เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 เวลา 23.40 น. ที่สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา(สสอ.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน อ.ก.พ.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำหน้าที่อ.ก.พ.กระทรวง ซึ่งมีการพิจารณาวาระลับตามระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นการพิจารณาโทษทางวินัย ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสกศ.กรณีเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์อาชีวศึกษา โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (SP2) : ไทยเข้มแข็ง 2555 สูญหายและส่อว่าจะเกิดความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์โครงการดังกล่าว ซึ่งใช้เวลานานกว่า 10 ชั่วโมง ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม อ.ก.พ.สกศ.เห็นร่วมกันและมีมติเอกฉันท์ให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงไปสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกร้องให้เกิดความชัดเจน ครบถ้วนสมบูรณ์
"เพราะคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ที่มีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธาน ได้เสนอโทษขั้นร้ายแรง คือ ให้ลงโทษ ดร.ศศิธารา โดยปลดออกจากราชการ เพราะฉะนั้น เพื่อให้เกิดคามรอบคอบที่ประชุม จึงมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงฯ ให้ไปสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่า การกระทำของ ดร.ศศิธารา ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อราชการอย่างไร โดยให้เวลาคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ไปสอบสวนเพิ่มเติมและสรุปผลภายใน 15 วัน จากนั้น ตนจะตรวจสอบข้อมูลและเชิญประชุม อ.ก.พ.สกศ.เพื่อพิจารณาโทษโดยเร็วที่สุด" นายจาตุรนต์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ก่อนมีการพิจารณาโทษทางวินัยของ ดร.ศศิธารา ที่ประชุมได้เชิญ ดร.ศศิธาราออกจากห้องประชุม ซึ่งดร.ศศิธารายอมออกมาโดยให้เหตุผลว่า ออกมาเข้าห้องน้ำ เช่นเดียวกับ นายจาตุรนต์ ที่ออกมาเข้าห้องน้ำก่อนจะกลับเข้าไปดำเนินการประชุมตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น.จนกระทั่งเวลาประมาณ 23.40 น.จึงได้เลิกการประชุม นับเป็นการประชุมที่ใช้เวลานานเกือบ 10 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการประชุมได้มีการปิดล็อกประตูจากทางด้านใน เพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า-ออก หรือผ่านหน้าห้องประชุม ซึ่ง ดร.ศศิธารา ได้ไปเขย่าประตู และปักหลักรอฟังผลจนกระทั่งเลิกการประชุม
ด้าน ดร.ศศิธารา ได้เดินออกจากห้องประชุมเพื่อมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อประมาณเวลา 16.00 น. ว่า ตนเห็นว่าการประชุมครั้งนี้มีความไม่ชอบ ไม่โปร่งใส โดยตั้งเป้าพิจารณาวินัยของตนเพียงวาระเดียวเท่านั้น เพราะมีหลายประเด็นที่น่าเคลือบแคลง เริ่มจากกรรมการ อ.ก.พ.สกศ.ไม่ครบองค์ประชุม เพราะรองสกศ. 2 ราย ย้ายไปเป็นรองปลัดศธ. และปลัดศธ. โดยยังไม่มีการสรรหาใหม่มาแทน ส่วนนางรัตนา ศรีเหรัญ รองสกศ.ที่มาใหม่ ก็ยังไม่มีสิทธิ์เข้าประชุมเพราะตนยังไม่มอบหมายให้นางรัตนาที่ทำหน้าที่กรรมการ อ.ก.พ.สกศ. ขณะเดียวกัน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ด้าน คือด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านกฎหมาย และด้านบริหารและการจัดการ ก็ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงมีผู้เข้าร่วมประชุมแค่ 7 คน คือ ผู้อำนวยการสำนักของสกศ. 5 คน ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) 1 คน และนายจาตุรนต์ เท่านั้น ทั้งที่กรรมการทั้งหมดที่จะต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้จะต้องมีทั้งหมด 13 คน ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องตัวผู้ทำหน้าที่เลขานุการการประชุมด้วย เพราะรมว.ศธ.ยืนยันให้ นายนภมณฑล สิบหมื่นเปี่ยม เป็นเลขานุการอ.ก.พ.สกศ. ทำหน้าที่แทนอ.ก.พ.กระทรวง ทั้งที่นายนภมณฑลไม่มีสิทธิ์เป็นเลขานุการในการประชุมแล้ว เนื่องจากไม่ได้ดูแลงานบุคคลของสกศ. และโดยปกติ เลขานุการการประชุม อ.ก.พ.สกศ. ต้องเป็นผู้ดูแลงานบริหารงานบุคคลเท่านั้น แต่นายนภมณฑล ถูกย้ายไปดูแลกลุ่มพัฒนาระบบราชการ หรือก.พ.ร.สกศ. ไม่ได้ดูแลด้านบริหารบุคลากรแล้ว แต่นายจาตุรนต์ก็ยืนยันที่จะให้นายนภมณฑล เป็นเลขานุการการประชุมครั้งนี้ เพราะนายนภมณฑลดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่ตน ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหน้าที่เลขานุการการประชุมต้องเป็นผู้ที่ดูแลงานบุคคล แต่รมว.ศธ.ยืนยันให้บุคคลรายนี้เป็นเลขานุการการประชุมต่อไป เพื่อให้การประชุมวันนี้เดินหน้าต่อได้ จะได้ชงเข้าสู่วาระพิจารณาวินัยตน ทำให้เห็นว่า การประชุมวันนี้มีความน่าเคลือบแคลงมาก
"ทั้งนี้ เมื่อมีหลายประเด็นที่ยังไม่ถูกต้อง ตนและผู้แทนก.พ.จึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไป โดยผู้แทนก.พ.ให้เหตุผลว่า บรรยากาศการประชุมครั้งนี้ไม่ชัดเจน และมีความขัดแย้ง ให้สกศ.ไปดำเนินการให้ถูกต้องทั้งหมดก่อน แล้วค่อยจัดประชุมอีกครั้ง แต่ รมว.ศธ.ไม่ยอม เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาโทษตน นายจาตุรนต์ ยังได้บอกในที่ประชุมว่า วันนี้ตั้งใจอย่างเดียวว่า จะพิจารณาเรื่องวินัยของตน จึงไม่อยากเอาเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องที่สังคมจับตามอง ว่ารมว.ศธ.จะตัดสินอย่างไร ถ้าไม่ทำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะมีความผิด ดิฉันจึงได้ถามกลับไปว่า ท่านรัฐมนตรีเร่งร้อนเรื่องนี้ ต้องการปกป้องตัวเองเท่านั้นใช่หรือไม่ ความไม่ถูกต้องชอบธรรมที่เกิดขึ้นกับดิฉันท่านไม่สนใจใช่หรือไม่ ดังนั้น จึงน่าเชื่อถือว่า กระบวนการสอบสวนครั้งนี้ไม่เป็นธรรมและไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งดิฉันมั่นใจว่าถูกกลั่นแกล้ง 100% เพราะการสอบสวนตั้งต้นที่เกิดขึ้น เร่งรีบ ไม่มีการสืบหาข้อเท็จจริง แม้กระทั่งการประชุมวันนี้ ก็ส่อชัดเจนว่า เป็นการประชุมที่ไม่ชอบแน่นอน ดังนั้นการตัดสินโทษใดๆ ก็ตามในวันนี้ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมทั้ง 7 คน จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งหากมีการลงโทษให้ดิฉันออกจากราชการ ก็จะขออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ก.พ.ค. ก.พ. รวมทั้งจะฟ้องศาลปกครองและศาลอาญาด้วย " ดร.ศศิธารากล่าว
ดร.ศศิธารา กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าที่ประชุมครั้งนี้ตั้งเป้าจะตัดสินลงโทษให้ตนออกจากราชการแน่นอน เพราะได้เตรียมสำเนาแบบฟอร์มรับทราบคำสั่งลงโทษให้ออกจากราชการ วางเผื่อไว้ให้ตนเซ็นรับทราบด้วย