
ทำมาหากิน : เพิ่มค่า'กระติบข้าว'
ทำมาหากิน : ตั้งกลุ่มเพิ่มค่า 'กระติบข้าว' สู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน 'บ้านยางคำ' : โดย...ปัญญาพร สายทอง
ผลิตภัณฑ์จักสาน เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน อย่างงานของ กลุ่มจักสานกระติบข้าวบ้านยางคำ หมู่ 13 ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ที่มี นายกองมี หมื่นแก้ว เป็นประธานกลุ่ม ที่นำภูมิปัญญาดั้งเดิมปรับให้ทันสมัย ควบคู่การอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยเฉพาะจุดเด่นของ ต.ยางคำ เพื่อให้ลูกหลานได้ช่วยกันรักษาเอาไว้สืบไป
นายกองมี เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งปี 2541 เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่และเป็นการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ระยะแรกๆ จะมีเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุโดยจะทำช่วงเวลาว่าง ต่อมามีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงหมู่บ้าน และต้องการจำนวนมาก สมาชิกจึงขยายออกไปสู่คนทุกเพศ วัย เดิมจะสานเฉพาะกระติบข้าวทรงกลม แต่ปัจจุบันมีรูปทรงให้เลือกมากมาย มีทุกขนาด ใช้สำหรับเป็นของที่ระลึกใส่เครื่องประดับ เช่น ปิ่นโตไร้สาย กระติบข้าวรูปหัวใจ ภาชนะต่างๆ โดยการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากเครือข่าย KBO จ.ขอนแก่น ได้รับการคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับ 4 ดาว (ปี 2556)
นอกจากนี้ได้ร่วมกับกลุ่มนักวิจัย นำโดย ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ สายวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ โปรแกรมบรรจุภัณฑ์และนิทรรศการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ศึกษาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนให้หลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระติบเดี่ยว กระติบของฝาก กระติบปิกนิก กล่องข้าว และอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ "ไผ่ตะวัน" ซึ่งก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยราคาสินค้ามีตั้งแต่ 70 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความละเอียดของชิ้นงาน
"จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ มีรูปทรง ลวดลาย ขนาดของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีความประณีต สามารถใช้เป็นของฝาก ของที่ระลึก สีที่ย้อมเป็นสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ที่หาได้ในชุมชน มีหลายลวดลาย ทั้งลายคุบ ลายสองยืน ลายข้างกระแต ลายสาม ลายโบว์ ลายผีเสื้อ ลายปลา ลายลูกเต๋า ฯลฯ ล่าสุดได้คิดลายตัวอักษรทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษใส่ลงไปรอบกระติบข้าว" นายกองมี เล่า
พร้อมยอมรับว่า เหล่านี้ได้สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ชุมชนเป็นอย่างมากเนื่องจากมีความเป็นเอกลักษณ์ของตำบลในการใช้เป็นของฝากและของที่ระลึกให้ผู้มาเยี่ยมเยียน ซึ่งจากการรวมกลุ่มทำให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่เยาวชนรุ่นหลัง กลุ่มจึงมีตัวแทนไปสอนในหมวดงานอาชีพที่โรงเรียนบ้านยางคำ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน
ส่วนขั้นตอนการสาน นายกองมี บอกว่า ไม่ยากและไม่ง่ายแต่ต้องมีความตั้งใจ ก่อนอื่นต้องเตรียมอุปกรณ์ คือ ไม้ไผ่ มีด ก้านตาล สีธรรมชาติ ซึ่งจะเลือกไม้ไผ่อายุ 2-3 ปี ตัดเป็นท่อนๆ นำมาจักเป็นตอกเส้นเล็ก/ใหญ่ ขนาดความยาวตามความต้องการ การจักตอกเป็นเส้นเล็กๆ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความละเอียด ประณีต สวยงาม จากนั้นนำเครื่องจักสานที่เสร็จเรียบร้อยไปรมควันเพื่อป้องกันมอด ส่วนการย้อมสีต้องใช้เฉพาะสีธรรมชาติเท่านั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อ
ปัจจุบันการผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เนื่องจากผู้สานส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและชาวบ้านที่ว่างจากการทำนา ทำให้จำนวนสินค้าและความต้องการไม่เพียงพอดังกล่าว อย่างไรก็ตามกลุ่มยังคงเดินหน้าผลิตสินค้าต่อไปและคาดว่าจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ที่สนใจแวะชมผลิตภัณฑ์งานทำมือได้ที่กลุ่มจักสานกระติบข้าว 153 หมู่ 13 ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น และศูนย์แสดงจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อป อ.หนองเรือ โทร.08-5683-1757
-----------------------------
(ทำมาหากิน : ตั้งกลุ่มเพิ่มค่า 'กระติบข้าว' สู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน 'บ้านยางคำ' : โดย...ปัญญาพร สายทอง)