
เครื่องหลวมแรงตก(5)
เครื่องหลวมแรงตก(5) : คอลัมน์มอเตอร์เวิลด์
ก็มาถึงเรื่องกำลังอัดรั่วขึ้นบนฝาสูบซะที เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ช่างรุ่นใหม่ๆ ในศูนย์บริการ ขาดการสนใจกันมานานเต็มที ผลสุดท้ายกรรมก็ตกอยู่กับคนใช้รถที่ต้องควักเงินจ่ายค่าเปิดฝาสูบ เรื่องของเรื่องก็คือรถและคน(ช่าง)วันนี้ไม่มีการกวดขันน็อตฝาสูบกันจนเมื่อมีเหตุต้องให้เปิดฝาสูบจึงได้ขันน็อตกันที ก็อย่างที่เรียนไว้ตอนแรกๆ แล้วว่าเครื่องยนต์ใช้กำลังอัดสูงๆ (ตั้งแต่ 8:1 จนถึง 14:1 ในปัจจุบัน) แรงระเบิดในห้องเผาไหม้จึงรุนแรง แรงดันหรือแรงอัดกระจายไปทั่วห้องเผาไหม้ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน ตัวเครื่องยนต์มีเสื้อสูบ มีฝาสูบที่คั่นกลางไว้ด้วยปะเก็น (Gasket, Cylinder head gasket) โลหะแผ่นบางๆ เพื่อป้องกันกำลังอัดรั่วไหลระหว่างรอยต่อของเหล็ก(หรืออัลลอย)
โดยมีน็อตจำนวนหนึ่งขันร้อยจาก ฝาสูบไปยังเสื้อสูบ เดิมทีนั้นเครื่องยนต์หรือเสื้อเครื่องและฝาสูบเป็นเหล็กหล่อ มีเพลาราวลิ้นตัวเดียวมีสองวาล์วต่อสูบ การวางตำแหน่งของน็อตฝาสูบให้ตรึงแน่นกับเสื้อสูบมีเนื้อที่มากพอ แม้กระนั้นวิศวกรหรือผู้ผลิตยังต้องกำหนดวันเวลาให้มีการกวดขันน็อตฝาสูบเป็นระยะๆ แต่วันนี้ทั้งเสื้อสูบและฝาสูบเป็นโลหะผสม(มีบ้างที่เสื้อสูบยังเป็นเหล็กหล่อฝาสูบเป็นอัลลอย) และที่สำคัญมีสองแคม(แม้บางรุ่นจะเป็นแคมเดี่ยว)และมีวาล์วเยอะ(สี่วาล์วต่อสูบ)
เนื้อที่ที่จะเจาะรูบนฝาสูบเพื่อร้อยน็อตไปยึดกับเสื้อสูบก็มีน้อยลงไป แต่ทั้งช่างและผู้ผลิตรวมทั้งผู้ขายไม่มีการกำหนดเอาไว้เลยว่าเมื่อไรจะต้องมีการขันน็อตฝาสูบ
การระเบิดอันรุนแรงที่เปรียบเหมือนมีน้ำหนักเป็นตันเคาะไปที่ฝาสูบตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือน็อต(ฝาสูบ) ยืด คลาย(ถอน)เกลียว เมื่อใช้งานได้ระยะหนึ่ง ทำให้ฝาสูบและเสื้อสูบที่แน่นสนิทด้วยแรงขันน็อตเมื่อแรกเริ่มนั้น คลายตัว กำลังอัดจึงเล็ดลอดออกไปทางช่องวาง(ปะเก็นฝาสูบ)ทีละเล็กละน้อย นานปีเข้าช่องว่างขยายตัวมากเข้ากำลังอัดออกได้มากขึ้นรถก็ แรงตก
สังเกตดูเถอะว่าเครื่องยนต์ปัจจุบันเมื่อเปิดฝาสูบ(ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด) มักจะพบว่า ปะเก็นฝาสูบ ฝาสูบ เสื้อสูบ ผุกร่อน แล้วก็ลงความเห็นกันว่า วัสดุไม่ดี ใช้น้ำยารักษาหม้อน้ำที่ไม่ได้คุณภาพ แต่แท้จริงแล้วสาเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะ เครื่องยนต์ ตัวนั้นไม่เคยกวดขันน็อตฝาสูบ ตามที่ควรจะทำเป็นระยะๆ มาก่อนเลย
กำลังอัดที่แลบออกทางฝาสูบหรือปะเก็นฝาสูบนั้น ก็รู้อยู่ว่าเป็น ไอเสีย เป็นก๊าซที่มีพิษ ก๊าซพิษซึมอยู่ระหว่างรอยต่อของปะเก็นนานเข้าก็กัดกร่อนทั้งปะเก็นทั้งฝาสูบทั้งเสื้อสูบ ถ้าต้องเปิดฝาสูบในกรณีนี้(น้ำหายโดยไม่พบร่องรอย เครื่องร้อนง่าย แรงน้อย ควันเยอะ แรงตก) สิ่งที่ควรจะทำก็คือ การเปิดฝาสูบเปลี่ยนปะเก็น ซ่อมส่วนที่ผุกร่อน และพร้อมทั้งตรวจดู วาล์วปลอกวาล์วเปลี่ยนซีลตีนวาล์ว บดวาล์วเจียรหรือ เปลี่ยนบ่าวาล์วใหม่ และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวาล์วที่กล่าวไปแล้วหลายตอน และงานแบบนี้ ช่างรุ่นผมจะเรียกกันว่า Top Overhauls ถ้าทำได้สมบูรณ์ขีดสุดอย่างมืออาชีพแล้วก็เท่ากับได้เครื่องบนใหม่หมด เหมือนเครื่องป้ายแดง บางคนอาจจะแย้งว่า ทำมาถึงขั้นนี้แล้วทำไม่ไม่เปลี่ยน แหวนไปด้วยเลย ก็อยากจะบอกว่างานเปลี่ยนแหวน บดวาล์ว นั้นช่างรุ่นผมเขาทำกันเพื่อฟันนิ่มๆ (จากเจ้าของรถ) ส่วนได้ผลเป็นเนื้อเป็นหนังไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย เอาแค่ Top Overhauls ให้เต็มที่ ก็พอเหลือรับประทานแล้ว
เอากันง่ายๆ กะวานแค่เปลี่ยนปลอกวาล์ว(Valve guide) ก็ทำกันแบบช่างหลังเขา เคาะอันเก่าออก ตอกอันใหม่ใส่ ก็ปรบมือให้ตัวเองแล้วว่าเจ๋ง ช่างรุ่นผมขืนทำแค่นั้นลูกพี่เบิ๊ดกะโหลกแตก เคาะอันเก่าออกน่ะใช่แต่ก่อนที่จะเอาอันใหม่ใส่ต้องใส่ ห้องฟรีซหรือแช่น้ำแข็งไว้ก่อนครึ่งวันค่อนวัน แล้วค่อยกดเข้าที่ด้วยหัวแม่โป้งมือที่ถนัดโดย ห้ามใช้ค้อน เด็ดขาด และก็นานหลาย(สิบ)ปีแล้วที่ไม่เคยเห็นช่างแช่แข็ง ปลอกวาล์ว นอกจากค้อนเคาะกันโป๊กๆ
เรื่องวาล์วเรื่องฝาสูบเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้มีหน้าที่ให้บริการ เพราะอายุเครื่อง(กำลัง)จะเรี่ยวแรงแข็งขันมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่วาล์วกับฝาสูบ เครื่องยนต์ที่เขาใช้กันเป็นล้านกิโล ไม่ต้องยกเครื่องกันก่อน ก็อยู่ที่ตรวจเช็กวาล์วและขันน็อตฝาสูบเป็นประจำ เรื่องอื่นก็จิ๊บๆ ตอนหน้าถึงซะทีเครื่องหลวมทำให้แรงตก
.................
(เครื่องหลวมแรงตก(5) : คอลัมน์มอเตอร์เวิลด์)