จุฬาฯแฉป.ตรีนิยมลอกงานวิกิพีเดีย
จุฬาฯ เปิดตัว 'อักขราวิสุทธิ์' ตรวจสอบการลักลอกวิทยานิพนธ์ พร้อมเผยข้อมูลเด็ก ป.ตรี นิยมลอกงานจากวิกิพีเดีย
26ส.ค.2556 ที่ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าว "จุฬาฯ กับมาตรการในการป้องกันการลักลอกผลงานวิชาการ" โดย ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า ประเด็นการลักลอกผลงานวิชาการซึ่งถือเป็นเรื่องที่วงการวิชาการในต่างประเทศให้ความสำคัญมาก ซึ่งปัจจุบันพบรูปแบบการลักลอกผลงานมีทั้งการนำเอางานของคนอื่นมาเป็นของตนเอง หรือเอางานของผู้อื่นที่เขียนไว้มาอ้างว่าเป็นของตนเอง โดยไม่มีการบอกเล่าว่างานที่นำมานั้นไม่ใช่งานของตน ซึ่งไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็แล้วแต่ เรื่องนี้ถือว่ารับไม่ได้ และในวงวิชาการนานาชาติถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงมาก ทางจุฬาฯ ก็ให้ความสำคัญโดยสภามหาวิทยาลัยได้กำหนดให้เป็นนโยบายในการตรวจสอบการลักลอกผลงานวิชาการ โดยเริ่มตรวจสอบในระดับบัณฑิตศึกษาก่อน จากนั้นจึงจะเข้ามาตรวจสอบในระดับปริญญาตรีต่อไป
"ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นข้อเสียทำให้การลักลอกผลงานทำได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันสามารถก็อปปี้แล้วตัดมาแปะได้ทันที ไม่ต้องแม้แต่จะพิมพ์ซ้ำ แต่ข้อดีของเทคโนโลยีคือเราสามารถพัฒนาเครื่องมือด้านไอทีมาช่วย เพื่อตามให้ทันการลักลอกผลงานวิชาการ ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัยได้กำหนดนโยบายให้ จุฬาฯ จะเริ่มใช้มาตรการตรวจสอบการลักลอกผลงานวิชาการในระดับบัณฑิตวิทยาลัยผ่านโปรแกรมที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นเอง รวมถึงมีนโยบายให้มีการตรวจสอบการส่งงานในระดับปริญญาตรี ซึ่งมักพบว่ามีการคัดลอกมาจากวิกิพีเดียจำนวนมากด้วย อย่างไรก็ตามโปรแกรมที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นนั้นจะได้ผลดีมากสำหรับธีสิสด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเป็นรายวิชาที่ต้องใช้ข้อมูลใหม่ย้อนหลังภายใน 1-2 ปี ในขณะที่วิทยานิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์ซึ่งข้อมูลต่างๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ทำให้การตรวจสอบยังคงต้องอาศัยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ มาเป็นผู้ตรวจสอบ" ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าว
รศ.ดร.อมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้จุฬาฯ ยึดสโลแกน "จุฬาฯ ร้อยปีต้องไม่มี Plagiarism(การคัดลอกผลงาน)" โดยริเริ่ม 3 มาตรการในการป้องกันการลักลอกผลงานวิชาการ ได้แก่ มาตรการสร้างจิตสำนึก อาทิ การอบรมและเปิดสอนรายวิชา "จริยธรรมการวิจัย" ให้นิสิตทุกคน รวมถึงการอบรมอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์, มาตราการป้องปราม โดยกำหนดให้นิสิตเขียนวิทยานิพนธ์ด้วยโปรแกรม ซียู อี-ธีสิส(CU e-Thesis) ซึ่งนิสิตทุกคนจะต้องส่งแบบรายงานความก้าวหน้าและแผนการทำวิทยานิพนธ์ทุกภาคการศึกษา โดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะสามารถติดตามวิทยานิพนธ์ได้ตลอดเวลา และมาตรการสุดท้ายคือการติดตามตรวจสอบด้วยโปรแกรมเทิร์นอิทอิน(Turn it in)และโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ซึ่งจุฬาฯ เป็นผู้พัฒนาขึ้น โดยปัจจุบันสามารถตรวจสอบข้อความที่เหมือนหรือคล้ายกัน แต่ในอนาคตจะพัฒนาโปรแกรมให้รองรับการตัดต่อหรือสลับข้อความ รวมถึงการคัดลอกข้อความโดยหลีกเลี่ยงใช้คำภาษาไทยอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันได้ด้วย
"บัณฑิตวิทยาลัยจะเริ่มใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีวิทยานิพนธ์ประมาณ 700-800 เล่มที่จะเข้ารับการตรวจสอบ โดยฐานข้อมูลปัจจุบันของโปรแกรมนี้จะประกอบด้วย วิทยานิพนธ์ 15,000 เล่ม ซึ่งย้อนหลังตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 สารนิพนธ์ 2,000 รายการ วารสาร, รายงานวิจัย และอีบุ๊คของจุฬาฯ ทั้งนี้ในอนาคตจะเพิ่มจำนวนวิทยานิพนธ์จำนวน 2,500 เล่มต่อปี และสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมดของจุฬาฯ รวมถึงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จุฬาฯ จะพัฒนาโปรแกรมให้เชื่อมต่อฐานข้อมูลวิกิพีเดียและฐานข้อมูลอื่นๆ เพื่อการตรวจสอบที่ดียิ่งขึ้น" รศ.ดร.อมร กล่าว
รศ.ดร.อมร กล่าวต่อไปว่า จุฬาฯ มีความคาดหวังว่าโปรแกรมดังกล่าวจะสามารถป้องกันการลักลอกผลงานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเบื้องต้นการคัดลอกผลงานกันเองในจุฬาฯ จะทำไม่ได้แล้ว เพราะในโปรแกรมมีฐานข้อมูลทั้งหมด ซึ่งในอนาคตหากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้ามาร่วมกันใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ก็จะสามารถตรวจสอบผลงานวิทยานิพนธ์ทั่วประเทศได้ ทางจุฬาฯ ยินดีให้ใช้โปรแกรมดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีการแก้ปัญหาเรื่องการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เพราะโปรแกรมซียู อี-ธีสิส เปิดโอกาสให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปติดตาม หากเห็นว่านิสิตมีผลงานดีขึ้นกะทันหันก็จะต้องจับสังเกตได้
โดยโปรแกรมนี้ยังบันทึกการเข้ามาดูผลงานนิสิตของอาจารย์ไว้ด้วย สำหรับการประมวลผลของโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์จะประเมินความเหมือนของข้อมูลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์มากจะบ่งชี้ว่าอาจมีการลักลอก ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบจะต้องดูว่าสิ่งที่เหมือนคืออะไร ถ้าสิ่งที่เหมือนเป็นข้อมูล เช่น ตารางหรือการวิจารณ์ผล หากเหมือนกันเป๊ะ แม้ผลลัพธ์จะระบุว่าไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ก็นับว่าเป็นปัญหา หรือในกรณีการตรวจสอบได้ผลปรากฎว่ามีเปอร์เซ็นต์การเหมือนกันเปอร์เซ็นต์เดียว แต่เนื้อหาเหมือนกับลอกมาเลยก็ถือว่าเป็นความผิดเหมือนกัน