
'ขนมพิษ'กลเม็ดใส่สารกันบูด
'ขนมพิษ'กลเม็ดใส่สารกันบูด : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
"...ใส่สารกันบูดหลายชนิดในขนมชิ้นเดียวกัน ใช้ชื่อไม่เหมือนกัน คนซื้ออ่านแล้วไม่เข้าใจ นึกว่าไม่เกินมาตรฐาน..."
ร้านขายขนมเป็นเหมือนสวรรค์ของเด็ก ไม่ว่าจะในหมู่บ้าน ในเมือง ขนมโดนัทโรยน้ำตาล เยลลี่สีสดใส ช็อกโกแลต ข้าวเกรียบกุ้ง เป็นขนมยอดนิยมของเด็กทุกยุคสมัย แต่จะมีคนขายสักกี่คนสำรวจตรวจดูว่า ขนมที่นำมาวางขายให้เด็กๆ เหล่านี้สะอาดปลอดภัยหรือไม่ ?
ในอดีตการตรวจตราขนมเหล่านี้ อาจไม่เคร่งครัดมากนัก ความรู้เรื่องสารกันบูดหรือสีสังเคราะห์อันตรายยังไม่แพร่หลาย ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ปัญหานี้มีทุกประเทศทั่วโลก จวบจนความรู้เรื่องโภชนาการเริ่มแพร่หลาย มาตรการความปลอดภัยในการผลิตอาหารกลายเป็นเรื่องสำคัญ สารเคมีและวัตถุเจือปนถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด เพราะสารอันตรายเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยาว โดยเฉพาะอาหารสำหรับเด็กนั้น ประเทศส่วนใหญ่จะควบคุมดูแลเป็นพิเศษ เช่น การอนุญาตให้ใช้สีสังเคราะห์บางประเภท จะห้ามใช้เด็ดขาดในขนมที่เด็กชอบซื้อกิน
สำหรับประเทศไทยนั้น มาตรการควบคุมเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีใครให้ความสนใจ แม้จะมีองค์การอาหารและยามีกฎระเบียบบังคับทั้งผู้ผลิตและผู้ขายให้ปฏิบัติตาม แต่บทลงโทษที่ส่วนใหญ่จะปรับแค่ไม่กี่พันบาท ทำให้ขนมไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานยังคงวางขายทั่วไปเหมือนเดิม ทั้งที่ผลิตจากโรงงานเถื่อนหรือขนมนำเข้าตามชายแดน
จากข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพของประชาชนไทยเมื่อปี พ.ศ.2551-2552 โดยเก็บตัวอย่างจากเด็ก 3 หมื่นคนทั่วประเทศ พบว่าเด็กไทยอายุ 2-14 ปี ร้อยละ 30 รับประทานขนมกรุบกรอบทุกวัน ขณะที่ ร้อยละ 42 กินเป็นบางวัน แสดงให้เห็นว่าเด็กราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเข้าถึงขนม โดยที่ไม่รู้ว่าขนมเหล่านั้นมีความปลอดภัยและอันตรายมากน้อยเพียงใด
"พชร แกล้วกล้า" ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า ขนมเด็กที่วางขายในร้านโชห่วยเล็กๆ นั้น แค่มองดูก็รู้แล้วว่าอันตราย ไม่มีข้อมูลฉลากส่วนผสม หรือได้มาตรฐาน อย. แต่ที่น่าสนใจคือ แม้แต่ขนมที่วางขายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น หรือบิ๊กซี โลตัส ก็มีอันตรายเช่นกัน จากการสุ่มตัวอย่างสำรวจเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่า ขนมปัง และเค้ก ที่ซื้อมาจากร้านเหล่านี้ เมื่อส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสารกันบูดที่นิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid) ผลการทดสอบพบว่า 1 ใน 3 เช่น ขนมปังไส้ถั่วแดงใส่สารกันบูด 2 ชนิดผสมกันคือ กรดซอร์บิก 650 มก./กก. และกรดโปรปิโอนิค 1,006 มก./กก. รวมกันแล้วเท่ากับ 1,656 มก./กก. หรือเค้กโรลวานิลลาที่พบกรดซอร์บิกผสมอยู่ถึง 1,583 มก./กก. โดยกฎหมายกำหนดให้ใส่สารกันบูดได้ไม่เกิน 1,000 มก./กก.
สำหรับกลยุทธ์ที่ขบวนการทำขนมเถื่อนนิยมใช้ในการใส่สารกันบูดนั้น "พชร" เล่าจากประสบการณ์ให้ฟังว่ามีทั้งหมด 3 วิธีคือ 1.ใส่สารกันบูดในส่วนประกอบอื่นที่ พ.ร.บ.อาหารฯ ไม่อนุญาตเช่น แอบใส่ในแป้ง เนย ฯลฯ 2.ใช้กลยุทธ์ใส่สารกันบูดหลายชนิดในขนมชิ้นเดียวกัน ใช้ชื่อไม่เหมือนกัน คนซื้ออ่านแล้วไม่เข้าใจ นึกว่าไม่เกินมาตรฐาน แต่ถ้ารวมกันแล้วจะทำให้สูงมากกว่ามารตฐาน เช่น “เบนโซอิก” “กรดโปรปิโอนิค” “กรดซอร์บิก” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชื่อทางเคมีของสารกันบูดทั้งสิ้น 3.ใช้วิธีใส่ตัวเลขโกหก เพราะรู้ว่าคนซื้อไม่มีทางเอาขนมไปตรวจส่วนผสมว่าตรงกับที่ระบุในฉลากหรือไม่
รายละเอียดสำหรับ “สารกันบูด” ยอดนิยมที่ใส่ในขนมเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย นั้น 1."กรดเบนโซอิก" (Benzoic) หรือ "โซเดียมเบนโซเอต" มีราคาถูกและไม่ทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยน มักใส่ในอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นกรดสูง เช่น เยลลี่ ผลไม้ดอง น้ำผลไม้ แยม ฯลฯ อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายไม่เกิน ร้อยละ 0.1 2."กรดซอร์บิก" (Sorbic acid) เป็นสารกันบูดที่นิยมใช้กันมากในไส้ขนมต่างๆ อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายไม่เกิน ร้อยละ 0.1 3.“กรดโปรปิโอนิก” (Propionic acid) ใส่ในขนมปัง ช็อกโกแลต เนยแข็ง เบเกอรี่ ฯลฯ อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย ร้อยละ 0.1-0.2
แต่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ "กรดเบนโซอิก" ซึ่งรายงานทางวิชาการของสำนักงานด้านมาตรฐานของประเทศอังกฤษ (Food Standard Agency of United Kingdom; FSA) พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะคนที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้การใช้ในปริมาณที่สูง พิษเฉียบพลันทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ท้องเสีย ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อต่างๆ เลือดออกในร่างกาย ตับ ไตใหญ่ขึ้น หากร่างกายรับเข้าไปมากเกินไปอาจทำให้เป็นอัมพาต ยิ่งไปกว่านั้น รายงานข้างต้นยังเป็นห่วงว่า เด็กที่กินขนมที่ใส่สารกันบูดเยอะๆ และกินต่อเนื่องนานๆ อาจทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ในอวัยวะต่างๆ หรือเด็กที่กินขนมใส่สารกันบูดร่วมกับสีผสมอาหารทำให้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นด้วย (Atttention Deficit Hyperactive Disorder: ADHD)
สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยรวบรวมข้อมูลตัวอย่างอาหารที่มีผลการตรวจวิเคราะห์ทั้งวัตถุกันเสียชนิดโซเดียมเบนโซเอต และสีอินทรีย์สังเคราะห์ ที่ได้รับตัวอย่างจากหน่วยงานราชการและเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2551 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป ขนม และซอสบางชนิดรวม 43 ตัวอย่าง มีการใส่โซเดียมเบนโซเอตร่วมกับสีอินทรีย์สังเคราะห์ถึง 30 ตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า เด็กไทยมีโอกาสสูงที่จะได้รับสารพวกนี้สะสมในร่างกายต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามข้อมูลข้างต้นไม่ครอบคลุมอาหารอีกหลายชนิดที่เด็กนิยมบริโภค จึงควรมีการศึกษาในอาหารอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงได้ถูกต้องและใกล้เคียงกับสภาพปัญหามากที่สุด
“สีผสมขนมอันตราย”6ชนิด
องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลกเรียกร้องให้ระงับใช้สีผสมอาหาร 6 ชนิดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากทำให้เกิดอันตรายกับเด็ก แต่ไทยยังไม่ห้าม เพียงแต่กำหนดให้ใส่ไม่เกินที่กำหนดเท่านั้น
- สีแดง- ปองโช 4 อาร์ ร์ (ponceau), คาร์โมอีซีน (carmoisine) และ อัลลูร่า เรด (allura red : ต้องขออนุญาติเป็นพิเศษ)
- สีเหลือง- ซันเซ็ต เยลโล่ (sunset yellow) ควิโนลีน เยลโล่ (quinoline yellow) ทาร์ทารซีน (tartrazine)
งานวิจัยจากเอฟเอสเอของอังกฤษ ระบุว่า สีทั้ง 6 ชนิดมีโทษต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับเด็ก ทำให้เป็นโรคสมาธิสั้น เด็กบกพร่องการเรียนรู้ ดื้อซน ทำร้ายตัวเอง อาจมีอาการทางร่างกายด้วย เช่น กล้ามเนื้อหน้ากระตุก
อันตรายจากสีผสมอาหารทั่วไป
สีจะเข้าไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก เกิดภาวะอาหารย่อยยาก นำไปสู่อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ นอกจากนี้สีที่เคลือบกระเพาะอาหารยังขัดขวางการดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องเสีย อ่อนเพลีย ผลระยะยาวทำให้ตับและไตอักเสบ อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในอนาคต
............
(หมายเหตุ : 'ขนมพิษ'กลเม็ดใส่สารกันบูด : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)