ไลฟ์สไตล์

ประมงเร่งเพาะ'กุ้งการ์ตูน'สู่ทะเล

ประมงเร่งเพาะ'กุ้งการ์ตูน'สู่ทะเล

13 ส.ค. 2556

ประมงเร่งเพาะ'กุ้งการ์ตูน'สู่ทะเล หวังควบคุมดาวทะเลศัตรูปะการัง : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

                 หลังกรมประมงได้เพาะและอนุบาลลูกกุ้งการ์ตูนจนประสบความสำเร็จเมื่อ 3 ปีก่อน ส่งผลทำให้กุ้งการ์ตูนกลายเป็นสัตว์ทะเลสวยงามที่กำลังมาแรงและมีบทบาทในการจะก้าวขึ้นมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันยังได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลาสวยงาม จนปัจจุบันภาคเอกชนได้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กุ้งชนิดนี้เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

                 กุ้งการ์ตูน ไม่เพียงให้สีสันที่สวยงามประดับท้องมหาสมุทรให้สดใสเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมดาวทะเล เนื่องจากอาหารของกุ้งชนิดนี้ได้แก่ ปลาดาวเหยื่อ เม่นทะเล ดาวเปราะ ดาวทะเล โดยเฉพาะดาวมงกุฎหนาม ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินปะการังเป็นอาหาร หากมีกุ้งการ์ตูนในทะเลจำนวนมากจะช่วยรักษาปะการังได้เป็นอย่างดี 

                "กุ้งการ์ตูน มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Harlequin Shrimp เป็นกุ้งทะเลขนาดเล็กที่มีลวดลาย ก้ามโต ลักษณะลำตัวมีเปลือกแข็ง สีขาว แต้มด้วยลายจุดสีฟ้า สีน้ำตาล มีขนาดลำตัวยาว 10-15 เซนติเมตร กุ้งการ์ตูนที่พบในปัจจุบันมีสองสายพันธุ์ คือสายพันธุ์ Elegans และสายพันธุ์ Pieta ซึ่งมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก สามารถนำมาเลี้ยงรวมกันได้ ในประเทศไทยจะพบกุ้งการ์ตูนมากทางทะเลอันดามัน และบริเวณหมู่เกาะพีพี มักอาศัยอยู่เป็นคู่ตามซอกโพรงปะการังหรือซอกโขดหิน" 

               สุภาพร ตั้งสิทธิวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราด เผยต่อว่า กุ้งการ์ตูนนั้นจัดเป็นสัตว์ทะเลที่กำลังได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาตู้ เนื่องจากเป็นกุ้งที่มีลวดลายสวยงาม มีรูปร่างแปลกตา มีผู้สนใจซื้อไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก และราคาค่อนข้างแพง จึงถูกจับมาจำหน่ายในตลาดกุ้งสวยงามเป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน ทำให้ปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์และมีจำนวนลดน้อยลงมากในธรรมชาติ ดังนั้นการเพาะเลี้ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มจำนวนและชดเชยกุ้งที่จะถูกจับขึ้นมา รวมทั้งการอนุรักษ์สายพันธุ์กุ้งในธรรมชาติและการปล่อยกุ้งคืนสู่ธรรมชาติ

               สุภาพร ระบุอีกว่า ขณะนี้ศูนย์กำลังเร่งเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูน โดยเริ่มเพาะเลี้ยงตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งกุ้งการ์ตูนจะขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก ทำให้ปริมาณในทะเลลดน้อยลง ศูนย์จึงเร่งรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากทะเล ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 10 คู่ นำมาเลี้ยงให้มีความสมบูรณ์เพศ ผสมพันธุ์จนฟอร์มไข่ ประมาน 15 วันจะฟักออกมาเป็นตัว ประมาน 700-1000 ตัวต่อครั้ง แต่อัตรารอดค่อนข้างต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถอนุบาลได้นานที่สุดประมาณ 30 วัน

               "ปัญหาหลักที่ทำให้ไม่สามารถเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูนได้สำเร็จ คือ ชนิดและอาหารระหว่างการอนุบาลกุ้งวัยอ่อน ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยสูตรที่เลี้ยงได้นานที่สุดคือ อาทีเมียแรกฟัก เมื่อลูกกุ้งโตได้ประมาณ 10 วัน เราจะเสริมด้วยอาหารผงละลายน้ำ ทำให้ลูกกุ้งสามารถจับอาหารได้มากขึ้น"

                หัวหน้าฝ่ายผลิตพันธุ์สัตว์น้ำคนเดิมแจงต่อว่า ในส่วนอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูนก็คือ ดาวทะเล ซึ่งเป็นอาหารที่กุ้งการ์ตูนชอบมาก เช่น ดาวแดง ดาวคุกกี้ ดาวเหยื่อ และดาวทราย เป็นต้น ส่วนวิธีการให้อาหารพ่อแม่พันธุ์ต้องตัดดาวเป็นท่อนเล็กๆ โดยให้จำนวน 1 ชิ้นต่อกุ้ง 1 ตัว ซึ่งคาดว่าประมาณปลายปีนี้ การเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูนน่าจะได้ลูกออกมา และหากเลี้ยงรอดเป็นตัวเต็มวัยได้สำเร็จ ก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ต่อไป ก่อนนำกุ้งการ์ตูนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและบางส่วนจะเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในชุดต่อไป 

               นับเป็นอีกก้าวของกรมประมงโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราด ในการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูนก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อช่วยควบคุมศัตรูตัวร้ายในการทำลายปะการังอย่างดาวทะเล

               
..........................

(ประมงเร่งเพาะ'กุ้งการ์ตูน'สู่ทะเล หวังควบคุมดาวทะเลศัตรูปะการัง : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)