ไลฟ์สไตล์

จาก'รักษ์น้ำ'สู่โรงสีข้าวกล้องชุมชน

จาก'รักษ์น้ำ'สู่โรงสีข้าวกล้องชุมชน

10 ธ.ค. 2556

ทำมาหากิน : จาก 'รักษ์น้ำ' สู่โรงสีข้าวกล้องชุมชน ต่อยอดองค์ความรู้สู่บ้าน 'แป้นใต้' : โดย...ภาวิตา ปาณัณณพ

 

                            การสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาและยืนได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงนั้น นอกจากต้องมีความรักความสามัคคี การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และความตั้งใจในการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแล้ว ผู้นำที่เข้มแข็งย่อมเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ชุมชนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และใช้ศักยภาพของชุมชนได้อย่างเต็มที่

                            แม่หลวงเล็ก วริษา จิตใหญ่ ผู้นำชุมชนบ้านแป้นใต้ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง หนึ่งในผู้หญิงเก่งและเป็นผู้นำที่ชุมชนบ้านแป้นใต้ภาคภูมิใจ เล่าว่า ชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก โดยเน้นปลูกข้าวไว้รับประทานในครัวเรือน และหากมีผลผลิตเพียงพอก็จะส่งขาย ดังนั้นเพื่อเพิ่มผลผลิต ทุกครัวเรือนจึงใช้สารเคมีในการเกษตร ส่งผลให้ผู้คนในชุมชนร้อยละ 90 มีปัญหาสุขภาพ และยังตรวจพบสารเคมีในเลือดในระดับที่อันตราย ชุมชนจึงเริ่มลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชผักสวนครัวที่ชุมชนรับประทานเป็นประจำ

                            การดูแลสุขภาพของชุมชนบ้านแป้นใต้ไม่ได้หยุดเพียงแค่การลดการใช้สารเคมีในการเกษตรเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว ด้วยการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอย่างข้าวกล้องอีกด้วย จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างชุมชนบ้านแป้นใต้และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง หรือปูนลำปาง ที่ใช้แนวทางการบริหารจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบของบริษัท ในการส่งเสริมให้ชุมชนบ้านแป้นใต้พูดคุยกันเพื่อตกผลึกถึงปัญหาสุขภาพที่ชุมชนประสบ และแนวทางการแก้ไขที่ชุมชนสามารถทำได้เอง โดยต้องเป็นการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

                            “โรงสีในพื้นที่ชุมชนบ้านแป้นใต้ส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าวขาว เราจึงอยากจัดตั้งโรงสีข้าวกล้อง เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมารับประทานภายในครัวเรือน และสามารถส่งขายเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งทางปูนลำปางที่ส่งเสริมชุมชนบ้านแป้นใต้ในการทำวิจัยเรื่อง ‘การฟื้นฟูและอนุรักษ์วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการ ‘เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต’ ได้สนับสนุนชุมชนให้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ‘โรงสีข้าวกล้องเพื่อชุมชนตำบลบ้านสา’ เพื่อให้ชุมชนของเราเกิดการเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการร่วมกัน และพัฒนาสู่ชุมชนต้นแบบที่สามารถเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นได้"

                            แม่หลวงเล็กเล่าต่อว่า เริ่มแรกมีการจัดตั้งคณะทำงาน 16 คน เพื่อบริหารจัดการโรงสีข้าวกล้อง กำหนดกฎระเบียบเบื้องต้น และสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในชุมชน โดยมีปูนลำปางเป็นที่ปรึกษา และกำหนดค่าสีข้าวให้เป็นไปตามราคาตลาด โดยสีเฉพาะข้าวกล้องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ดำเนินธุรกิจโรงสีข้าวขาว 

                            โดยข้าวที่ชุมชนบ้านแป้นใต้นำมาผลิตเป็นข้าวกล้องเป็นข้าวอินทรีย์ที่ปลูกในพื้นที่ของชุมชนบ้านสามขา ซึ่งข้าวที่ได้จากการสีจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีเบต้าแคโรทีน สามารถป้องกันมะเร็งและผิวหนังเหี่ยวย่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้าวกล้องจากบ้านแป้นใต้จะสามารถสร้างรายได้ให้ทั้งชุมชนบ้านสามขาและบ้านแป้นใต้ได้เป็นอย่างดี

                            จากเดิมที่ผู้คนในชุมชนประสบปัญหาสุขภาพ บ้านแป้นใต้กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีโรงสีข้าวกล้องเป็นของตัวเอง เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เป็นแบบอย่างแนวคิดดีๆ ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดความคิดและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ และเมื่อชุมชนและสังคมเข้มแข็ง ก็จะสามารถแก้ปัญหาในอนาคตของตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

 

--------------------------

(ทำมาหากิน : จาก 'รักษ์น้ำ' สู่โรงสีข้าวกล้องชุมชน ต่อยอดองค์ความรู้สู่บ้าน 'แป้นใต้' : โดย...ภาวิตา ปาณัณณพ)