ไลฟ์สไตล์

นกกะรางอกลาย

นกกะรางอกลาย

22 ธ.ค. 2556

นกกะรางอกลาย : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

               เท่าที่ผู้เขียนได้ติดตามข่าวสารการพบนกหายากในวงการดูนกช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นาทีนี้เชื่อว่าคงไม่มีแหล่งดูนกที่ไหนในไทย “ฮอต” เท่า “ดอยลาง” อีกแล้ว (แต่อากาศบนดอยลางนั้นไม่ฮอตนะครับ ตรงกันข้าม บางครั้งอากาศที่นี่ก็หนาวสะท้านทรวงเลยทีเดียว) ดอยลางเป็นภูเขาสูงที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ การเดินทางโดยรถยนต์นั้นนับว่าสะดวกมาก มีถนนลาดยางตัดขึ้นไปถึงป่าดิบเขาที่ระดับความสูงเกิน 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล การพักแรมค้างคืนก็ค่อนข้างสะดวก เพราะไม่กี่ปีมานี้มีการสร้างลานกางเต็นท์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว (ซึ่งอาจพูดได้ว่าแทบจะทั้งหมดมาเพื่อดูนกล้วนๆ)

               รายชื่อนกเด่นของดอยลางที่เป็นเป้าหมายให้นักดูนกแห่กันไปดูนั้นยาวเป็นหางว่าว ซึ่งถ้าต้องคัดกันจริงๆ ให้เหลือตัวที่ “เด็ดที่สุด” ผู้เขียนคิดว่า นกกะรางอกลาย (Spot-breasted Laughingthrush) ควรจะเป็นเบอร์หนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะก่อนที่จะถูกพบบนดอยลางเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นกชนิดนี้ยังไม่เคยถูกบันทึกภาพในธรรมชาติได้มาก่อน แต่ที่ดอยลางมีจุดที่นกชนิดนี้ออกมากินหนอนนก (mealworms) ที่คนเอาไปล่อเพื่อถ่ายภาพเป็นประจำ ทำให้แทบทุกคนที่ตามไปดูนั้นได้เห็นตัวนกกะรางหายากชนิดนี้กันถ้วนหน้า

               นกกะรางอกลายมีลำตัวสีน้ำตาล อกมีลายขีดสีดำ ม่านตาสีแดงเข้ม รอบตามีหนังเปลือยสีฟ้า และมีแถบคิ้วสีขาวที่บริเวณด้านหลังตา แม้ดอยลางจะอยู่ติดชายแดนพม่า แต่นกที่พบในไทยเป็นชนิดย่อย laoensis ที่ยังคงไม่มีรายงานการพบในประเทศพม่า ชื่อ laoensis น่าจะมาจากความผิดพลาดของเอกสารบรรยายตั้งแต่สมัยตั้งชื่อเมื่อศตวรรษที่แล้ว เพราะมันไม่ได้ถูกพบในลาวด้วยซ้ำ ชนิดย่อยนี่มีสีอ่อนกว่าชนิดย่อยอื่น และมีลายขีดที่อกสีเข้มกว่า แม้จะไม่ใช่นกสีสันสวยงามน่าดึงดูด แต่มันก็มีเสียงร้องเป็นท่วงทำนองซับซ้อนน่าฟังทีเดียว

               ที่ผ่านมาไม่มีคนพบเห็นนกกะรางอกลายมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพฤติกรรมชอบหากินตามพื้นในพุ่มไม้รกๆ ทำให้สังเกตเห็นตัวได้ยาก สถานการณ์แบบนี้นับว่าน่าเป็นห่วงมากๆ เพราะประชากรนกชนิดนี้น่าจะเหลืออยู่น้อยเอาการ รายงานที่ยืนยันทั้งหมดในประเทศไทยมาจากดอยสูงในอุทยานแห่งเดียวกันนี้เท่านั้น และพบได้นานๆ ครั้ง ไม่ได้โชว์ตัวให้เห็นเป็นประจำเหมือนบนดอยลาง เป็นไปได้ว่าอาจย้ายแหล่งหากินเพราะมีคนและรถพลุกพล่านมากขึ้น แต่ก็อาจถูกดักจับ หรืออาจตกเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าไปแล้ว สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านพึงระลึกเสมอว่าควรดูนกโดยรบกวนนกให้น้อยที่สุด เพื่อสวัสดิภาพของตัวนกเองนะครับ

 

นกกะรางอกลาย 

ชื่ออังกฤษ Spot-breasted Laughingthrush
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garrulax merulinus (Blyth, 1851) 
วงศ์ (Family) Leiothrichidae (วงศ์นกกะรางและนกหางรำ)
อันดับ (Order) Passeriformes (อันดับนกเกาะคอน)

 

..................................

(นกกะรางอกลาย : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)