกรรม  เพราะตนเองนั่นแหละเป็นผู้กระทำ ไม่ต้องไปโทษใคร” 

 ครูเล็กนำเสนอแบบละครซ้อนละคร ที่มีตัวละครยุคใหม่ ดนตรีสมัยใหม่ รวมทั้งการนำศิลปินมือไวโอลินระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา มาเชื่อมโลกแห่งวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ยิ่งทำให้เรื่องราวธรรมะได้เข้าถึงคนยุคใหม่และนำมาใช้จริงในเหตุการณ์ยุคปัจจุบันได้ง่ายดายมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่อง ความรัก กับ ความหลง หรือ Love และ Sex ได้ถูกตีความไว้ด้วยการใช้ทั้งสัญลักษณ์ และคำสอนของผู้รู้ในบทสนทนา เช่น ไก่แก้ว คือเครื่องล่อ หรือตัวกระตุ้นเร้าให้หลง หรือมนต์ของปู่เจ้าสมิงพราย  เป็นต้น

 และท้ายสุด ผู้เขียนยังฝากเรื่องของหิริ หรือความละอายไว้กับเพื่อน-แพงเมื่อรู้ว่าลักลอบได้เสียกับชายที่มีเจ้าของแล้วถูกจับได้ ก็ยอมตายเสียดีกว่าจะอยู่กับความอาย ส่วนเจ้าย่าผู้ประกาศว่า ถ้าจะต้องอยู่กับความแค้นก็ประหนึ่งตายทั้งเป็นเช่นกัน เรื่องราวจึงนำไปสู่โศกนาฏกรรมแห่งความรักความหลง ผู้เขียนยังชี้ต่อไปถึงทางออกแห่งทุกข์ ว่าควรให้อภัยตนเองและผู้อื่น ด้วยการเข้าใจกฎแห่งธรรมชาติ นั่นคือกฎแห่งกรรม ทำสิ่งใด ได้สิ่งนั้น  ผู้เขียนใช้บทของ ’แม่’ แทนสัญลักษณ์ของ ‘พระธรรม’  ด้วยการที่พระนางบุญเหลือ พระมารดาของพระลอซึ่งสูญเสียลูก แต่ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร โดยใช้วรรคทองบรรยายว่า
 “ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง
 คงแต่บาปบุญยังเที่ยงแท้ 
 เป็นเงาติดตัวตรังตรึงแน่น อยู่นา
 ตามแต่บุญบาปแล้ ก่อเกื้อรักษา” 
 ละครเวทีร่วมสมัย ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ จึงท้าทายคนไทย ให้รักษาภาษาไทย วรรณกรรมไทย และธรรมะไว้ในหัวใจ  และในวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน ข้าพเจ้าจะนำคณะนิสิตสาวิกาสิกขาลัยเข้าร่วมชมละครเรื่องนี้ในรอบ 2 ทุ่มตรง พร้อมกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่อง ‘ดูละคร ย้อนดูใจ’

"ธรรมสวัสดี"