ไลฟ์สไตล์

หนังสือที่เธอถือมา : กาพย์ยานี

หนังสือที่เธอถือมา : กาพย์ยานี

20 ต.ค. 2556

หนังสือที่เธอถือมา : กาพย์ยานี : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม

 

                          กาพย์มีหลายประเภท แต่กาพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะแต่งง่าย อ่านง่าน ได้จังหวะ ได้พลัง ก็คือ กาพย์ยานี ๑๑ คนที่ชอบแต่งบทกวี ย่อมมีประสบการณ์การแต่งกาพย์ยานีไม่มากก็น้อย บางคนเรียก ‘ยานีลำนำ’ หรือ ‘ยานีรจนา’

                          กาพย์-พจนานุกรมอธิบายว่า ‘คำของกวี คือคำร้อยกรองชนิดหนึ่ง คล้ายคำฉันท์ แต่ไม่นิยมครุลหุ’

                          กระนั้น ในการแต่งกาพย์ยานี ก็มีจังหวะคำ เสียงหนัก เสียงเบา เสียงยาว เสียงคำ เสียงอักษร ถ้ากาพย์ยานีแบบ จิตร ภูมิศักดิ์ กับ นายผี จะมีท่วงทำนองขึงขังหนักแน่นคล้ายกัน

 

                          ‘เปิบข้าวทุกคราวคำ  จงสูจำเป็นอาจิณ

                          เหงื่อกูที่สูกิน       จึงเกิดก่อมาเป็นคน’

                          (จิตร ภูมิศักดิ์)

 

                          ‘ในฟ้าบ่มีน้ำ      ในดินซ้ำมีแต่ทราย

                          น้ำตาที่ตกราย      ก็รีบซาบบ่รอซึม’

                          (นายผี)

 

                          กวีมีชื่อเสียงหลายคนแต่งกาพย์ด้วยท่วงทำนองนี้ ที่ชัดเจนคนหนึ่งคือ คมทวน คันธนู

 

                          ‘อาไทที่เมืองทอง บ่มีทองมาทาบทอ

                          มีคราบน้ำตาคลอ อยู่เต็มด้าวนภาดล’

                          (คมทวน คันธนู)

 

                          ขณะกาพย์ยานีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ท่วงทำนองปรับเปลี่ยนไปทางอ่อนหวาน หรือบางทีลงเสียงท้ายวรรคออกไปทางกลอน

 

                          ‘มาเถิดมาทุกข์ยาก     มาบั่นบากกับเพื่อนพ้อง

                          อย่าหวังเลยรังรอง     จะเรืองไรในชีพนี้’

                          (เนารัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

 

                          ผมเองแม้ยังชอบท่วงทำนองกาพย์แบบจิตรและนายผี แต่เมื่อริเริ่มแต่งกาพย์เมื่อสัก ๒๐-๓๐ ปีก่อน 

                          กาพย์ของผมก็มักออกไปในทางกลอน คือวรรคสองลงเสียงอื่นที่ไม่ใช่เสียงสามัญ จะออกพลิ้วๆ ไหวๆ ไปทางหวาน และก็ติดแต่งแบบนั้นมาตลอด 

                          ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคร่าวๆ เวลามีโอกาสแนะนำวิธีการแต่งบทกวีให้แก่นักเรียนนักศึกษา ผมนิยมยกกาพย์ยานีเป็นตัวอย่าง ดั่งที่บอกแล้วว่ากาพย์ยานีแต่งง่าย อ่านง่าย จำง่าย และยังให้อิสระในการรับส่งสัมผัส และการใช้สัมผัสซ้ำเพื่อย้ำคำ ย้ำความ ลองอ่านบทนี้ของจิตร

 

                          ‘เหงื่อหยดสักกี่หยาด   ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น

                          ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน’   

 

                          จะเห็นว่าตรงคำ ‘หยาด’ นั้น ถ้าเป็นกลอนแปด ถือว่าสัมผัสซ้ำ ผิดฉกรรจ์ แต่เมื่อใช้ในกาพย์ยานี และใช้ได้ใช้เป็น มันกลับเสริมพลังในการอ่านออกเสียง ขณะเดียวกัน วรรคสองกับวรรคสี่ของกาพย์ยานีนั้น อาจไม่ต้องสัมผัสคำกับทั้งสี่วรรคเลย เพียงสัมผัสเสียงท้ายวรรคเท่านั้น ลองอ่านอีกบทของจิตร

 

                          ‘ข้าวนี้น่ะมีรส        ให้ชนชิมทุกชั้นชน

                          เบื้องหลังสิทุกข์ทน    และขมขื่นอยู่เขียวคาว’

 

                          วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ เหมือนต่างอยู่เป็นอิสระ ลงเสียงเดียวกันแค่วรรคสองและวรรคสาม แต่ได้จังหวะของสัมผัสคำ สัมผัสอักษร แบบรวมพลังเข้าด้วยกันเมื่ออ่านออกเสียง

                          กาพย์ยานีจึงมักถูกนำไปอ่านบนเวทีปราศรัย หรือในสถานที่ที่ต้องการปลุกเร้ากำลังใจ จังหวะกาพย์จะทำให้คำกาพย์และเนื้อหากาพย์กระฉับกระเฉง ก่อพลังฮึกเหิม ขณะเดียวกัน เมื่อให้นักเรียนทดลองแต่งกาพย์ยานี แค่รู้จำนวนคำ และสัมผัสนิดหน่อย เขาก็แต่งกันได้ง่ายกว่าแต่งกลอนแปด ในหนังสือการ์ตูนภาพสำหรับเด็ก นิยมเล่านิทานด้วยร้อยกรองประเภทกาพย์ยานี 

                          ยังคงมี ‘กลอนสี่’ ที่แต่งง่าย อ่านง่าย จำง่าย กระชับ ค่อนข้างให้อิสระในการส่งสัมผัส และนิยมใช้แนะนำนักเรียนเริ่มต้นแต่งกลอน-ไว้ต่อคราวหน้าครับ!

 

 

-----------------------------------

 

 

(หนังสือที่เธอถือมา : กาพย์ยานี : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)