ไลฟ์สไตล์

'ฮารีรายอ อีดิลฟิฏรี'วันแห่งความสุข

'ฮารีรายอ อีดิลฟิฏรี'วันแห่งความสุข

15 ส.ค. 2556

"ฮารีรายอ อีดิลฟิฏรี" วันแห่งความสุข : คอลัมน์ เปิดโลกมุสลิม


 

          หลังจากการถือศีลอด ในเดือนรอมฎอนของพี่น้องมุสลิมทั่วโลกได้สิ้นสุดลงก็จะมีการเฉลิมฉลองรื่นเริงระหว่างกัน โดยการร่วมละหมาดกันในตอนเช้า ซึ่งก่อนการละหมาดรายอนั้นต้องทำการจ่ายซากาตฟิตเราะห์ ให้แก่ผู้มีสิทธิทั้ง 9 ประเภทหนึ่งในนั้นคือนักศึกษาศาสนา ปีนี้เป็นโอกาสดีที่ผมได้เดินทางกลับไปร่วมละหมาดฮารีรายอกับพี่น้องในประเทศไทย และเป็นปีแรกในรอบสามสิบกว่าปีที่ไม่เคยได้ร่วมเฉลิมฉลองกับพี่น้องมุสลิมไทยในกรุงเทพมหานครเลยสักครั้ง แต่ครั้งนี้พิเศษสุดที่ได้เห็นและได้ฟังด้วยหูตัวเองในการร่วมวันรายอกับพี่น้องมุสลิมในกรุงเทพฯ ทำให้ผมเห็นถึงความเหมือนที่แตกต่างระหว่างมุสลิมในประเทศไทยและมุสลิมในประเทศอาหรับอย่างชัดเจน
           
          แม้ศาสนาอิสลามจะเป็นสายใยของความเป็นพี่น้องแต่ยอมรับว่าวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของมุสลิมแต่ละภาคหรือแต่ละจังหวัดหรือทั่วโลกก็มีความแตกต่างกัน หลักการศรัทธาก็มีการขัดกันในหลายๆ เรื่องซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต่างก็ถือว่าตัวเองถูกต้องและตรงต่อหลักคำสั่งสอนของอัลลอฮ์และอัลฮาดิษของศาสดา แต่วันการร่วมเฉลิมฉลองในวันอีดิลฟิฏรีนี้รู้สึกจะทุกจังหวัดของไทยและทั่วโลกจะมีความสุขและให้ความสำคัญกับเดือนรอมฎอนและการร่วมฉลองเมื่อวันสิ้นสุดของเดือนนี้
          
          ในประเทศอียิปต์อาหรับจะเริ่มซื้อเสื้อผ้าตั้งแต่อาทิตย์สุดท้ายของเดือนรามฎอนเพื่อเตรียมซื้อชุดใหม่ๆ ใส่ต้อนรับวันรายอหลากหลายแบบแล้วแต่ความเคร่งครัดของศาสนาที่มีในครอบครัวนั้น และเตรียมตัวไปเที่ยวในสวนต่างๆ การจัดงานก็จะมีเสียงดนตรีเปิดเพลงลั่นไปทั่วทุกสถานที่ โดยเฉพาะในยามค่ำคืนเรือล่องแม่น้ำไนล์เต็มไปด้วยแสงสีเสียงและการเต้นร่ำด้วยจังหวะแรงๆ ในขณะที่พี่น้องมุสลิมไทยต่างก็ตัดเสื้อผ้าชุดใหม่ๆ เพื่อใส่ต้อนรับวันนี้ โดยจะอยู่ในชุดคลุมทั่วร่างกายควบคู่กับฮิญาบ (ผ้าคลุมผม) ที่หลากหลายสีสัน
 
          ส่วนผู้ชายก็แต่งด้วยชุดลึกถึงตาตุ่มสีขาว หรือเสื้อแขนยาวพร้อมหมวกอยู่บนศีรษะ ดูจะเป็นการให้เกียรติเป็นอย่างมาก เมื่อสำนักจุฬาราชมนตรีประกาศว่าเป็นวันรายอ พี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่ก็จ่ายซากาตฟิตเราะห์ เพื่อชดเชยทดแทนส่วนที่สึกหรอหรือเสียในช่วงที่ถือศีลอดให้สมบูรณ์ขึ้นพร้อมๆ กับให้เกิดความสะอาดต่อตัวที่จ่ายซากาตเอง เมื่อเสร็จสิ้นการละหมาดรวมกันแล้ว บางพื้นที่จะมีการนำอาหารมารวมกันเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่มาร่วมละหมาดได้กินเป็นอาหารเช้าและเป็นการทำบุญไปในตัว หลังจากนั้นต่างก็แยกย้ายกันไปยังหลุมฝังศพของพี่น้องและร่วมกันขอพรให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว บางพื้นที่บางจังหวัดก็ทำอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมขอพรที่หลุมฝังศพ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็แยกย้ายกันไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องของตัวเองในหมู่บ้านเดียวกันหรือในต่างจังหวัด
       
          และปีนี้เป็นปีที่ได้มาสัมผัสกับพี่น้อง กทม. ณ บ้านดิอาลามี่ ริมคลองแสนแสบ ได้ไปร่วมละหมาด ได้ฟังการอ่านคุตบะห์ (คำสอน) ได้เห็นการกระตือรือร้นของผู้ที่มาร่วมละหมาดและผู้มีจิตศรัทธา ที่ร่วมกับมาทำอาหารและขนมหลากหลายเพื่อมาแจกพี่น้องในยามเช้า เป็นภาพที่ประทับใจมากมาย แม้หลายคนในหลายพื้นที่มองว่า พี่น้องมุสลิมใน กทม.จะอยู่ปะปนกับสังคมต่างศาสนาเยอะเกินไป ก็คงจะกลมคลืนไปกับสังคมนั้นๆ
 
          แต่วันนี้มาเห็นกับตาตัวเองแล้วว่า ไม่ว่าพี่น้องมุสลิมกรุงเทพฯ หรือพี่น้องมุสลิมในจังหวัดไหนถ้าได้คลุกคลีและเข้าถึงกันแล้ว จะรู้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็แล้วแต่ ถ้ายึดหลักศาสนาและคำสอนของศาสนา ยึดอัลลอฮ์เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ยึดศาสดาเป็นแบบอย่างที่จะเดินไปในหนทางที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม เที่ยงตรง จะไม่การโต้เถียงและทะเลาะเพื่อแย่งความถูกต้อง เพราะผู้ที่ตัดสินใจ และสามารถให้ใครอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งสวรรค์ คืออัลลอฮ์เท่านั้น มนุษย์ไม่มีสิทธิจะไปชี้นิ้วหรือกล่าวหาใครได้...นอกจากขอพรเท่านั้น  อามีน ยาร๊อบ

.......................................
(หมายเหตุ "ฮารีรายอ อีดิลฟิฏรี" วันแห่งความสุข : คอลัมน์ เปิดโลกมุสลิม )