
พลิกโฉมช่องทางตลาด 'กระจูดเลน้อย'
ทำมาหากิน : พลิกโฉมช่องทางตลาด 'กระจูดเลน้อย' ชูรูปแบบผลิตภัณฑ์หนึ่งเดียวในโลก : โดย...สุพิชฌาย์ รัตนะ
หากใครมีโอกาสได้มาเยือน "พัทลุง" หรือ "เมืองลุง" เชื่อได้ว่านักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ต้องควักกระเป๋าอุดหนุนของฝากผลิตภัณฑ์จาก "กระจูด" สินค้าที่สร้างชื่อและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่อาศัยอยู่รายรอบทะเลน้อย อ.ควนขนุน แหล่งผลิตใหญ่ของจังหวัดเป็นแน่แท้ แต่จะมีสักกี่คนที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้วิถีแห่งหัตถกรรมจักสานแบบถึงแก่น และเป็นเหตุให้หลายคนพลาดโอกาสช็อปสินค้ากระจูดคุณภาพดี ราคาถูก
ด้วยความนิยมและกระแสตตอบรับที่ดีทำให้มีผลิตภัณฑ์กระจูดวางจำหน่ายแทบทุกหัวระแหงไม่เฉพาะในถิ่นปักษ์ใต้เท่านั้น หากแต่สิ่งบ่งชี้ความต่างนั้นอาจต้องมองลึกไปถึงคุณภาพและดีไซน์ที่ว่ากันด้วยเรื่องความโดดเด่นและร่วมสมัยเพื่อชิงความเป็นผู้ครองตลาด
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายตรอกร่วมใจ (โรงฟาง) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง คือหนึ่งในผู้ผลิตกระจูดคุณภาพดี ราคาถูก ที่มีรูปแบบให้เลือกมากมาย หรือจะดีไซน์รูปแบบเองให้เป็นสินค้าหนึ่งเดียวในโลกกลาย เป็นเรื่องชิวชิวตามสไตล์วัยรุ่นยุคเทคโนโลยีเคลื่อนที่ ด้วยเพราะเข้าใจกระแสคน กระแสโลกที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาและยกระดับให้เดินขนานไปกับแฟชั่นยุคสมัยใหม่ทำให้รู้จักที่จะเรียนรู้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ทันยุคสมัยอยู่เสมอ
คล่อง ซุ่นเซ็ง หรือ "ป้าคล่อง" แกนนำคนสำคัญในการก่อตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายตรอกร่วมใจ (โรงฟาง) เล่าให้ฟังว่า ได้รวมกลุ่มสมาชิกก่อตั้งเป็นกลุ่มครั้งแรกเมื่อปี 2537 ด้วยจำนวนสมาชิกประมาณ 20 คนเริ่มต้นสานเสื่อกระจูด หรือ "สาดจูด" เรื่อยมาจนเป็นที่รู้จักก่อนขยับพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทันยุคสมัยมากขึ้น จึงได้เพิ่มจำนวนสมาชิกกลุ่มเพื่อให้สามารถรองรับออเดอร์สินค้า จวบจนปัจจุบันสมาชิกลุ่มอยู่ที่ 65 คนและยังเดินหน้าผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบให้เลือกสรร
เมื่อกระแสการตอบรับผลิตภัณฑ์กระจูดดี ทำให้มีผู้ผลิตมากขึ้นตลาดจึงเกิดการแข่งขันทั้งรูปแบบ ดีไซน์ โดยเฉพาะด้านราคาขณะที่คุณภาพถูกมองข้าม จึงไม่แปลกที่จะเห็นผลิตภัณฑ์แบบซ้ำๆ ทั้งกระเป๋า กระบุง พัด เสื่อ หมวก เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากต้นทุนองค์ความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่ในสายเลือดชาวบ้านย่านแถบนี้อยู่แล้ว เมื่อมีการส่งเสริมให้เป็นช่องทางทำกินเสรี จึงหนีไม่พ้นปัญหาสินค้าล้นตลาดอย่างไร้ทิศทาง
"สินค้าที่ออกสู่ตลาดมากเกินไปกลายเป็นอุปสรรคในการควบคุมคุณภาพ สิ่งเดียวที่ผู้ผลิตจะอยู่รอดได้ยั่งยืนคือสร้างความประทับใจให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าจากแหล่งผลิต ด้วยเหตุผลนี้สินค้าของกลุ่มจึงเน้นรักษาคุณภาพและพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด"
ป้าคล่องยังบอกอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มต้องหาเวลาเรียนรู้ไอเดียเพื่อเพิ่มทักษะการจักสานให้สมาชิกอยู่เสมอ โดยเฉพาะการแสวงหารูปแบบและดีไซน์ใหม่ๆ จากแฟชั่นความนิยมของสังคม โดยจะมีทีมงานที่ดูแลด้านนี้เป็นพิเศษเพื่อเกาะติดความนิยมสังคมสมัยใหม่มาบอกกล่าวแก่สมาชิกเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตกยุค และที่สำคัญปัจจุบันได้เพิ่มทางเลือกใหม่เพื่อฉีกหนีไปอีกขั้น ด้วยการรับออเดอร์ทำผลิตภัณฑ์หนึ่งเดียวในโลกเพื่อเอาใจคนรักงานจักสานที่ไม่ซ้ำแบบใคร
"สมาชิก 65 คนสามารถจักสานได้ทุกคนและที่สำคัญองค์ความรู้ไม่เป็นรองใคร อย่างในวันนี้เราพร้อมที่จะเปิดรับออเดอร์สินค้าเฉพาะกิจที่สั่งทำพิเศษใบเดียวในโลก โดยก่อนทำอาจต้องนำแบบหรือลวดลายที่ต้องการมาสรุปร่วมกัน หากเป็นที่ถูกใจนัดวันรับสินค้าได้เลยทันที" ป้าคล่องกล่าวด้วยความมั่นใจ
ผลิตภัณฑ์หนึ่งเดียวใจโลกในสไตล์ลวดลายที่ไม้ซ้ำแบบใคร นับเป็นอีกทางเลือกในการทำตลาดสินค้าแปรรูปจากกระจูด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของ จ.พัทลุง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญและสร้างความภูมิใจให้กลุ่มนอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ารายใหญ่แล้ว พร้อมกันนี้กลุ่มยังมีการเปิดบ้านเลขที่ 221 หมู่ 9 ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาชมการผลิตหัตถกรรมกระจูด และได้เรียนรู้กระบวนการผลิตกระจูดครบครันทุกขั้นตอน และที่เป็นไฮไลท์สำคัญคือ เมื่อมาเยือนถึงแหล่งผลิตก็จะได้สินค้าคุณภาพดี ราคาถูกติดไม้ติดมือกลับไปแน่นอน หรือหากสนใจสอบถามรายละเอียดก่อนได้ที่โทร.0-7468-5299 หรือ 08-2428-7616 ได้ทันที
------------------------
ขั้นตอนการแปรูปกระจูด
สำหรับการเตรียมกระจูดของชาวบ้านทะเลน้อย เริ่มจากนำกระจูดมาคัดเลือกหรือแยกความสั้นยาว โดยนำกระจูดมาจับทีละกำป่า หรืออาจจุมากน้อยกว่าเล็กน้อยมาวางในแนวตั้ง แล้วดึงต้นกระจูดที่ยาวออกไปรวมไว้อีกแห่งหนึ่ง เรียกการคัดเลือกกระจูดโดยวิธีนี้ว่า "โซะกระจูด" ใช้มีดตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก นำกระจูดที่คัดเลือกแล้วคลุกน้ำโคลนดินสอในรางน้ำที่เตรียมไว้เมื่อได้ที่แล้วนำมาตากแห้งประมาณ 2-3 วัน แล้วเก็บเข้าที่เก็บไว้ 4-5 วัน เพื่อให้ต้นกระจูดคลายตัว
เมื่อจะใช้ก็เอากระจูดไปตากน้ำค้าง 1 คืน เพื่อให้ต้นกระจูดลื่นสะดวกในการทิ่ม จากนั้นนำไปทิ่มหรือทุบทีละมัด โดยนำไปวางบนแท่งไม้สี่เหลี่ยม ทิ่มหรือทุบให้แบนด้วยสากตำข้าวหัวตัด การทิ่มจะทิ่มคนเดียวหรือสองคนก็ได้แล้วแต่สะดวก โดยใช้เท้าทั้งสองเหยียบมัดกระจูดไว้เดินหน้า ถอยหลัง ทิ่มจนกระจูดแบนตามต้องการ จากนั้นก็แก้มัดออก ปอกกาบโคนของลำต้นทิ้งแล้วเก็บเข้าที่ไว้สานต่อไป
ส่วนกระบวนการสานนำต้นกระจูดที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้วมาสานเป็นลายต่างๆ ตามความต้องการของผู้สาน โดยปกติจะสานด้วยลายสอง ถ้าสานเป็นเสื่อจะเริ่มต้นจากริม คือตั้งต้นจากปลายตอกด้านใดด้านหนึ่งไปจนสุดปลายตอกอีกด้านหนึ่ง แต่ถ้าเป็นภาชนะ เช่น กระสอบนั่ง จะเริ่มต้นจากกึ่งกลางของตอก ท่านั่งสานที่สะดวก คือ นั่งขัดสมาธิและนั่งชันเข่าข้างเดียว เมื่อสานต้องให้ปลายต้นกับโคนต้นสลับกัน มิฉะนั้นจะทำให้เสียรูปได้ เทคนิควิธีสานจะแตกต่างกันตามรูปแบบและชนิดของผลิตภัณฑ์และถนัดของผู้สาน โดยเฉพาะเสื่อที่หมู่บ้านทะเลน้อยนี้มีสานเป็นลายต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 ลาย โดยลายที่นิยมสานกันมากที่สุด คือ ลายสอง
------------------------
(ทำมาหากิน : พลิกโฉมช่องทางตลาด 'กระจูดเลน้อย' ชูรูปแบบผลิตภัณฑ์หนึ่งเดียวในโลก : โดย...สุพิชฌาย์ รัตนะ)