ไลฟ์สไตล์

วันทา'พระบาง'กลางใจลาว

วันทา'พระบาง'กลางใจลาว

08 ธ.ค. 2556

วันทา'พระบาง'กลางใจลาว : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล

วันทา\'พระบาง\'กลางใจลาว

 

                ประเทศลาว เพื่อนบ้านของเรา เพิ่งผ่านงานสำคัญระดับชาติมาสองงาน คือบุญสักการะพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน และงานฉลอง 38 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ปีนี้ ลาวยังมีงานใหญ่ระดับ “รัฐพิธี” อีกงานหนึ่ง คือรัฐพิธีเฉลิมฉลองการอัญเชิญพระพุทธรูป “พระบาง” ขึ้นประดิษฐานยังหอพระบางหลังใหม่ ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคมนี้ ณ เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง อดีตราชธานีของลาว พระพุทธรูปองค์นี้สำคัญอย่างไร วันนี้อยากนำท่านไปสักการะครับ

               “พระบาง” ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลาว ชื่อเมืองหลวงพระบาง ก็มีความหมายถึงเมืองที่อาณาราษฎรพร้อมใจกันยกให้ “พระบาง” ปกปักรักษา จึงเปลี่ยนชื่อจากเดิมเมืองเชียงทอง มาเป็น “หลวงพระบาง” อีกทั้ง “พระบาง” ยังเป็นสัญลักษณ์ของการสถาปนาศาสนาพุทธขึ้นในดินแดนนี้เป็นครั้งแรก เมื่อเกือบ 700 ปีก่อน ทำให้อาณาจักรลาวล้านช้างเป็นแดนสุขาวดีของพระพุทธศาสนา จากวันนั้นตราบจนวันนี้

                พงศาวดารล้านช้างระบุว่า ในปี พ.ศ.1896 เจ้าชายฟ้างุ้มได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้ามหาชีวิตแห่งนครศรีสัตนาคนหุต (เชียงทอง) เฉลิมพระนาม “พญาฟ้าหล้าธรณี” หรือพระเจ้าฟ้างุ้ม อันมีความหมายว่า พระราชาผู้ที่แม้แต่ฟ้ายังค้อมคารวะให้ ขณะทรงพระเยาว์ ทรงถูกหาว่าเป็น “กาลกิณี” ด้วยทรงมีพระทนต์เต็ม 33 ซี่ ตั้งแต่แรกประสูติ และยังทรงมีเสียงกรนไพเราะดั่งเสียงดนตรี จึงถูกพระราชบิดาจับใส่แพลอยน้ำโขงไปติดแก่งหลี่ผี ใกล้แผ่นดินกัมพูชา แล้วมีพระธุดงค์เก็บไปเลี้ยง จนเจริญวัยจึงนำไปถวายพระเจ้ากรุงกัมพูชา เจ้าชายฟ้างุ้มได้ศึกษาเล่าเรียนจนวิชาแก่กล้าแล้ว จึงทรงกลับมากอบกู้ราชบัลลังก์ และทรงรวบรวมชาวลาวเป็นปึกแผ่น โดยทรงประกาศว่า... “ผู้ใดอยู่เฮือนสูง กินข้าวเหนียว เคี้ยวปาแดก ก็แม่นแล้วว่าลาว”

 

วันทา\'พระบาง\'กลางใจลาว

 

 

               ในการกลับมากอบกู้แผ่นดินครั้งนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้พระราชทานพระพุทธรูปปัญจโลหะองค์หนึ่ง กับพระไตรปิฎกและหน่อพระศรีมหาโพธิ์แด่พระเจ้าฟ้างุ้มด้วย เมื่อทรงยึดครองเชียงทองสำเร็จแล้ว จึงทรงสถาปนาพุทธศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของอาณาราษฎร แทนการถือผีเช่นในอดีต จึงทรงได้สมัญญานาม “ธรรมราชาผู้ทรงเป็นดวงประทีปแห่งอารยธรรมลาว” ความจริงข้อนี้ยังพิสูจน์ได้จากการที่หลวงพระบางปัจจุบัน ยังมีพระภิกษุสามเณรมากมายหลายร้อยรูป แบ่งสายเดินรับบิณฑบาตข้าวเหนียวจากชาวบ้านเป็นประจำทุกๆ เช้า จนกลายเป็นวิถีวัฒนธรรมที่โด่งดังมากในหมู่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

               พระพุทธรูปปัญจโลหะองค์นั้น เป็นพระพุทธรูปประทับยืน ปางพระพุทธองค์ทรงห้ามพระประยุรญาติแย่งน้ำในมหาสมุทร เรียกสั้นๆ ว่า “ปางห้ามญาติ” เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มอัญเชิญมาเชียงทอง ชาวลาวเรียกให้สั้นลงไปอีกว่า “พระปาง” นานวันเข้า ก็กร่อนคำ “พระปาง” เป็น “พระบาง” ในที่สุด องค์พระบางสูง 2 ศอก 7 นิ้ว หล่อด้วยปัญจโลหะคือ เงิน ทอง ทองแดง ทองเหลือง และเหล็ก โดยมีส่วนผสมที่เป็นทองถึง 42 ชั่ง 1 ตำลึง หรือประมาณ 90% และยังเชื่อกันว่า มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ 5 จุดคือ ที่พระนลาฎ พระหนุ (คาง) พระอุระ และพระหัตถ์ซ้าย-ขวา ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ลาวระบุว่า “พระบาง” สร้างขึ้นที่ลังกาทวีป ตั้งแต่ พ.ศ.436 แล้วพระเจ้ากรุงกัมพูชาอัญเชิญมาภายหลัง แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ลงความเห็นว่า เมื่อพิจารณารูปลักษณะแล้ว พระบางน่าจะสร้างในกัมพูชา หรือเขมร โดยเป็นศิลปะเขมรสมัย “บายน” อายุราว 800 ปี

 

วันทา\'พระบาง\'กลางใจลาว

 

                แต่ไม่ว่าจะสร้างจากที่ไหน พระบางได้กลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวลาว  จนกระทั่ง พ.ศ.2303 เมื่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกำลังเกรียงไกร หลังจากบุกตีนครพิงค์เชียงใหม่ราบคาบแล้ว ก็มีแนวโน้มจะรุกคืบมาถึงอาณาจักรล้านช้าง ทำให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เจ้ามหาชีวิตลาว ตัดสินพระทัยย้ายราชธานีจาก “หลวงพระบาง” มายัง “เวียงจันทน์” พร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตมาเวียงจันทน์ด้วย ส่วนพระบางยังคงประดิษฐานอยู่ที่เชียงทอง และให้เปลี่ยนชื่อเชียงทอง เป็น “หลวงพระบาง” เพื่อความเป็นสิริมงคล

                จนถึง พ.ศ.2321 ทัพสยามสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีบุกตีกรุงเวียงจันทน์ แล้วได้อัญเชิญพระแก้วมรกต รวมถึงพระบาง จากหลวงพระบางมาไว้ที่กรุงธนบุรี ก่อนจะส่งคืนไปในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยความเชื่อว่าหากพระแก้วกับพระบาง ประทับร่วมเมืองเดียวกันจะไม่เป็นมงคล พระบางจึงได้คืนสู่หลวงพระบางอีกครั้ง โดยประดิษฐานหลายวัด จนภายหลังจากลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยมในปี 2518 แล้ว จึงนำมาประดิษฐานไว้ในห้องพระ ภายในพระราชวังหลวงพระบาง ซึ่งปัจจุบันมีสถานะเป็น “หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง” จะมีการอัญเชิญพระบางออกมาแห่แหนให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาและสรงน้ำกันปีละครั้ง คือในเทศกาลสงกรานต์ หรือบุญปีใหม่ลาว

               และนับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป ชาวลาวก็จะพร้อมใจกันอัญเชิญพระบางขึ้นประดิษฐานยังหอพระบางหลังใหม่อย่างสมพระเกียรติ โดยจะมีขบวนแห่แหน 3 วัน คือวันที่ 14 ธันวาคม ตั้งแต่ราว 08.00 น. มีขบวนแห่พระบาง (ทางรถ) ช่วงบ่าย 14.00 น.พิธีทางศาสนา เทศนาฉลองหอพระบางใหม่ และช่วงค่ำ ตั้งแต่ 19.00 น. มีการแสดงทางวัฒนธรรมเฉลิมฉลอง อาทิ การขับทุ้มหลวงพระบาง ฟ้อนนางแก้ว ฯลฯ

 

วันทา\'พระบาง\'กลางใจลาว

 

               วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม เวลา 09.00 น. เคลื่อนขบวน (เดิน) แห่กองผ้าป่าสามัคคีถวายพระบาง จากวัดทาดน้อย ไปหอพระบางหลังใหม่ / 10.15 น. ทอดผ้าป่าสามัคคีช่วงค่ำ มีการแสดงทางวัฒนธรรมเฉลิมฉลอง จากนั้น วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม มีประเพณีตักบาตรข้าวเหนียว พระภิกษุ-สามเณร 99 รูป แล้วเป็นอันเสร็จพิธีเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ

               ท่านใดมีโอกาสไปเยือนหลวงพระบางช่วงเวลานั้น ก็นับเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตยิ่งนัก

               

....................................

(วันทา'พระบาง'กลางใจลาว : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล)