ไลฟ์สไตล์

ตะลึงงัน'เอลลอรา'มหาวิมานเพชรตัดเพชร!

ตะลึงงัน'เอลลอรา'มหาวิมานเพชรตัดเพชร!

09 ก.พ. 2557

ตะลึงงัน'เอลลอรา'มหาวิมานเพชรตัดเพชร! : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...เรื่องและภาพ...ธีรภาพ โลหิตกุล

 
 
 
ตะลึงงัน\'เอลลอรา\'มหาวิมานเพชรตัดเพชร!    ตะลึงงัน\'เอลลอรา\'มหาวิมานเพชรตัดเพชร!
 
 
                 การเดินทางเปิดโลกให้เราเห็นกันจะจะ สมัยยังเป็นนักสัญจรวัยละอ่อน แค่ไปเห็นมวลมหาเจติยา หรือเหล่าเจดีย์ในเมืองเก่าสุโขทัย - ศรีสัชนาลัย ผมเพ้อฝันไปว่าคงจะหาแดนดินใดในปฐพี ที่จะมียอดเจดีย์พุ่งเสียดฟ้าดารดาษ มากมายมหาศาลเท่าที่นี่...ไม่มีอีกแล้ว ก่อนจะไปยืนอึ้งเหมือนคนหลงทางอยู่กลางป่าเจดีย์แห่งอดีตอาณาจักรพุกามในพม่า เจ้าของสมญา “แดนเจดีย์สี่พันองค์” ครั้นต่อมาเริ่มบินไกล ไปยืนแหงนหน้าคอตั้งบ่า ยลมหาปราสาทนครวัดในกัมพูชา เจ้าของสถิติเทวสถานศิลาที่มีขนาดใหญ่โตโอฬารที่สุดในโลก ก็คิดไปเองว่าชาวขะแมร์น่าจะเป็นชนชาติที่เกิดมาทำงานยากๆ อย่างงานทุบหินเก่งที่สุดอีก
 
                 จนกระทั่งได้ไปเยือน “วิมานไกรลาส” ในกลุ่มถ้ำเอลลอรา เมืองออรังกาบาด รัฐมหาราษฏระของอินเดีย ความเชื่อเดิมๆ ก็ถูกสั่นคลอนอีกครั้ง เปล่าเลย! วิมานไกรลาสมิใช่เทวสถานที่มีขนาดใหญ่โตมโหระทึก เกินหน้ามหาปราสาทนครวัด จะว่าไปก็ประมาณปราสาทหินพิมายที่โคราช ซึ่งมีขนาดไล่เลี่ยกับซุ้มประตูหรือ “โคปุระ” ด้านหนึ่งของนครวัดเท่านั้น 
 
                 แต่เรื่องของเรื่องคือนครวัดสร้างด้วยกลวิธีตัดหินทรายมาประกอบเป็นตัวอาคาร ความน่าทึ่งอยู่ที่มีขนาดใหญ่มากแล้วยังแกะสลักลวดลายลงบนหินอย่างอลังการสุดๆ ทว่า วิมานไกรลาสนั้น มหาราชาแห่งชมพูทวีปเห็นภูเขาหินรูปทรงสวยงาม ก็อยากนิรมิตให้เป็นทิพยวิมานถวายแด่พระศิวะมหาเทพที่ท่านเทิดทูนบูชา ด้วยการขุด เจาะ ตัด แต่ง สลักเสลาภูเขาหินให้กลายเป็นเทวาลัยตามปรารถนา
 
                 คุณพระช่วย! ตัดหินเป็นก้อนแล้วนำไปเรียงเป็นปราสาทอย่างนครวัด...ก็ว่ายากแล้ว ยากชนิดที่สถาปนิกและวิศวกรแห่งยุคดิจิตอลยังหาคำตอบไม่ได้ ว่าการสร้างอาคารขนาดยักษ์เช่นนั้น ช่างและสถาปนิกโบราณใช้วัสดุอะไรในการทำ “พิมพ์เขียว” (Blue Print) สำหรับการกำหนดแบบ แต่ที่เอลลอรา การวางแผนขุด เจาะ ตัด แต่งภูเขาหินทั้งลูกนั้น จัดเป็นงานมหาหินเสียยิ่งกว่า สถาปนิกต้องวางแผนอย่างดีเยี่ยม ว่าตรงไหนจะเป็นซุ้มประตู ตรงไหนจะเป็นวิหารประธานที่ประดิษฐานรูปเคารพศิวลึงค์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของโลก ของจักรวาล และของเทวสถาน 
 
                 พูดง่ายๆ ว่าออกแบบให้ตรงไหนเป็นอะไร ก็เว้นไม่ขุดหินตรงนั้นทิ้ง แล้วมาสลักเสลาเป็นอาคารตามต้องการ ซึ่งหากขุดเจาะหินพลาดไปนิดเดียว ก็เป็นอันต้องแก้แบบแปลนใหม่ หรือไม่ช่างคนนั้นก็ต้องถูกลงโทษหรือไปตายเสีย
 
 
ตะลึงงัน\'เอลลอรา\'มหาวิมานเพชรตัดเพชร!    ตะลึงงัน\'เอลลอรา\'มหาวิมานเพชรตัดเพชร!
 
 
 
                 แต่ถึงแม้ว่ารูปทรงวิมานไกรลาสจะเล็กกว่านครวัดมาก แต่ก็มีหน้ากว้างถึงราว 50 เมตร ความยาวราว 100 เมตร และมีความลึกถึง 40 เมตร พอๆ กับตึก 13 ชั้น ทั้งยังมิได้เป็นอาคารหลังเดียวโดดๆ หากแต่มีปรางค์ประธานแล้ว ยังมีปรางค์บริวาร มีระเบียง มีห้องมีหับ มีวิหารคด มีบันไดลดหลั่นเป็นชั้นเชิง มีแม้กระทั่งชายคากันแดดกันฝน รวมถึงประติมากรรมรูปสัตว์มงคล และภาพแกะสลักเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพเจ้า (เทพปกรณัม) และเรื่องราวในมหากาพย์ฮินดูอย่าง “รามายณะ” ครบครันอย่างที่เทวสถานชั้นเลิศจะพึงมี  เพียงแต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ขุด เจาะ ตัด แต่ง สลักเสลาจากภูเขาหินทั้งลูก แม้แต่เสาหินแบบเสาอโศกกลางลานประทักษิณ ก็เป็นเสาแกะสลักทั้งต้น  
 
                 กล่าวได้ว่าเป็นงานก่อสร้างอาคารโดยไม่ต้องทำ “นั่งร้าน” ที่มหัศจรรย์พันลึกที่สุด คิดไม่ออก บอกไม่ถูกเลยว่าช่างอินเดียต้องมีจินตนาการในการออกแบบ อย่างแยบยลและล้ำลึกเพียงใด หันไปดูองค์ประกอบอื่นในเชิงเปรียบเทียบกับนครวัดแบบหมัดต่อหมัด หรือที่วงการกีฬาว่า “เฮดทูเฮด” ก็ยิ่งน่าทึ่ง เรื่องแรกคือประเภทของหิน นครวัดนั้นตัดหินทรายมาสร้าง หินทรายมีคุณสมบัติเยี่ยมตรงที่มีความละเอียด แต่แข็งแกร่งและเหนียวในตัว ตัดหรือสกัดแล้วไม่ร่วนซุย เหมาะสำหรับการแกะสลักลวดลายอันละเอียดอ่อน แต่ภูเขาหินที่นิรมิตเป็นวิมานไกรลาสนั้น นักธรณีวิทยาจัดอยู่ในจำพวก หินบะซอลต์ภูเขาไฟ (Volcanic basalt rock) ซึ่งแม้จะแข็งแกร่ง แต่แกะสลักยาก หากช่างลงสิ่วแรงไปนิด ก็จะแตกหักได้ง่ายกว่า 
 
                 เรื่องต่อมา อายุอานามของนครวัดราว 900 ปี แน่นอนว่ายังไม่มีเทคโนโลยีอย่างเครน หรือปั้นจั่นมาช่วย สร้างด้วยภูมิปัญญา “อนาล็อก” โบราณขนานแท้ แต่วิมานไกรลาสยิ่งกว่านั้น คือสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-13 คือราว 1,200-1,500 ปีมาแล้ว จึงไม่ต้องพูดถึงนวัตกรรมการขุด เจาะ ตัด แต่งหินด้วยแสงเลเซอร์อย่างปัจจุบันสมัย        
 
 
 
ตะลึงงัน\'เอลลอรา\'มหาวิมานเพชรตัดเพชร!    ตะลึงงัน\'เอลลอรา\'มหาวิมานเพชรตัดเพชร!        
 
                 เพียงแต่นครวัดโดดเด่นด้วยขนาดใหญ่โต กับลวดลายจำหลักวิลิสมาหรา เลยได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในรอบพันปีไปก่อน แต่ต่อมาเมื่อคนหันมาเชื่อถือการขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การยูเนสโกมากกว่า กลุ่มถ้ำเอลลอรา และอชันตา ได้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2526 ถือเป็นแหล่งมรดกโลกยุคแรกๆ ของโลก จากนั้นอีกเกือบสิบปีต่อมา คือปี 2535 นครวัดจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามมา
 
                 ย้อนกลับไปดูสักนิด ว่ามหาราชาองค์ใดกันหนา หาญกล้าสร้างงานมหาหินอย่าง “วิมานไกรลาส” มีหลักฐานระบุว่าสร้างโดยพระเจ้ากฤษณะที่ 1 แห่งราชวงศ์ราษฏระกูฏ (The Rashtrakutas Dynasty) ช่วงพ.ศ.1300-1316 หรือราว 1,200 กว่าปีมาแล้ว เป็นคูหาถ้ำหมายเลข 16 จากจำนวน 34 คูหา ณ กลุ่มถ้ำเอลลอรา แห่งเทือกเขาจรนันทรี เมืองออรังกาบาด ซึ่งมีทั้งถ้ำพุทธ ถ้ำฮินดู และถ้ำในศาสนาเชน แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า เทวสถานวิมานไกรลาสของฝ่ายฮินดูนั้นมีขนาดใหญ่โตที่สุด และแทบจะไม่เป็นถ้ำเพราะสร้างโดยขุดเจาะภูเขาหินทั้งลูกดังกล่าวมาแล้ว สะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งของแผ่นดินในยามนั้น  และบ่งบอกว่ามหาราชากฤษณะที่ 1 ทรงจงรักภักดีต่อพระศิวะมหาเทพเพียงใด ที่สำคัญคือ ภูมิปัญญาในการขุดเจาะภูเขาหินเป็นคูหาถ้ำนั้น ริเริ่มโดยฝ่ายพุทธนิกายมหายาน ส่วนใหญ่คูหาหนึ่งก็ประมาณโบสถ์วิหารหลังย่อมๆ หนึ่งหลัง ฝ่ายฮินดูมาทีหลัง จึงสร้างทำให้โอฬารตระการตาขนาดสนามฟุตบอลกันไปเลย 
 
                 ที่น่าสนใจคือช่วงปีที่มหาราชาแห่งอินเดียสร้างวิมานไกรลาส พ.ศ.1300-1316 นั้น กษัตริย์กัมพูชาเพิ่งเริ่มสร้างเทวสถานขนาดเล็กๆ ยังมิได้เริ่มต้นสร้างศาสนสถานบนฐานเป็นชั้นๆ ที่มีขนาดใหญ่โตอย่าง ปราสาทบาเค็ง บาปวน ฯลฯ ซึ่งกว่าจะพัฒนาถึงขีดสุด คือปราสาทนครวัด ก็ปาเข้าไปถึงพ.ศ.1656 แล้ว 
 
                 งานนี้ไม่เรียก เพชรตัดเพชร หรือ หินตัดหิน ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรดี เปรียบเทียบข้อมูลอย่างนี้ มิได้หมายจะมา “อวย” ว่าใครเยี่ยมยอดกว่าใคร เพียงแต่ผมศึกษาข้อมูล เพื่อสอนใจตนเองว่า อย่าได้สรุปหรือคาดเดาอะไรแบบเหมาเข่งกันง่ายๆ เดี๋ยวโลกจะหัวเราะเยาะเอา
 
 
 
..........................
 
(ตะลึงงัน'เอลลอรา'มหาวิมานเพชรตัดเพชร! : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...เรื่องและภาพ...ธีรภาพ โลหิตกุล )