
แบบกวีกับแบบครูภาษาไทย
หนังสือที่เธอถือมา : แบบกวี กับ แบบครูภาษาไทย : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม
ระหว่างนี้เกิดมีกรณีวิวาทะอื้ออึง ‘ว่อนเน็ต’ เรื่องรางวัลวรรณกรรมหนึ่ง ที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานรัฐ
บังเอิญ งานนี้มีกรณีพิเศษขึ้นมาก็คือ บทกวีที่ได้รางวัลนั้น นอกจากรูปแบบทางบทร้อยกรอง หรือฉันทลักษณ์มีจุดบกพร่องบ้างแล้ว ยังมีผู้พบว่าบทกวีนั้นมีความยาวเกินกว่าที่กติกากำหนดเอาไว้ จนนำไปสู่การตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งรุนแรงเผ็ดร้อนขึ้น ในวันมอบรางวัล เมื่อคณะกรรมการออกมาแถลงชี้แจงต่อสังคม คำแถลงนั้นราวกับสาดน้ำมันเข้ากองไฟ มันพลันไหม้ลุกลามไปหลายระดับชั้น ทั้งฝ่ายคณะกรรมการและคนที่เข้าข้างกรรมการ กับประชาชนทั่วไปที่ข้องใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
คำแถลงเผยแพร่ผ่านสื่อ ที่ผมสนใจประเด็นคือ
๑. อนุโลม ตามความเห็นร่วมกัน กรรมการชุดนี้มองโลกแบบกวี ไม่ใช่ครูภาษาไทย แต่มองเนื้อหาเป็นหลัก'
๒. ‘...เป็นบทกวีที่ไม่เคร่งฉันทลักษณ์แบบแผน ในทำนองเดียวกับวรรณกรรมมุขปาฐะ และเพลงร้องของคนไทยที่มีมาช้านาน...’
ในฐานะคนรักภาษาไทย นับถือครูภาษาไทย ชอบบทร้อยกรอง ชอบบทร้อยแก้ว อยู่กับงานวรรณศิลป์ อยู่กับการประกวดกลอน ผมมีความข้องใจ ไม่ได้อยากไปเถียงเอาชนะกับผู้ร่างถ้อยแถลงดังกล่าว แต่อยากทำความเข้าใจในประเด็น กับคนที่สนใจประเด็นนี้ร่วมกัน
ข้อแรก- อะไรคือมองโลกแบบกวี? อะไรคือมองโลกแบบครูภาษาไทย? ถ้าหมายถึงครูภาษาไทยชอบยึดติดสัมผัสฉันทลักษณ์เป๊ะๆ ขณะกวีมองโลกแบบอิสระ สบายๆ ไม่เคร่งครัด แล้วจะเอาตรงไหนเป็นมาตรฐาน ในเมื่อบทกวีที่ส่งเข้าประกวดตั้งใจใช้รูปแบบร้อยกรองชัดๆ ถ้าเป็นกรรมการ ผมคงไม่อาจเอ่ยได้ว่า ‘มองเนื้อหาเป็นหลัก’ เพราะบทกวีเป็นวรรณศิลป์ เป็นศิลปะการประพันธ์ เป็นศิลปะการใช้ภาษา ศิลปะย่อมมีความลงตัว หรือมีความเป็นวรรณศิลป์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ไม่ใช่รูปแบบหรูหราแต่เนื้อหารุ่งริ่ง หรือเนื้อหาโดดเด่นแต่รูปแบบอ่อนด้อย รูปแบบและเนื้อหาย่อมเกื้อกูลกัน หรือแม้แต่กลอนเปล่าที่ว่าเป็นรูปแบบอิสระ ก็ยังมีรูปแบบการใช้ภาษาชนิดหนึ่งของมัน ในการประกวดบทกวีนั้น คือการคัดสรรหาตัวบทที่เหมาะสมทั้งรูปแบบและเนื้อหา เพราะผลของการประกวด จะกลายเป็นที่ถูกอ่านถูกศึกษา เป็นมาตรฐานระดับหนึ่งทางสังคม และจะว่าไป แม้คณะกรรมการอ้างว่ามีสิทธิอนุโลมอะไรก็ได้ แต่การบอกว่า ‘มองโลกแบบกวี ไม่ใช่ครูภาษาไทย’ จึงออกจะยกตน แล้วหยามคนอื่นอย่างไรชอบกล ครูภาษาไทยอาจรู้ทฤษฎี แต่แต่งกลอนสู้กวีไม่ได้ก็มี แต่ครูภาษาไทยก็คือครูภาษาไทย ผู้ชี้แนะแนวทางส่งทอดแรงบันดาลใจแก่ผู้เล่าเรียน ครูภาษาไทยจำนวนไม่น้อยที่สร้างลูกศิษย์ให้เป็นกวี อีกอย่างกวีก็มีหลายระดับ ครูภาษาไทยก็มีหลายแบบ ตื้นลึกหนาบางต่างกัน อะไรคือตัวขีดแบ่งมาตรฐานการมอง ให้มองตามสายตาใครสายตามัน หรือดูที่กฎเกณฑ์ กติกา รูปแบบ เนื้อหา การใช้ภาษา หรือความเหมาะสมลงตัวในตัวบทนั้นๆ ด้วย เช่น แต่งโคลงเป็นโคลง แต่งกลอนเป็นกลอน แต่งกาพย์เป็นกาพย์
ข้อสอง-น่าสงสัยต่อเนื่องจากข้อแรก คณะกรรมการสรุปแทนตัวบทกวีเลยว่า ‘เป็นบทกวีไม่เคร่งฉันทลักษณ์’ และย้อนไปถึง ‘วรรณกรรมมุขปาฐะ และเพลงร้องของคนไทยที่มีมาช้านาน’ ทั้งที่ดูตามตัวบทที่ปรากฏแล้ว ก็คือบทร้อยกรองแบบร่วมสมัยธรรมดา เหมือนที่เราอ่านกลอนทั่วไปในปัจจุบัน ไม่มีลักษณะเป็นมุขปาฐะหรือเพลงร้องเก่าแก่อะไร คำอ้างของคณะกรรมการจึงฟังไม่ขึ้น เหมือนพยายามแก้ต่างให้ตัวบทที่มีข้อบกพร่อง เพราะได้ตัดสินยกย่องไปก่อนแล้ว พอมีการทักท้วงจึงเกิดคำแถลง ที่หลายคนพากันกร่อนเป็น ‘แถ’ กระทั่งคำว่า ‘ไม่เคร่งฉันทลักษณ์’ นั้น คณะกรรมการไปรู้แทนเจ้าของตัวบทได้อย่างไร? มันแตกต่างจากคำว่า ‘ไม่เก่งฉันทลักษณ์’ หรือไม่?
ดังกล่าวแล้ว-วิวาทะ เรื่องกฎ เรื่องกติกา เรื่องรูปแบบ เรื่องเนื้อหา เรื่องแบบกวี เรื่องแบบครูภาษาไทย จะลุกลาม ไม่จบลงง่ายๆ
ส่วนหนึ่งเพราะงานนี้เป็นรางวัลของหน่วยงานรัฐ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องส่งเสริมวรรณกรรมประชาธิปไตยอันทรงเกียรติ ส่วนหนึ่งเพราะคำแถลงของคณะกรรมการ ที่แทนจะยอมรับความผิดพลาดในสมัยภาระหน้าที่ของตน กลับดันทุรังอนุโลมให้มันถูกต้องโดยเสียงข้างมาก ทั้งโยนความผิดให้ตัวกติกาเก่า และคณะกรรมการชุดอื่นที่เขาหมดหน้าที่ไปแล้ว!?
---------------------------------------------
(หนังสือที่เธอถือมา : แบบกวี กับ แบบครูภาษาไทย : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)