ไลฟ์สไตล์

ช่องเขาขาด ช่องทางเดินแห่งความทรงจำ

ช่องเขาขาด ช่องทางเดินแห่งความทรงจำ

27 ต.ค. 2556

ช่องเขาขาด ช่องทางเดินแห่งความทรงจำ : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม

               เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีเรื่องราวของช่องเขาขาดนำเสนอผู้อ่านไป แต่มีเสียงถามไถ่อยากรู้เรื่องราวมากขึ้น สัปดาห์นี้ เลยนำมาเสนอรายละเอียดของสถานที่แห่งนี้มากขึ้น ช่องเขาขาด พูดง่ายๆ ก็คือช่องเขาที่ถูกตัดขาดออกจากกัน แต่ในความเป็นจริงที่นี่รับรู้กันหมู่เชลยและผู้คนแถวนี้ ที่นี่ช่องไฟนรก หรือ Hellfire Pass เพราะตกกลางคืนจะเห็นแสงไฟวับๆ แวมๆ สะท้อนภาพเชลยศึกไปบนผนังหิน กับเสียงเครื่องมือขุดเจาะหิน เสียงระเบิด และสุดท้ายเสียงแห่งความเจ็บปวด

               ช่องเขาขาด หรือช่องไฟมรณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายมรณะ 415 กิโลเมตร ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารญี่ปุ่นบังคับเชลยศึกและแรงงานชาวเอเชียที่ถูกเกณฑ์มา ตัดเส้นทางผ่านป่าเขา หินผา ป่าทึบ เพื่อเชื่อมต่อเข้าไปยังประเทศพม่า สำหรับใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังบำรุงกองทัพที่จะรุกคืบไปตีอินเดีย ซึ่งสมัยนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

 

ช่องเขาขาด ช่องทางเดินแห่งความทรงจำ

 

               ปัจจุบัน บริเวณดังกล่าว ตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งความทรงจำ โดยรัฐบาลออสเตรเลียซึ่งสูญเสียชีวิตทหารในเหตุการณ์จำนานมาก เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องของเหตุการณ์ช่วงของการสร้างทางรถไฟ ทั้งภาพถ่าย เครื่องไม้เครื่องมือ และรายละเอียดบอกเล่า ไปจนถึงภาพยนตร์เงียบขาวดำที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ และเพื่อให้เห็นสถานที่จริง ทางพิพิธภัณฑ์ยังได้ปรับปรุงเส้นทางรถไฟช่วงช่องเขาขาดไว้ให้ชนรุ่นหลังได้มารำลึกถึงเหตุการณ์ โดยเป็นความร่วมมือกัน

                การจัดแสดงทั้งภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ และการดูแลเส้นทางรถไฟช้องเขาขาดที่เปิดให้ผู้คนเข้าชมได้ตั้งแต่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ไปจนถึงสถานีหินตก ระยะทางเกือบ 4 กิโลเมตร ทำให้ได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 10 พิพิธภัณฑ์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย จากการโหวตของนักท่องเที่ยวนับล้านคนผ่านเว็บไซต์  TripAdviser.com

               ที่นี่เปิดให้เขาชมตั้งแต่ 09.00-16.00 น.ทุกวัน ชมฟรีไม่มีชาร์จ และถ้าให้ดี หยิบโบรชัวร์บอกเส้นทางและเรื่องราวย่อๆ กับขอยืมเครื่องโสตพร้อมหูฟัง ไปฟังระหว่างทางไปด้วย จะทำให้ได้รู้เรื่องราวมากขึ้น อ้อ...เครื่องโสตฯ นี้ ต้องวางมัดจำนะคะ แต่ถ้านำมาคืนทางผู้ดูแลก็จะคืนเงินมัดจำให้ ส่วนถ้าใครจะเดินทางระยะยาวเกือบ 4 กิโลเมตร ซึ่งก็ใช้เวลาเดินไป-กลับร่วม 4 ชั่วโมงเหมือนกัน ก็จะได้รับเครื่องรับ-ส่งวิทยุและกุญแจห้องน้ำไปด้วย และควรเตรียมน้ำดื่มกับยาฉีดกันยุงไปด้วยก็จะช่วยได้มาก และที่ขาดไม่ได้คือใจ

               ฉันเดินไป เปิดเครื่องโสตฟัง เหมือนมีเพื่อนร่วมเดินไปด้วยกัน บอกเล่าเหตุกาณณ์ ให้ได้ฟัง ได้รับรู้ถึงความยากลพบาก และความเจ็บปวด ไม่ว่าจะแดดออก หรือ ฝนตก พายุพัดถล่ม หรือในยามค่ำคืน มีเพียงแสงไฟจากตะเกียง และกองไฟ สะท้อนภาพเพื่อนเชลยกระทบกับผนังหินผา

 

ช่องเขาขาด ช่องทางเดินแห่งความทรงจำ

 

                สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเชลยก้มหน้าก้มตาทำงานและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ คือ ความหวัง โดยเฉพาะความหวังที่จะได้กลับอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ทำให้พวกเขาต้องสู้ต่อไป ในที่เส้นทางผ่านช่องเขาขาดก็เสร็จสิ้นลง จากการตัดเขา ขุด เจาะด้วยเครื่องมือที่มีเพียงค้อน จอบ ช่วงที่โหดสุดก็คือช่วงที่ต้องสกัดหิน ที่มีจุดที่ลึกสุดถึง 25 เมตร และบริเวณเป็นที่ตั้งอนุสรณ์สถาน ที่มีการจัดงานรำลึกทุกปี ใครที่จะเดินเส้นทางระยะสั้นก็มักมาถึงจุดนี้ แล้วกลับ

                ฉันเดินต่อไปอีกหน่อย นั่งพักเหนื่อยชมหุบเขาแควน้อย ก็ไม่ต่างจากที่เสียงเชลยศึกบอกเล่าว่า ตรงนี้เป็นบริเวณที่พวกเขาเหมือนได้มานั่งพัก ชมวิวที่สวยงามของป่าเขา ช่วยให้หายเหนื่อยไปได้บ้าง ปลายทางคือสถานีหินตก ซึ่งถ้าใครจะเดินไปแล้วไม่อยากเดินกลับในระยะเท่านั้นก็มีจุดที่รถเข้าไปรับได้  การเดินตามรอยทางแห่งนี้ แม้จะเหนื่อย แต่ก็เทียบไม่ได้แม้สุชักนิดกับที่เชลยศึกเดินกันวันละไม่ต่ำกว่า 10 กม.ในการตัดเส้นทางสายนี้ และวันนี้ ... ที่นี่ก็ยังเป็นความทรงจำที่ไม่อาจลืม

 

หมายเหตุ : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด อยู่ในหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กม.ที่ 64-65 บนทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี- ทองผาภูมิ) โทร. 08-1814-7564, 08-1754-2098, 0-3453-1347

 

.........................

 

(ช่องเขาขาด ช่องทางเดินแห่งความทรงจำ : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม)