
ทำไมซัคเกอร์เบิร์กต้องซื้อ'วอทส์แอพ'
23 ก.พ. 2557
ทำไมซัคเกอร์เบิร์กต้องซื้อ'วอทส์แอพ'
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนุ่มสมองเปรื่องจากรั้วมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อย่างนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จะถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะผู้หนึ่งที่คิดค้นและปลุกปั้น "เฟซบุ๊ก" ให้กลายเป็นสื่อโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนสมาชิกกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกและยังมีเพิ่มเข้ามาทุกวัน
แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของพ่อหนุ่มซัคเคอร์เบิร์ก ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เฟซบุ๊ก อิงค์ กลับก่อให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากว่าทำไม เฟซบุ๊ก ต้องทุ่มเงินสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.7 แสนล้านบาท เข้าซื้อกิจการ "วอทส์แอพ" (WhatsApp) แพลทฟอร์มบริการส่งข้อความสั้นข้ามระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟน ซึ่งถือเป็นการซื้อกิจการที่ "มีราคาแพงมาก" ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไอทีครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
หลังจากสร้างข้อกังขาได้ไม่เกินข้ามคืน หนุ่มซัคเคอร์เบิร์ก ก็ออกมาเฉลยความจริงเป็นถ้อยแถลงแบบสบายๆตามสไตล์ผู้บริหารอายุน้อยที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ว่าการซื้อกิจการครั้งนี้เป็นการเปิดโลกให้กว้างขึ้นและเชื่อมโยงกันได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น เฟซบุ๊กทุ่มทุนในครั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนคอนเทนท์กับคนอื่นๆ ได้ตามประสงค์ วอทส์แอพ จะช่วยให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริงด้วยการพัฒนาบริการที่เป็นที่รักของประชาชนทั่วโลก
ซัคเคอร์เบิร์กบอกว่า วอทส์แอพ เป็นบริการที่เรียบง่าย รวดเร็วและเชื่อถือได้ ทั้งยังมีสมาชิกที่ดาวน์โหลดแอพและใช้บริการของวอทส์แอพในสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการหลักกว่า 450 ล้านคน ทั้งยังมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นราว 1 ล้านคนต่อวัน และเชื่อว่าจะมีสมาชิกครบ 1,000 ล้านคนได้อย่างแน่นอน
ในความเป็นจริง วอทส์แอพได้รับความนิยมในฐานะตัวแทนของการส่งเอสเอ็มเอสในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว จากรายงานของบริษัทวิจัยตลาดโทรศัพท์มือถือ "ยานา" ระบุว่าวอทส์แอพได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศอินเดีย บราซิล เม็กซิโก ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งในรายงานของ "ยานา" ก็ระบุด้วยว่าปริมาณการใช้งานเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ ที่เป็นบริการส่งข้อความสั้นข้ามแพลทฟอร์มระบบปฏิบัติการในสมาร์ทโฟนจากเฟซบุ๊ก อิงค์ มีผู้ใช้น้อยกว่ากันมากมายหลายร้อยเท่าในประเทศกำลังพัฒนาที่เอ่ยชื่อถึงนี้
ดูเหมือนว่านายซัคเคอร์เบิร์กจะหมายมั่นปั้นมือในการผลักดันวอทส์แอพให้มีศักดิ์ศรีมีผู้ใช้ให้มากขึ้นตามเป้าประสงค์ 1,000 ล้านคน แสดงถึงความมั่นใจของผู้บริหารหนุ่มรายนี้เป็นอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะว่ามีประสบการณ์ในการผลักดันเพิ่มยอดสมาชิกของ "อินสตาแกรม" ที่เฟซบุ๊ก เพิ่งเข้าซื้อกิจการเมื่อไม่นานจนเกินไปนัก ด้วยเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยใช้ทั้งเงินสดและหุ้นของเฟซบุ๊กเข้าแลกกับสมาชิกจำนวน 32 ล้านคนในเวลานั้น แต่ปัจจุบันอินสตาแกรมกลับมีสมาชิกเพิ่มเติมขึ้นอย่างมาก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเชื่อมโยงภาพถ่ายในอินสตาแกรมเข้าสู่หน้าเพจของเฟซบุ๊กได้ในทันที ทำให้การส่งสารของสมาชิกอินสตาแกรมทำได้อย่างง่ายดายและสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาล็อกอินเข้ามาซ้ำถึงสองครั้ง
ฐานกิจการของเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกกว่า 1,000 ล้านทั่วโลก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายซัคเคอร์เบิร์กมีความมั่นใจว่า เฟซบุ๊ก จะเป็นฐานให้กับบริการอื่นๆ เข้ามาร่วมให้บริการได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามนายยาน คุม ผู้ก่อตั้งวอทส์แอพ ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันกับนายซัคเคอร์เบิร์ก ว่าวอทส์แอพจะยังคงเป็นหน่วยธุรกิจอิสระที่มีเสรีในการบริหารงานต่อไปเช่นเดิม แม้ว่า นายคุม จะต้องเข้ารับตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการบริหารเฟซบุ๊ก อิงค์ อีกตำแหน่ง นั่นหมายความว่าบริการส่งข้อความสั้นผ่านแอพพลิเคชั่นตัวนี้จะยังคงให้บริการโดยปราศจากโฆษณาใดๆ มารบกวนสายตาผู้ใช้อยู่เช่นเดิม (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง)
แต่อย่าลืมเป็นเด็ดขาดว่ากิจการของเฟซบุ๊ก อิงค์ มีรายได้สำคัญมาจากการโฆษณาทั้งโฆษณาทางตรงที่ลูกค้าซื้อพื้นที่ในหน้าเพจ และโฆษณาที่เฟซบุ๊กจับใส่หน้าเพจของผู้ใช้โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ใช้เฟซบุ๊กแต่ละราย โดยรายได้จากโฆษณาในแต่ละปีที่เฟซบุ๊กสร้างได้ในระดับหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี
ที่สำคัญในเวลานี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กราว 945 ล้านคน จากสมาชิกทั้งหมด 1,230 ล้านคนใช้บริการเฟซบุ๊กผ่านทางสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ดังนั้นการเพิ่มบริการใหม่ๆ จากวอทส์แอพเข้าไปในอาณาจักรเฟซบุ๊กจึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญที่นายซัคเคอร์เบิร์กมองเห็นและมองไกลไปถึงอนาคตที่ผู้ใช้เกือบร้อยละร้อยใช้งานเฟซบุ๊กผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต
ขณะที่การเข้าซื้อกิจการวอทส์แอพซึ่งเป็น 1 ใน 3 เทพแห่งบริการส่งข้อความสั้นบนสมาร์ทโฟนและเเท็บเล็ต ที่มีฐานลูกค้าหลักอยู่ในตลาดประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจของโลก อย่าง อินเดีย และ บราซิล ที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,500 ล้านคน ที่ถือว่าเป็น "ว่าที่ลูกค้า" ที่จะเห็นโฆษณาของเฟซบุ๊กผ่านทางแอพพลิเคชั่น วอทส์แอพ ... แค่นี้ก็คุ้มแล้ว