ไลฟ์สไตล์

ทิ้งทวน สร้างที่ยืนให้กระทรวงแรงงานเป็น'กระทรวงเศรษฐกิจ'

ทิ้งทวน สร้างที่ยืนให้กระทรวงแรงงานเป็น'กระทรวงเศรษฐกิจ'

14 ก.ย. 2556

ทิ้งทวน สร้างที่ยืนให้กระทรวงแรงงานเป็น'กระทรวงเศรษฐกิจ' : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน

                  "สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์" เปิดใจถึงการทำงานในตำแหน่ง "ปลัดกระทรวงแรงงาน" ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2556 ที่ตั้งใจสร้าง "ที่ยืน" ในความเป็นกระทรวงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 21 ของกระทรวงแรงงาน และในฐานะ "ประธานคณะกรรมการค่าจ้าง" ที่ขานรับนโยบายเร่งด่วน "ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท" สร้างความเข้าใจให้แก่ลูกจ้างและนายจ้าง
 
                  "การที่จะเป็นกระทรวงเศรษฐกิจได้นั้น ในความคิดเห็นของผม จะต้องสามารถทำให้เห็นได้ใน 3 บทบาท คือ สามารถเพิ่มรายได้ให้ประเทศในภาพรวม หรือผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ได้เท่าไร มีบทบาทในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน หรือลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และมีบทบาทเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายของประชาชนได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นดัชนีชี้วัดว่า กระทรวงแรงงานจะก้าวสู่การเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงก็จะทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนมากขึ้น"
 
                  สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ เล่าถึงงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน และการขับเคลื่อนกระทรวงแรงงานให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจว่า เข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนตุลาคม 2553 แต่เรื่องที่ท้าทายการทำงานมากงานเรื่องหนึ่งคือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ตามนโยบายเร่งด่วนในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะนอกจากจะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานแล้ว ยังควงบทบาท "ประธานคณะกรรมการค่าจ้าง" ด้วย 
 
                  การปรับค่าแรงขั้นต่ำ สอดคล้องกับผลการสำรวจของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ที่ทำการสำรวจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทำให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 60.7 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก็เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ยังคงมีการขยายตัวภายหลังการปรับค่าจ้าง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 สูงกว่าไตรมาสแรกของปี (ม.ค.-มี.ค.2555) และอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีผู้บริโภคก็อยู่ในระดับปกติด้วยความสมเหตุสมผล และข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจแบบรอบด้าน
 
                  การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือไม่นั้น ปลัดสมเกียรติ บอกว่า กระทรวงแบ่งการวิเคราะห์เป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (Short Term) มีส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ระยะปานกลาง (Middle Term) ส่งผลให้เกิดการผลักดันให้มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนระยะยาว (Long Term) ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการลงทุนและการผลิต เพื่อช่วยให้ประเทศก้าวข้าม "กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง" หรือ Middle Income Trap จากประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
 
                  "นอกจากนี้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ยังช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชากร และกระจายรายได้ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยผลการสำรวจพนักงานของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปรากฏว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา ทำให้พนักงานมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยเสริมสภาพคล่องต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และทำให้พนักงานที่ไม่มีเงินออม หรือมีแต่น้อย ได้มีเงินออมเหลือเก็บเพิ่มขึ้น" 
 
                  ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ปลัดสมเกียรติ บอกว่า แม้การดำเนินงานของคณะกรรมการค่าจ้างจะมีทั้งเสียงเชียร์ มีเสียงคัดค้าน แต่ด้วยความเป็นนักคิด และชอบแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา กอปรกับทำการบ้านอย่างหนักกับงานที่ทำทุกเรื่อง จึงสามารถผลักดันนโยบายที่ดูจะเป็นไปได้ยาก ให้เป็นไปได้ ในการสื่อสารให้ทุกภาคส่วนเข้าใจว่า ทำไมจึงต้องขึ้นค่าจ้างในลักษณะนี้ และคงต้องใช้คำว่า เดินสายออกสื่อรายวัน เพื่อสื่อสารสู่สาธารณะ สามารถสร้างความเข้าใจกับผู้ที่ได้ผลกระทบในการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งประวัติศาสตร์ จนได้รับการขานรับว่าเป็นปลัดกระทรวงแรงงานที่พร้อมต้อนรับสื่อ ให้สัมภาษณ์ทุกเรื่อง มีมุมมองทางวิชาการที่ทำการบ้านมาอย่างดีเพื่อตอบทุกคำถามของสื่อทุกแขนงจนกว่าจะหายข้องใจ
 
                  "กระทรวงแรงงานมีงบประมาณประชาสัมพันธ์ไม่มากนัก ผมจึงต้อง ขยัน ออกสื่อ ทำหน้าที่พีอาร์กระทรวง และตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวให้กระจ่างทุกเรื่อง อย่างเช่นเรื่องการขึ้นค่าแรง ในฐานะที่ผมเป็นประธานกรรมการค่าจ้าง ผมก็ต้องออกมาบอกกับประชาชนและสังคมว่า การขึ้นค่าจ้างรอบแรก 39.5% เมื่อ 1 เมษายน 2555 และวันที่ 1 มกราคม 2556 ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดียวกันคือ 300 บาท ผมชี้แจงครบถ้วนเป็นเหตุเป็นผลด้วยฐานคิดสนับสนุนถึง 9 ประการ ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีความเป็นเหตุเป็นผล ข้อมูลตัวเลข ข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจประกอบครบถ้วน อาทิ พบว่าหลังจากขึ้นค่าจ้างในครั้งแรกเมื่อเมษายน 2555 ไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คนไม่ตกงาน ไม่ส่งผลให้เงินเฟ้อหรือกระทบการลงทุน การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อมาก รวมถึงนำเสนอผลการสำรวจของกระทรวงแรงงาน และหอการค้าไทยที่ศึกษา ก็ยังพบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถึงแม้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถปรับตัว และดำเนินธุรกิจต่อไปได้"
 
                  เป็นมุมที่ขอบันทึกถึงปลัดกระทรวงแรงงาน "สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์" ที่ทำให้กระทรวงแรงงาน มีที่ยืนในความเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่บริหาร "ต้นทุนมนุษย์" ต้นทุนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ไว้อย่างภาคภูมิ
 
 
................................
 
(ทิ้งทวน สร้างที่ยืนให้กระทรวงแรงงานเป็น'กระทรวงเศรษฐกิจ' : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน)