
วางแผนแก้ผลไม้ใต้ตอนบนปี57
วางแผนแก้ผลไม้ใต้ตอนบนปี 57 ชูไม้ผลเด่นเจาะตลาดต่างแดน : สุวรรณี บัณฑิศักดิ์ ... รายงาน
รัฐเตรียมวางแผนตลาดผลไม้ 3 จังหวัดใต้บนในฤดูการผลิตหน้า เน้นชูผลไม้เด่นแต่ละจังหวัด เงาะโรงเรียนสุราษฎร์ มังคุดเมืองคอนและทุเรียนชุมพร หวังลดปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำในระยะยาว เนื่องจากพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนบนประกอบไปด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชนั้น นับเป็นพื้นที่หลักของผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะภาครัฐเอง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้พยายามหาแนวทางช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ ทั้งเน้นการส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นที่ต้องการตลาด ส่งเสริมการบริโภคในประเทศทุกภูมิภาค เฟ้นหาตลาดต่างประเทศรองรับ
"ปีนี้นับว่าผลไม้บางประเภทไม่ประสบปัญหามากนัก หากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เป็นแหล่งผลิตเงาะสายพันธุ์โรงเรียนได้ชื่อว่าหวาน กรอบ ล่อน อร่อยไม่เหมือนที่อื่น โดยแหล่งผลิตชื่อดังในพื้นที่ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี นับว่าราคาพุ่งสูงพอสมควร เกษตรกรชาวสวนเงาะลืมตาอ้าปากได้ ที่สำคัญยังสามารถส่งออกได้ราคาดีอีกด้วย"
ทวีป อรรถพรพงษ์ เกษตรอำเภอบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ผลไม้ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเงาะสายพันธุ์โรงเรียนที่ได้ชื่อว่าหวาน กรอบ ล่อน อร่อย เป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไป โดยแหล่งผลิตหลักอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งแต่ละปีผลผลิตจะออกสู่ท้องตลาดประมาณ 3 รุ่น
"ปีนี้รุ่นแรกออกปลายเดือนมิถุนายน ประมาณ 20% รุ่นที่ 2 ช่วงเดือนสิงหาคม ประมาณ 60% และรุ่นที่ 3 อีก 20% ออกช่วงเดือนกันยายน ซึ่งทั้ง 3 รุ่น ผลผลิตประมาณ 2 หมื่นตัน โดยช่วงแรกๆ เกษตรกรหวาดหวั่นว่าราคาอาจจะตกต่ำได้เนื่องจากในช่วงเดียวกันกลับมีผลผลิตจากที่อื่นเข้ามาตีตลาดและพยายามสร้างจุดขายว่าเป็นเงาะโรงเรียนที่มาจาก อ.บ้านาสาร ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อาจจะทำให้สูญเสียความเป็นแบรนด์เนมของเงาะนาสารได้"
ทวีปให้รายละเอียดต่อว่า ที่สำคัญปีนี้เกษตรกรชาวสวนเงาะร่วมกับอำเภอบ้านนาสารและสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านนาสาร เน้นการส่งออกเงาะโรงเรียนพื้นที่ อ.บ้านนาสารไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและกัมพูชา ที่ชื่นชอบในรสชาติของเงาะโรงเรียน จึงทำให้มีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นพื้นที่ อ.บ้านนาสาร เกษตรกรส่วนหนึ่งปลูกเงาะสายพันธุ์สีทอง ซึ่งมีรสชาติอมเปรี้ยว อมหวาน ส่งออกประเทศในโซนยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส มีออเดอร์เข้ามาแล้วเช่นกัน พร้อมเน้นย้ำให้เอาผลผลิตเฉพาะในพื้นที่ อ.บ้านนาสาร ซึ่งรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ซึ่งผลผลิตเงาะของอำเภอบ้านนาสาร ทั้งสายพันธุ์เงาะโรงเรียนและสีทอง มีรสชาติที่แตกต่างจากที่อื่น ส่วนหนึ่งมาจากสภาพของดินน้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการส่งออกอย่างมาก
"ออเดอร์การส่งออกปีนี้ประมาณ 5% ของผลผลิตทั้งหมด ที่สำคัญตลาดเริ่มกว้างมากขึ้น ส่วนราคาในปีนี้ถือว่าโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีราคาจากสวนโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 18-22 บาท" เกษตรอำเภอบ้านนาสารเผยข้อมูล
ขณะที่ วารินทร์ เพชรโกษาชาติ เกษตรกรชาวสวนเงาะโรงเรียนในอ.นาสาร รายหนึ่ง ยอมรับว่าปีนี้ถือว่าราคาเงาะพอจะรับได้ แต่ถ้าช่วงปีไหนต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10 บาท เกษตรกรอาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนเงาะโรงเรียนจะอยู่ที่กิโลกรัมละเกือบ 10 บาทแล้ว ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะต้องรอดูตลาดเป็นระยะ อีกทั้งหากไม่มีเงาะจากที่อื่นเข้ามาตีตลาด ราคาเงาะก็จะพุ่งสูงขึ้น
มีรายงานว่าสำหรับในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะมังคุด หากช่วงไหนมีผลผลิตมากก็วิกฤติเช่นกัน แต่รัฐยังมีทางออกคือการแปรรูปไม่ว่าจะเป็นมังคุดคัด มังคุดกวด ส่งเสริมการบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และเฟ้นหาตลาดรองรับแต่เนิ่นๆ ก็ไม่เป็นปัญหามากนัก ซึ่งไม่แตกต่างไปจาก จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของทุเรียนมีคุณภาพ โดยตอนนี้ภาครัฐก็สนับสนุนการแปรรูปหลากหลายส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยแปรรูปเป็นทุเรียนทอด ทุเรียนอบกรอบ บรรจุภัณฑ์อย่างสวยงามและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศบางประเทศ
อย่างไรก็ตามในปีนี้แม้ว่าบางจังหวัดปัญหาราคาตกต่ำเบาบางไปบ้าง แต่ยังมีผลไม้บางตัวโดยเฉพาะลองกองที่ยังหาทางออกไม่ได้มากนัก เพราะห้วงปีนี้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดพร้อมกัน 3 จังหวัดและยังหาแนวทางแปรรูปไม่ได้ มีเพียงการบริโภคในประเทศอย่างเดียว ภาครัฐเองจึงจำเป็นต้องมาช่วยเหลือโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบในหลักการโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ที่สนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
โดยมีเป้าหมายผลผลิต 43,190 ตัน วงเงิน 189.755 ล้านบาท มีพื้นที่ดำเนินการ 7 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, ปัตตานี, ยะลาและนราธิวาส ประกอบด้วยมาตรการดำเนินงาน 2 มาตรการ คือ 1.กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต 2.ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคโดยพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ประสานสำนักประชาสัมพันธ์เขต 5 เน้นการประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ท้องถิ่น อีกทั้งหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเป้าหมายปี 2557 จะเน้นการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐสื่อสารอย่างต่อเนื่องเพื่อเน้นให้มีการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ท้องถิ่น ส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ท้องถิ่น อีกทั้งการเจาะตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น ตลอดจนการทำสวนผลไม้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว มีทั้งชม ชิม ผลไม้สดๆ จากต้น สร้างรายได้งามแก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ได้ไม่น้อย
---------------------------
(วางแผนแก้ผลไม้ใต้ตอนบนปี 57 ชูไม้ผลเด่นเจาะตลาดต่างแดน : สุวรรณี บัณฑิศักดิ์ ... รายงาน)