
คุยนอกกรอบ : 'นพพร เทพสิทธา'
คุยนอกกรอบ : 'นพพร เทพสิทธา' ศีล 5 เป็นการปฏิวัติตัวเองที่ดีที่สุด และทำได้เลย : โดย...มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
พุทธศาสนาเมื่อ 2,600 กว่าปีก่อน ตอบโจทย์ยากๆ ของคนในสังคมไทยทุกวันนี้ได้ไหม รายได้ต่ำ ค่าใช้จ่ายสูง ภาระมาก เป็นหนี้ท่วมหัว เงินไม่พอใช้ มีแต่ความอยากได้ไม่สิ้นสุด คอร์รัปชั่น สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เด็กติดยา สารพัดปัญหาสังคม ครอบครัว การบ้านการเมืองที่กำลังร้อนระอุไปด้วยเสียงปฏิรูปประเทศ สภาประชาชน ปฏิวัติๆๆๆ ?
"ประชาชนจะปฏิรูป ปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับประเทศได้อย่างไร หากเราไม่มาเปลี่ยนแปลงตัวเราเองเสียก่อน ?"
นี่อาจเป็นคำถามของคนไม่มากนัก นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และคอลัมนิตส์ นิตยสาร "เนชั่นสุดสัปดาห์" คอลัมน์ "คู่มือชีวิต" เห็นว่า นี่เป็นคำถามที่เราน่าจะนำมาใคร่ครวญกันให้มาก เพราะแท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงตนเอง ถ้าทำได้ก็จะเป็นการปฏิวัติอย่างแท้จริง ไม่เดือดร้อนใคร
"มองภาพกว้างทุกวันนี้ เราเห็นคนต้องไปรับประทานอาหารในภัตตาคาร ใช้เฟซบุ๊ก ไลน์ ใช้นาฬิกายี่ห้อดังๆ กระเป๋าสวยๆ เราถูกมอมเมาทางการตลาดให้เราอยากได้สิ่งเหล่านี้ นี่คือ การตลาด 3.0 ทำให้คนหลงใหลได้ปลื้มกับสินค้า มันดูดวิญญาณเรา ให้มีความต้องการใช้อยู่เรื่อยๆ ให้เป็นทาสมัน อันนี้อันตราย มันเป็นยุคของวัตถุนิยม แต่ในด้านตรงกันข้าม พุทธศาสนา หรือศาสนาทุกศาสนา พยายามสร้างจิตวิญญาณของคนให้เข้มแข็ง เพื่อต่อต้านสิ่งเย้ายวนอย่างนี้
"พุทธศาสนาเราพูดถึงตัณหา ความใคร่ ที่อยากจะได้ ทั้งๆ ที่เกินพอแล้ว แต่เพราะเราถูกมอมเมาทางจิตวิญญาณ จากการตลาดยุคใหม่ เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธจะต้องปรับตัวไปก็คือสร้างภูมิต้านทานให้แก่ชาวโลกในวิธีใหม่ๆ ทำอย่างไรที่จะให้พุทธศาสนิกชนไม่ถูกสิ่งเย้ายวนจากการตลาดอย่างนี้ลากจูงไป จนเกิดทุกข์ และทำให้หาทางออกไม่เจอ"
ทำอย่างไร และการนำไปใช้ได้จริง?
นพพรมองไปถึงพุทธบริษัท พระจะต้องเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป ถ้านักบวชยังให้คนสนใจแต่บุญ หวังสะสมบุญในอนาคตอาจจะไม่พอ เทรนด์โลกมันเป็นอย่างนี้ พุทธ ไม่ว่าจะนิกายไหนก็ตาม จะเป็นพุทธสายวัดป่า เซน วัชรยาน จะต้องตีโจทย์ให้แตกแล้วตอบคำถามเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้คนรุ่นนี้แข็งแรง
"ในด้านการบริหารบุคคลในองค์กร เมื่อก่อนใช้หลักธุรกิจ กลยุทธ์ โบนัส ผลตอบแทนชัดเจน แต่สุดท้าย สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้คนรักองค์กร หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ให้แก่องค์กร ฝรั่งเขาก็มองว่า ถ้าทำเท่านี้องค์กรไม่เจริญ ดังนั้นจะต้องมีการผูกพันพนักงานทางด้านจิตใจ บริษัทต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่า บริษัทรักและไม่หวังผลตอบแทน"
"การบริหารคนยุคใหม่จะต้องสมดุลระหว่างกติกา ภายนอกและภายในควบคู่กันไป การทำให้พนักงานรักองค์กร จะทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม สร้างความรับผิดชอบต่อสังคมจากใจของพนักงานเอง ทำอย่างไรให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ผมมองว่า พุทธศาสนามีอยู่แล้ว ในอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่ฝรั่งเขาเพิ่งค้นพบ และนำไปประยุกต์ใช้ว่า ถ้าพนักงานมีจิตใจทีมีความสุข เขาจะทำงานได้ดี"
"พุทธศาสนาทางโลก หรือการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการฝึกสมาธิเบื้องต้นอย่างที่พระอาจารย์อุทัย ฌานุตฺตโม (พระอาจารย์ติ๊ก) วัดป่าห้วยลาด จ.เลย ซึ่งเป็นอาจารย์ของผมก็สอนอยู่ คือภาคส่วนของศาสนาที่สามารถเข้าไปใช้ในองค์กร เดี๋ยวนี้มีหลายบริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานไปปฏิบัติธรรม เมื่อพนักงานไปปฏิบัติธรรมกลับมาก็มีความสุข ทำงานอย่างเบิกบาน"
ยกตัวอย่าง ฟิลิป คอตเลอร์ ผู้ที่คิดทฤษฎีการตลาด 3.0 ที่ทำให้คนติดงอมแงม นพพรศึกษาแนวทางของเขานั้น แท้จริงแล้วเขาก็ศึกษามาจากพุทธศาสนาจากทิเบต เขาเป็นลูกศิษย์ของท่านทะไลลามะ เขาเข้าใจเรื่องจิตวิทยาของคน ก็นำเสนอเรื่อง ความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณจะต้องไปด้วยกัน ซึ่งพอเขาทำออกมาจริงๆ ก็ยังทำสู้คนไทยทำไม่ได้
"เนื่องจากหลักของเราคือความเมตตา ศาสนาในอนาคตกำลังเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก ฝรั่งเขาศึกษาพุทธแล้วไปประยุกต์ทำคอร์สอบรมขาย คอร์สละหลายหมื่นบาท แต่วัดเราจัดคอร์สปฏิบัติธรรมให้เปล่า เรามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว เราต้องไม่ทิ้งแก่น จึงจะไปรอด ขณะที่พุทธศาสนากำลังเบ่งบานไปทั่วโลก ประเทศไทยกลับให้ความสำคัญน้อยลง โดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษา ได้ปัดพระพุทธศาสนาออกไปจนแทบไม่เหลือแก่น"
"แต่ในประเทศอิตาลี กลับยอมรับพุทธศาสนา เป็นศาสนาหนึ่งในประเทศอย่างเป็นทางการ เพราะจริงๆ แล้ว ในอิตาลีผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์มีมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ศาสนาพุทธเป็นส่วนน้อย แต่ในรัฐธรรมนูญ ศาสนาที่เป็นทางการถึงขั้นให้ประชาชนชาวอิตาลีเลือกนับถือศาสนา สามารถเขียนไว้ในใบที่เสียภาษี ขอให้เงินที่เขาเสียภาษีส่วนหนึ่งให้ไปบำรุงศาสนาที่เขานับถือด้วย มันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนให้คนสามารถแสดงเจตนาได้ อันนี้เป็นการรับรองโดยกฎหมาย หรือโดยรัฐธรรมนูญ นี่ถือว่า เป็นอีกก้าวหนึ่งของศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในประเทศตะวันตก เขามองอย่างเป็นระบบ ทำให้มีความชัดเจน"
ความชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญมาก คนไทยไม่ชัดเจน?
"ความชัดเจนจะไปสร้างระบบสร้างความต่อเนื่องของการพัฒนาขึ้นมาได้อย่างชัดเจน เขาจึงเจริญอย่างชัดเจน แต่ในมุมมองของผม ศาสนาพุทธไม่ได้บังคับว่าใครต้องนับถือพุทธ จะเป็นศาสนาอะไรก็ได้ เอาคำสอนมาใช้ก็ได้ ไม่ต้องมานับถือ แต่ถ้าจะมุ่งไปตามเส้นทางสู่นิพพาน เป้าหมายสูงสุดจริงๆ ก็ควรจะยอมรับพระรัตนตรัย ก็คือ เข้าใจ เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่พุทธศาสนาก็ไม่ได้บังคับอยู่ดี มันเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล จะเปลี่ยนศาสนา หรือจะนับถืออะไรก็สามารถนำสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไปใช้ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องบังคับว่าจะต้องมาถือศีล 5 หรือสร้างบารมีที่ศาสนาพุทธสอนนั้นจะต้องมานับถือก่อนไม่ต้อง ปฏิบัติได้เลย โดยไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา นำไปใช้ได้เลย แม้แต่ในเรื่องการนั่งสมาธิในการรักษาโรค
"เพราะพุทธ แพร่หลายไปด้วยการปฏิบัติมากกว่าไปเน้นรูปแบบ นี่แหละทำให้คนที่มีปัญหา และหาทางออกไม่ได้ มีหนทาง คนที่มีความรู้ มีปัญญาก็สนใจศึกษาด้วยตนเอง และพบว่า นี่คือคำสอนที่ใช้ปัญญา ไม่ได้ใช้ความงมงาย ศาสนาพุทธไม่มีการบังคับก็จริง แต่การเขียนไว้เป็นกฎหมายก็เป็นความชัดเจนอย่างหนึ่ง ในการทำกิจของสงฆ์ ประเทศไทยก็เคยคิดจะบรรจุลงไว้ในกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีคนที่คัดค้านอยู่ ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา จริงๆ เราก็ทำได้ให้ชัดเจน ใครนับถือศาสนาไหนก็ระบุลงไปเลย ภาษีที่ประชาชนเสียมาแบ่งเปอร์เซ็นต์ไปสนับสนุนศาสนานั้นๆ ก็เป็นความชัดเจนดี และนี่เป็นแค่เบื้องต้นที่ทำให้ศาสนาไม่ต้องมาทะเลาะกัน หากมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง"
การปฏิรูปประเทศที่กำลังพยายามกันอยู่ สามารถแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นได้จริง ?
นพพรเห็นว่า ในเรื่องของการปฏิรูปประเทศที่กำลังพยายามกันอยู่ แค่นั้นมันไม่พอ มันต้องไปถึงขั้นการปฏิบัติด้วย
"มีตัวอย่างของหลายประเทศในตะวันตก เขาให้ความสำคัญกับการทำงานกับทักษะในการดำรงชีวิตก่อน เพราะถ้าไม่มีทักษะดำรงชีวิต เวลาไปทำงานก็อาจล้มเหลวได้ งานก็ไม่พัฒนาเท่าที่ควร แต่ของเรามีศาสนาพุทธอยู่แล้ว ที่มีแนวทางในการพัฒนาชีวิต อาศัยทักษะการดำรงชีวิตจากศาสนาพุทธมาประยุกต์ได้หมด แต่เราจะทำอย่างไร ที่จะปรับหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอริยสัจ 4 มงคลสูตรให้เข้ากับหลักการทำงานสมัยใหม่ให้ได้ อันนี้ต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาด้วย
"ระบบการศึกษาต้องถูกปฏิรูปไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปประเทศ และต้องมีการสอนตั้งแต่เด็กๆ ในเรื่องของทักษะการใช้ชีวิต ทักษะการทำงาน ไม่งั้นเด็กจบมาทำงานเป็นแต่ใช้ชีวิตไม่เป็น ไม่มีเครื่องเหนี่ยวรั้งใจตนเอง ติดอบายมุข เพราะไม่ได้สอนทักษะการใช้ชีวิต ไม่รู้จักการดูแลสุขภาพของตัวเอง กินอะไรจึงจะดี มีประโยชน์ การเข้าสังคม อะไรต่างๆ ศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ ก็มีสอน ผมว่าจะปฏิรูปประเทศ ทำกันอย่างจริงจัง ทำกันทั้งระบบเลย แม้แต่องค์กรสงฆ์ก็ต้องปรับวิธีการสอน และมีส่วนในการปฏิรูปประเทศด้วย ไม่ใช่สอนไปนิพพานอย่างเดียว แต่ต้องสอนทุกระดับ โดยเฉพาะเรื่อง มงคล 38 ประการ น่านำมาใช้ แต่แก่นธรรมในพระธรรมวินัยยังคงอยู่ หากปรับวิธีการให้เข้ากับสังคมใหม่ๆ"
"ข้อสำคัญคือ อย่าไปยึดว่าต้องเป็นพุทธ ให้นำวิธีการมาใช้ แล้วถ้าศาสนาไหนจะนำวิถีพุทธไปใช้ก็นำไปเลย ไม่ต้องไปทะเลาะกันว่า เอ้ย อันนี้เป็นสมาธิของพุทธนำไปใช้ไม่ได้นะ มันก็ไม่ใช่ หลักของพุทธ ใครจะนำไปใช้ก็นำไปเถอะ เพราะหลักของพระพุทธเจ้าสอนชาวโลกทุกคน ท่านไม่บอกว่าให้ทุกคนต้องนับถือพุทธ แต่ท่านให้นำคำสอนของท่านไปใช้ และถ้าใช้แล้วชีวิตมีความสุขจะเป็นศาสนาอะไรก็ได้ ให้นำหลักสำคัญไปใช้ แต่ความชัดเจนของศาสนาพุทธต้องดำรงอยู่ ระบบการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก ปฏิรูปประเทศ แล้วไม่ปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เลย"
เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดชีวิต
"เอกชนต้องเริ่มทำแล้ว สิ่งที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ พูดมีประเด็น ตรงที่การปฏิวัติประชาชน ก็คือการร่วมมือกันทำ ถ้าเห็นว่า เรื่องการศึกษาสำคัญ ก็ต้องทำ อย่าไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ต้องดูเรื่องสังคมด้วย เอกชนต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่โยนปัญหาไปให้รัฐบาลอย่างเดียว เพราะเอกชนก็มีกำลังความสามารถในการปฏิรูปประเทศได้"
ปฏิรูปโดยเอกชน ?
"ตัวอย่างก็คือ พ่อแม่ก็ไม่โยนภาระไปให้โรงเรียน ไม่ใช่ลูกเกิดมาก็ยัดๆ ให้ไปเรียนหนังสือตั้งแต่ 2 ขวบ ตอนนี้เราให้เด็กเรียนจนไม่รู้อะไรเลย ที่สอนเรื่องทักษะชีวิต โรงเรียนเอกชนก็ต้องทำ โรงเรียนรัฐบาลก็ต้องทำ หลักสูตรทักษะชีวิต วัดเองก็ไม่ใช่ต้องการแต่การเรี่ยไร สร้างพระ สร้างอะไรต่างๆ แทนที่จะมาช่วยกันสร้างคน บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็ต้องมาช่วยกัน ถ้าจะปฏิรูปกันจริงๆ แล้วเราต้องมาปฏิรูปที่พื้นฐาน ความเข้าใจ ทัศนคติที่ถูกต้องก่อนปฏิรูปการศึกษา สังคม ศิลปวัฒนธรรม โดยเอกชนเริ่มกันทำ ก็จะเป็นการปฏิวัติประชาชนอย่างแท้จริง"
ท้ายสุด ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เราต้องมองออกมาจากกรอบของการเมืองที่เป็นอยู่ ดังที่นพพรเสนอไว้ว่า ทุกคนถ้ารวมพลังกัน แบ่งส่วนกำไรของบริษัท ห้างร้าน มาสร้างคนเรื่องการศึกษา ต่างคนลดทิฐิ มาร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือสังคม
"เริ่มต้นปฏิวัติตนเอง ด้วยการหันมาปฏิบัติศีล 5 กันอย่างจริงๆ จังๆ ลดการบริโภคลง สอนเด็กๆ ให้ยับยั้งชั่งใจบ้าง ผมว่า อย่าไปรอให้รัฐบาลมาบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราปฏิวัติตัวเองกันดีกว่า แค่ศีล 5 ก็เป็นการปฏิวัติตัวเองที่ดีที่สุด และทำได้เลย เพียงแต่ว่าไม่ทำกันเท่านั้นเอง เพราะอะไร เปลี่ยนตัวเองมันยากไง ชอบที่จะไปเปลี่ยนคนอื่น ซึ่งยากกว่าอีก ผมว่ามารณรงค์แค่รักษาศีล 5 นี่ก็ไม่ง่ายแล้วนะ เบญจศีลกับเบญจธรรมคู่กัน แค่ 10 ข้อนี้ คนในประเทศดีขึ้นแน่อน เป็นการปฏิรูปที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อใคร และไม่มีการเกิดความเกลียดชังกันด้วย
"แค่ข้อควรปฏิบัติ กับข้อที่ไม่ควรปฏิบัติ 10 ข้อ สังคมก็มีความสุขแล้ว เรามาตั้งชื่อว่า บัญญัติ 10 ประการก็ได้ แค่พื้นฐาน เรื่องหน้าที่ ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ พื้นฐานคุณธรรม ไม่ซับซ้อน ทำได้จริง ทำด้วยการผู้ใหญ่ปฏิบัติให้เห็น เด็กก็จะปฏิบัติตาม โลกก็สงบ สันติแล้วล่ะ"
------------------------
(คุยนอกกรอบ : 'นพพร เทพสิทธา' ศีล 5 เป็นการปฏิวัติตัวเองที่ดีที่สุด และทำได้เลย : โดย...มนสิกุล โอวาทเภสัชช์)