
๒ วัดมอญที่ลำพูน
ชุมชนมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ณ เวลานี้มีอยู่หลายแห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ถ้าจะย้อนประวัติศาสตร์แล้ว ชาติภูมิของชนชาวมอญนั้น อยู่ที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า
และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ชนชาติมอญนั้น เป็นชนชาติที่รักความสงบ และสร้างสมอารยธรรมความเจริญต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งด้านวัฒนธรรม ศาสนา และการค้า ชนชาติมอญมิได้เตรียมตัวเพื่อการสงครามเลย อาณาจักรมอญจึงพ่ายแพ้ และตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าใน พ.ศ.๑๖๐๐
เมื่อพม่ามีชัยชนะเหนือมอญ การอพยพของชาวมอญเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งได้มีบันทึกไว้เป็นทางการอย่างแน่นอนเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๑๒๗ คือ หลังจากที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง
และการอพยพยังคงมีติดต่อกันมาเรื่อยๆ อีกหลายครั้ง และบางตำราปรากฏว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่ นั้น ติดสอยห้อยตาม “องค์เจ้าแม่จามเทวี” เพราะตามประวัติ (บางฉบับ) นั้น องค์เจ้าแม่จามเทวีประสูติที่บ้านหนองดู่ และไปเติบโตที่เมืองละโว้ ลพบุรี
ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่า เป็นชุมชนชาวมอญแห่งเดียวในภาคเหนือตอนบน ที่อยู่ในเขต จ.ลำพูน ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน คือ บ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว
ประวัติหมู่บ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว เป็นหมู่บ้าน ชาวมอญ ที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปีแห่งหนึ่งใน จ.ลำพูน ตั้งอยู่ในเขต ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
สาเหตุที่ได้ชื่อว่า หมู่บ้านหนองดู่ ก็เนื่องมาจากในอดีตกาลที่ผ่านมา ภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำกว้างใหญ่และลึก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน และมีต้นประดู่ใหญ่ขึ้นอยู่ริมหนองน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หมู่บ้านหนองดู่” ซึ่งในภาษามอญที่ใช้พูดกันในหมู่บ้านนั้นจะเรียกว่า “กวานหนองดู่"
ตามหลักฐานที่ปรากฏ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึง บ้านหนองดู่ ไว้ในหนังสือล่องน้ำปิงว่า
บ้านหนองดู่เป็นหมู่บ้านมอญ มีวัดโบราณ ๒ วัด คือ วัดดอน (เกาะกลาง) เรียกชื่อ วัดเดิม มีพระเจดีย์ก่ออิฐสี่มุข พระเจดีย์ทรงกลมลายปั้น งานทำนองจะเป็นวัดหลวงมาก่อน
แรกเริ่มเดิมที เป็นหมู่บ้านร้าง และภายในหมู่บ้านแห่งนี้มีวัดร้างวัดหนึ่งคือ วัดเกาะกลาง จากตำนานการสร้างวัดเกาะกลาง ซึ่งก็คือหมู่บ้านหนองดู่ในสมัยนั้น ได้กล่าวไว้ว่า วัดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๖ โดยตระกูลของท่านเศรษฐีอินตา พระบิดาของพระนางจามเทวี
ซึ่งตามประวัติองค์เจ้าแม่จามเทวี มีเชื้อชาติมอญบ้านหนองดู่โดยกำเนิด จึงสันนิษฐานได้ว่า ในสมัยก่อนคงจะมีชาวบ้านมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว แห่งนี้ และกาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักร จึงได้รกร้างไประยะหนึ่ง
ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๒๕๖ ได้มีชาวมอญอพยพมาจาก กรุงเมาะตะมะ และ หงสาวดี (ประเทศพม่าในปัจจุบัน) ประมาณ ๖-๗ ครอบครัว ได้มาทำไร่ทำสวน และทำขนมจีนขายเป็นอาชีพ
นอกจากนี้ ชาวบ้านที่เป็นผู้ชาย และเป็นหัวหน้าครอบครัวยังมีอาชีพเสริม คือ รับจ้างทำแพ และล่องแพ ขนส่งสินค้าตามลำน้ำปิงไปยัง จ.ตาก-นครสวรรค์ จนเป็นที่เลื่องลือกันว่า ชาวบ้านหนองดู่เป็นผู้ชำนาญในการล่องแพ ถ้าพ่อค้าคนใดจะขนสินค้าไปทางน้ำ ก็มักจะว่าจ้างชาวบ้านหนองดู่เป็นผู้ล่องแพ เพื่อนำสินค้าไปส่งให้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นพ่อค้าจาก จ.เชียงใหม่
ส่วนอีกวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เป็นวัดเก่าแก่แต่ปฏิสังขรณ์ใหม่ คือ วัดหนองดู่ การบูรณปฏิสังขรณ์วัดก็เป็นไปตามยุคสมัยของพระปกครอง ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านายผู้ใหญ่ คือ ยุคของ ท่านครูบาญาณกิตติ (กิ) อยู่ระหว่างพ.ศ. ๒๔๔๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔
วัดหนองดู่ เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ และเป็นแหล่งเผยแผ่พุทธศาสนาของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และเมื่อสมัยเริ่มสร้างวัดบูรณะวัดใหม่ๆ ได้มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ช่วยอุปถัมภ์บำเพ็ญกุศลมาแล้วหลายท่าน เช่น พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อสมัยเสด็จล่องน้ำปิง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นที่พำนักของพระมหาเถระหลายรูปในอดีต อาทิ พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย พระเดชพระคุณ พระธรรมดิลก (ขันติ์ ขนฺติโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ พระอุดมญาณโมลี เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี พระปลัดทองสุข ธมฺมคุตโต ผู้เซ็นรับอัฐิธาตุ หลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต อันดับ ๘ ในนามวัดหนองดู่ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เป็นต้น
หมู่บ้านหนองดู่ ได้ชื่อว่า เป็นหมู่บ้านที่มี ๒ วัดมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งใน พ.ศ.๒๕๒๖ ได้มีการแยกเป็น ๒ หมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในด้านการปกครอง และด้านการพัฒนา จึงแบ่งแยกหมู่บ้านหนองดู่ออกเป็น ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านหนองดู่ และ บ้านบ่อคาว
ถึงแม้ว่า หมู่บ้านจะถูกแบ่งออกเป็น ๒ หมู่บ้านแล้วก็ตาม แต่ชาวบ้านก็มิได้มีการแตกแยกกันแต่อย่างใด เพราะเนื่องจากต่างก็เป็นญาติชาวมอญด้วยกัน และประสานงานให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันโดยตลอด มีความคิดเห็นตรงกันว่า
“เราจะร่วมอนุรักษ์ชุมชน และวัฒนธรรมชาวมอญที่มีมาทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ให้อยู่คู่ลูกหลานตลอดไป”
อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีในเดือน ๔ ชาวมอญบ้านหนองดู่ และบ้านบ่อคาว จะแต่งตัวด้วยชุดมอญไปร่วมพิธีทุกครั้ง โดยการเชิญของทางจ.ลำพูน
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับชาวมอญใน จ. ลำพูน สามารถเข้าชมได้ที่ www.monlamphun.ob.tc ซึ่ง นายมาณพ กัณทะรินทร์ ข้าราชการกรมวิทยาศาสตร์บริการ ชาวไทยเชื้อสายมอญลำพูน เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของมอญไว้ได้อย่างสมบูรณ์
เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์"