ไลฟ์สไตล์

"แรม๑๕ค่ำเดือน๗"ธรรมดาวันพระที่ไม่ธรรมดา

"แรม๑๕ค่ำเดือน๗"ธรรมดาวันพระที่ไม่ธรรมดา

22 มิ.ย. 2552

วันกำหนดฟังธรรมนี้ พระพุทธเจ้าทรงปัญญัติไว้ในเดือนหนึ่งๆ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม รวม ๔ วัน ได้แก่ ๑.วันขึ้น ๘ ค่ำ ๒.วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ๓.วันแรม ๘ ค่ำ ๔.วันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ (หากตรงกับเดือนขาด เป็นแรม ๑๔ ค่ำ) ของทุกเดือน วันทั้ง ๔ นี้ ถือกันว่าเป็นวันกำหนดประ

ในปี ๒๕๕๒ นี้ หลายท่านอาจสงสัยว่า เหตุใดวันสำคัญทางพุทธศาสนาจึงกระโดดไปกระโดดมาอยู่บนปฏิทินสากล เช่น วันเข้าพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘  เมื่อปี ๒๕๕๑ ตรงกับวันที่ ๑๘ กรกฎาคม แต่พอมาปีนี้ ๒๕๕๒ กลับกลายเป็น วันที่ ๘ กรกฎาคม และปีหน้า ๒๕๕๓ จะกระโดดไปวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ทั้งนี้นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน ผู้เขียนเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือสุริยปฏิทินพันปี อธิบายให้ฟังว่า เหตุใดวันสำคัญทางพุทธศาสนาจึงกระโดดไปกระโดดมาอยู่บนปฏิทินสากล เพราะวันสำคัญทางศาสนาพุทธอิงกับปฏิทิน “จันทรคติ” ใช้รอบการโคจรของดวงจันทร์เป็นหลัก ทำให้ปฏิทินจันทรคติมีรอบปีถึง ๓ อย่าง ได้แก่ ปกติมาส มี ๓๕๔ วัน อธิกมาส ๓๘๔ วัน (ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ปีแปดสองหน) อธิกวาร ๓๕๕ วัน ขณะที่ปฏิทินสากลใช้รูปแบบ “สุริยคติ” มีจำนวนวัน ๓๖๕ วัน ในปี “ปกติสุรทิน” และ ๓๖๖ วัน ในปี “อธิกสุรทิน” (เดือนกุมภาพันธ์ มี ๒๙ วัน) ปฏิทินทั้งสองเป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่ลงตัว แต่ฤดูกาลต่างๆ ของโลกอยู่ใต้อิทธิพลของดวงอาทิตย์ ปฏิทินสุริยคติจึงบ่งชี้ฤดูกาลได้อย่างแม่นยำ

 ขณะเดียวกันพุทธบัญญัติได้กำหนด “เข้าพรรษา” ไว้ด้วยเงื่อนไข ๒ ประการ คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ และต้องเป็นต้นฤดูฝน ด้วยเหตุที่จำนวนวันระหว่างปฏิทินทั้งสองไม่เท่ากัน วันเข้าพรรษาจึงถูกร่นเข้าไปปีละ ๑๑ วัน เมื่อเทียบกับปฏิทินสากล หากปล่อยไปเรื่อยๆ คงต้องไปเข้าพรรษาในเดือนเมษายน และออกพรรษาเดือนกรกฎาคม ซึ่งผิดพุทธบัญญัติ ดังนั้นจึงได้นำเอาข้อมูลดาราศาสตร์ของนักปราชญ์ชาวกรีก ชื่อ เมตัน แห่งกรุงเอเธนส์ เมื่อ ๔๓๒ ปี ก่อนคริสตกาล  (Meton of Athens ๔๓๒ BC) มาใช้ปรับชดเชยให้ปฏิทินจันทรคติและวันเข้าพรรษามีความสอดคล้องกับฤดูกาล โดยมีสูตรที่เรียกว่า Metonic Cycle ให้มีการปรับชดเชย โดยมีเดือน ๘-๘ ในปฏิทินจันทรคติได้ ๗ ครั้ง ในรอบ ๑๙ ปี ของปฏิทินสากล ตามสูตรนี้จะเห็นว่าภายในรอบ ๑๙ ปีปฏิทินทั้งคู่จะมีจำนวนวันเท่ากัน คือ ๖,๙๔๐ วัน แต่ก็ยังมีเศษอีกเล็กน้อย ประมาณ ๒ ชั่วโมง 

 อย่างไรก็ตามเศษ ๒ ชั่วโมง ต่อ ๑๙ ปี ทำให้เกิดการปรับเล็กๆ ในปฏิทินจันทรคติ โดยให้เดือน ๗ มีวันแรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า ปี “อธิกวาร” ปกติเดือนที่เป็น “เลขคี่” มีขึ้น ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำ (๒๙ วัน เดือนขาด) ส่วนเดือน “เลขคู่” มี ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ (๓๐ วัน เดือนเต็ม) ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับปีอธิกวารให้มี ๗ ครั้ง ในรอบ ๓๘ ปี แต่ปี ๒๕๕๒ มีความพิเศษ เดือน ๗ มี ขึ้น ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ (เดือนเต็ม) เพราะเป็นอธิกวาร ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒

 ในทางดาราศาสตร์เรียกวันนี้ว่า “ครีษมายัน” (Summer solstice) กลางวันยาวที่สุดในรอบปี ครีษมายัน (อังกฤษ: summer solstice) เป็นการที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด (solstice) คือ-เป็นจุดในหน้าร้อน มีกลางวันนานกว่ากลางคืน, ตรงข้ามกับ เหมายัน (winter solstice) (สันสกฤต: คฺรีษฺม + อายนฺ) เพราะดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่เส้นรุ้ง ๒๓.๕ องศาเหนือ หรือ Tropic of Cancer

 "อย่างไรก็ตามวันเดียวกันนี้ผู้คนที่ประเทศอังกฤษจะแห่ไปที่กองหินลึกลับชื่อ Stonehenge เพื่อรอดูดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับแท่งหิน Heel stone อยู่ตรงกลางระหว่างเสาหินทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพวกเขาเชื่อพลังอันศักดิ์สิทธิ์ของดวงอาทิตย์ในวันดังกล่าว ส่วนวันเดียวกันนี้ตอนเที่ยงตรงตามเวลาของนาฬิกาแดดที่ไต้หวัน ดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงหัวพอดี เพราะเขาอยู่ที่เส้นรุ้ง ๒๓.๕ องศาเหนืออธิกวาร ครั้งต่อไปจะเป็นวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๙ และวันที่ ๓๐  มิถุนายน ๒๕๗๔ ไม่ตรงกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ “ครีษมายัน” ดังนั้น แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปี ๒๕๕๒ จึงไม่ธรรมดา" นายสรรค์สนธิกล่าว
      ปรกติ-อธิก
 ปรกติวาร (ปกติวาร) คือวันปรกติ (วันปกติ) หมายถึงเดือนคี่ (๑, ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑) เป็นเดือนขาดมี ๒๙ วัน ข้างขึ้นมี ๑๕ วัน ข้างแรมมี ๑๔ วัน (วัน = ค่ำ)

 อธิกวาร คือวันเพิ่มในเดือน ๗ อีก ๑ วัน มีแรม ๑๕ ค่ำ หรือข้างแรม ๑๕ วัน จึงเป็นเดือนเต็ม (มี ๓๐ วัน) จัดเป็นเดือนพิเศษ ปีใดที่เดือน ๗ มีแรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า อธิกวาร

 ปรกติมาส (ปกติมาส) คือ เดือนปรกติ (เดือนปกติ) หมายถึงการมี ๑๒ เดือนใน ๑ ปี เริ่มจากเดือน ๕, ๖, ๗, ๘, ๙. ๑๐, ๑๑, ๑๒, ๑, (อ้าย) ๒ (ยี่) ๓, ๔

 อธิกมาส คือ เดือนเพิ่ม หมายถึงการมีเดือนเพิ่มอีก ๑ เดือน ในปีนั้นๆ (อธิกมาส) จึงมีเดือน ๑๓ เดือน เดือนที่เดือน หน มี ๘ กล่าวคือ เมื่อถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ แล้วจะมีเดือน ๘ อีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าเดือน ๘ สอง ๘ (เดือน ๘ สองเดือน ๘ หน้า ๘ หลัง)

 เหตุที่เกิดอธิกวาร (วันเพิ่ม) และอธิกมาส (เดือนเพิ่ม) เนื่องจากในจันทรคติ ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือนก็จริง แต่มีจำนวนวัน ๓๕๔ วัน แม้พระจันทร์โคจรรอบโลกแล้ว ๑๒ ครั้ง คือ ๑๒ เดือน แล้วก็ดี แต่โลกยังหาได้โคจรไปรอบปริมณฑล องศาของดวงอาทิตย์ครบ ๑๒ ราศี หรือ ๓๖๐ องศา ไม่ถ้าเทียบกับปีสุริยคติ ซึ่งมี ๓๖๕ วัน แล้วปีจันทรคติมีวันน้อยกว่าปีสุริยคติถึงปีละ ๑๑ วัน ภายในเวลาสามปีเวลาจะเหลื่อมกันถึงหนึ่งเดือนกว่า อันเป็นสาเหตุให้ฤดูกาลตามสภาพธรรมดาโลก (ฤดูร้น ฝน หนาว ฯลฯ) ไม่อยู่ในกำหนดเวลาตามที่เป็นจริง เช่น เดือน ๕ (เมษายน) เป็นเดือนร้อนจัดตามปกติ ถ้าปล่อยให้เหลื่อมเวลาไปเรื่อยๆ ต่อไปๆ หน้าร้อนอาจตรงกับเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม ฯลฯ ก็ได้

  ดังนั้นเพื่อรักษาสภาพธรรมดาโลก ให้ปีเดือนทางจันทรคติทันกับสุริยคติจึงต้องเพิ่มเดือนพระจันทร์คือเดือน ๘ ขึ้นอีกหนึ่งเดือน ในปีที่ ๒ บ้างที่ ๓ บ้าง ดังปรากฏในปีที่เพิ่มขึ้น เดือนพระจันทร์จึงมี ๑๓ เดือน เดือนที่เพิ่มเรียกว่าเดือนแปดสองหนหรือเดือนแปดสองแปด (ครั้ง) เรียกตามศัพท์ว่า อธิกมาส ในปฏิทินเขียนเดือนแปดที่เพิ่มมาเป็น ๘ ๘ หรือ 8 8 หรือ อาจจะเขียน ๘,๘ หรือ 8.8 ให้เป็นที่เข้าใจดังกล่าว

เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู