ไลฟ์สไตล์

'SHA'รักษาด้วยใจ ยึดผู้ป่วยเป็นศก.

'SHA'รักษาด้วยใจ ยึดผู้ป่วยเป็นศก.

22 พ.ย. 2556

'SHA'รักษาด้วยใจ ยึดผู้ป่วยเป็นศก. จิตตปัญญาสู่ระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน : โดย...พวงชมพู ประเสริฐ

               "ผู้ปฏิบัติงานทั้ง แพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีความสุขในการทำงานลดน้อยลง เพราะต้องวิ่งตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จนลืมมองว่า การทำงานที่ดีได้มาตรฐานคุณภาพนั้น ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความสุขควบคู่ไปด้วย แม้สถานพยาบาลจะมีมาตรฐานคุณภาพถูกต้อง ยังมีเรื่องร้องเรียนอยู่ตลอด เพราะสัมพันธภาพระหว่างบุคลากรในโรงพยาบาลกับผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยมีน้อย หรือแทบจะไม่มีเลย" นพ.พิทักษ์พงษ์ พรรณพราว แพทย์ประจำโรงพยาบาลนาดูน จ.มหาสารคาม บอกถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ SHA เมื่อปี 2554

               โครงการ SHA หรือโครงการ "สร้างเสริมมิติจิตตปัญญาสู่ระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Health Care and Health Promotion Be Appreciation and Accreditation : SHA) เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.กับสำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ โดยต้องการให้เกิดการผสมผสานแนวคิดการพัฒนาคุณภาพด้วยมิติจิตใจ ใช้มุมมองที่ละเอียดอ่อน ความหมายและคุณค่าของชีวิต เข้าไปในระบบบริการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลมีความปลอดภัย มีมาตรฐาน และขณะที่จิตใจของคนทำงาน มีความประณีต ทำงานร่วมกับชุมชนได้ ทั้งผู้รับบริการและคนทำงานมีความสุข

                 นพ.พิทักษ์พงษ์ บอกว่า ปีแรกสิ่งที่โรงพยาบาลเริ่มทำคือ การปรับทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน ต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นก่อน ว่าความต้องการด้านจิตใจของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยที่มารักษาบางรายไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง ในบางกรณีเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ญาติเกิดความกังวลทำให้จิตใจของญาติและผู้ป่วยเกิดความวิตกกว่าปกติ ดังนั้นนอกจากแพทย์ พยาบาล จะรักษาตามมาตรฐานที่โรงพยาบาลกำหนดไว้แล้ว จะต้องใส่ใจและให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย

                 เทคนิคที่โรงพยาบาลนาดูนใช้ในการดูแลผู้มาเข้ารักษาคือ การติดดอกลีลาวดีให้ผู้ป่วยและญาติ โดยสีแดง สำหรับคนไข้ สีเหลืองสำหรับญาติ เมื่อเข้ารักษา ทั้งแพทย์และพยาบาลจะตรวจอาการ พร้อมถามถึงความกังวล ไม่เฉพาะผู้ป่วยแต่ถามความรู้สึกของญาติด้วย

                  "จากการเข้าร่วมโครงการมา 3 ปี ทำให้โรงพยาบาลนาดูนมีสัมพันธภาพกับคนไข้ดีขึ้น ดูได้จากการประเมินความคิดเห็นที่คนไข้และญาติได้แสดงความคิดเห็นตามใบประเมินซึ่งโรงพยาบาลได้เก็บผลสำรวจทุกเดือน การร้องเรียนเรื่องบริการต่างๆ ลดน้อยลง การประเมินความสุขของผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำทุก 6 เดือน อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น  เมื่อคนทำงานมีความสุข งานก็ออกมาดี คนไข้ก็ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ และหายจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น" นพ.พิทักษ์พงษ์ กล่าว

                 เช่นเดียวกับ นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวังผา จ.น่าน เล่าว่า จากเดิมที่โรงพยาบาลแค่รักษาตามมาตรฐานทั่วไป เมื่อเข้าร่วมโครงการและโรงพยาบาลใช้เป็นนโยบายในการปฏิบัติงาน เน้นฟังเสียงคนไข้ ความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลักเพิ่มการดูแลใส่ใจผู้ป่วยมากขึ้น มีการถามถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย เพราะในบางกรณีผู้ป่วยเดินทางกลับมารักษาซ้ำ โดยที่ไม่รู้สาเหตุว่าโรคที่เป็นอยู่นั้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้าน เมื่อผู้รักษาได้คุยกับผู้ป่วยมากขึ้น ในเรื่องที่นอกเหนือการรักษา ผู้ป่วยก็จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ลดความกังวลในโรคลงได้

                "จุฬารัตน์  สุริยาทัย"  พยาบาลประจำโรงพยาบาลท่าวังผา เล่าเสริมว่าก่อนหน้านี้ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีผู้ป่วยจำนวนมากผิดนัด มาไม่ทันกดบัตรคิว เมื่อถามจึงรู้ว่า เพราะบ้านอยู่ห่างไกล ต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง เมื่อมาถึงก็เลยเวลากดบัตรคิว โรงพยาบาลก็ให้ผู้ป่วยเป็นคนเลือกนัดวันเวลาที่สะดวกมาตรวจ และเลื่อนเวลาการกดบัตรคิวจากเดิมออกไป ผู้ป่วยก็เกิดความไว้ใจในโรงพยาบาลและให้ความร่วมมือในการเข้ารับการรักษามากขึ้น

                 "เคยมีกรณีของคุณยายท่านหนึ่งเข้ามารับการรักษา ได้ยากลับไปรับประทาน แต่ก็มารักษาซ้ำบ่อยๆ เพราะอาการไม่ดีขึ้น หลังจากมีการพูดคุยกัน ก็ทราบว่าคุณยายอยู่กับสามีไม่มีลูกหลาน ซึ่งตัวคุณยายและสามีอ่านหนังสือไม่ออกทั้งคู่ ทำให้คุณยายทานยาเฉพาะที่จำได้ว่า กินก่อนหรือหลังอาหาร เมื่อห้องจ่ายยาทราบเรื่อง ก็ทำเป็นสัญลักษณ์ระบุที่ซองยา เพื่อให้คุณยายเข้าใจ แทนการอ่าน ซึ่งการใส่ใจผู้ป่วยเป็นหัวใจหลักของการรักษา" จุฬารัตน์กล่าว

 

.....................

('SHA'รักษาด้วยใจ ยึดผู้ป่วยเป็นศก. จิตตปัญญาสู่ระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน : โดย...พวงชมพู   ประเสริฐ )