Lifestyle

นกอีเสือหลังแดงตะโพกเทา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกอีเสือหลังแดงตะโพกเทา : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

 
                 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบหลายเดือน คือการปรากฏตัวของ Bay-backed Shrike นกชนิดใหม่ของประเทศไทย จุดเริ่มต้นของเสียงฮือฮามาจากภาพถ่ายของคุณปีเตอร์ อีริคสัน บนเฟซบุ๊ก โดยถ่ายได้ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมานี้เอง ล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลนกได้ข้อสรุปชื่อไทยอย่างเป็นทางการแล้วว่า “นกอีเสือหลังแดงตะโพกเทา”
 
                 จริงๆ แล้วนกตัวนี้ถูกพบมาตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ แต่ถูกเข้าใจว่าเป็น นกอีเสือหลังแดง (Burmese Shrike)อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจผิดดังกล่าวหาใช่ครั้งแรกไม่ รายงานนี้ทำให้นักดูนกหลายคนลองย้อนกลับไปเช็กภาพของ “นกอีเสือหลังแดง” ที่มีการถ่ายได้ในประเทศไทย แล้วก็ไม่ผิดหวังครับ คุณสมิทธิ์ สุติบุตร์ ค้นเจอว่านกอีเสือหลังแดงตะโพกเทานั้นเคยถูกถ่ายภาพไว้ได้ที่สถานตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2552 โดยคุณวิทวัส นวลอินทร์ เท่ากับว่าเมืองไทยมีรายงานนกชนิดนี้แล้วถึงสองครั้ง !
 
                 ลักษณะภายนอกที่ต่างกันชัดเจนของนกอีเสือหลังแดงทั้งสองชนิดคือสีตะโพก อันเป็นที่มาของชื่อไทยนกอีเสือชนิดใหม่ ตะโพกของนกอีเสือหลังแดงที่เจอกันบ่อยๆ ในประเทศไทยนั้นเป็นสีน้ำตาลแดงเช่นเดียวกับสีหลัง จุดอื่นๆ ที่ต่างกันได้แก่ สีเทาบนกระหม่อม ซึ่งของนกอีเสือหลังแดงจะเข้มกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน สีเทาบนกระหม่อมของเจ้าตะโพกเทาไล่จากอ่อนมากๆที่บริเวณหน้าผาก ไปจนถึงเทาเข้มที่บริเวณท้ายทอย
 
                 ในขณะที่นกอีเสือหลังแดงมีลำตัวด้านล่างสีขาวโพลน หรือบางตัวอาจมีน้ำตาลอมส้มที่ใต้ท้องและก้น นกอีเสือหลังแดงตะโพกเทาจะมีสีส้มเฉพาะบริเวณสีข้างเท่านั้น ก้นของมันเป็นสีขาวเสมอ นอกจากนี้แต้มสีขาวที่ปีกของนกอีเสือหลังแดงตะโพกเทายังกว้างกว่าอีกด้วย ขณะบินจะเห็นแถบสีขาวขนาดใหญ่ที่ปีก
 
                 ตัวที่แหลมผักเบี้ยนี้มีสีสันโดยรวมค่อนข้างจาง ที่หน้าผากและหัวตามีสีขาวเปรอะ เป็นลักษณะของนกที่ยังโตไม่เต็มวัย ต่างจากตัวเต็มวัยที่จะมีหน้าผากสีดำ และมีสีสันเข้มสด นกอีเสือหลังแดงตะโพกเทาไม่ได้เป็นเพียงนกชนิดใหม่สำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นนกใหม่สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย การเจอนกชนิดนี้ในประเทศไทยเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายพอสมควร เพราะมันเป็นนกประจำถิ่นในประเทศอินเดีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน มีเพียงประชากรบางส่วนที่ทำรังในแถบตะวันตกเฉียงเหนือเท่านั้นที่เป็นนกอพยพ
 
 
 
นกอีเสือหลังแดงตะโพกเทา
 
ชื่ออังกฤษ Bay-backed Shrike
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lanius vittatus(Valenciennes, 1826)
วงศ์ (Family) Laniidae (วงศ์นกอีเสือ)
อันดับ (Order) Passeriformes (อันดับนกเกาะคอน)
 
 
 
..........................
 
(นกอีเสือหลังแดงตะโพกเทา : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ